ฉัตรสุมาลย์ : พระอานนท์เถระเจ้า

ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมคะว่า ทำไมบ้านเรา หมายถึงเมืองไทยนี้ ไม่ค่อยมีรูปเคารพของพระอานนท์เถระเจ้า

พระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน จะมีอัครสาวกซ้าย-ขวา คือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร เสมอ หน้าตาอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เนื่องจากตามประวัติท่านเป็นเพื่อนกัน อายุไล่เลี่ยกัน ศิลปินก็เลยทำหน้าเหมือนกัน

ส่วนใหญ่พระอัครสาวกทั้งสององค์จะอยู่ในท่านั่งคุกเข่าที่เรียกว่าท่าเทพบุตร สองมือพนม เหมือนกันแทบจะทุกแห่ง

ส่วนหนึ่งก็มาจากความสะดวก และส่วนหนึ่งก็มาจากประหยัด เพราะเนื่องจากรูปเคารพที่นิยมทำเป็นแบบนี้ ราคาค่างวดก็ถูกลงนั่นเอง

แต่ผู้เขียนก็ยังติดใจ เพราะในภาพความทรงจำเวลาที่เรียนพระพุทธประวัติ เวลาที่ญาติโยมไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระภิกษุรูปที่คอยปรนนิบัติอยู่ข้างพระกายเป็นพระอานนท์นะ ท่านสำคัญมากเลย อาจจะที่สุดเลยนะในบรรดาพระอรหันต์สาวก

ก็คิดดูง่ายๆ ว่า พระธรรมคำสอนที่ตกทอดมาถึงเราได้นั้น ซึมซับถ่ายทอดมาจากความทรงจำของท่านโดยแท้

ในพระสูตร จะขึ้นต้นด้วย “เอวัมเมสุตตัง…” แปลว่า ตามที่ข้าพเจ้าได้สดับมา “ข้าพเจ้า” ผู้พูดนี้คือพระอานนท์เถระเจ้ารูปนี้แหละ

 

ในช่วง 25 ปีสุดท้ายของพระชนมายุของพระพุทธเจ้า พระอานนท์พุทธอนุชาองค์นี้ เป็นผู้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด จึงเป็นพุทธอุปัฏฐากไปด้วยในตัว

ลำพังการที่ถวายการดูแลใกล้ชิด ไม่ใช่เหตุปัจจัยสำคัญในการสืบทอดพระศาสนา พระอานนท์เถระเจ้าไม่ได้ถวายตัวรับใช้ เพราะทราบดีว่า การที่อยู่ใกล้ชิดพระพุทธองค์นั้น อาจจะได้รับประโยชน์ส่วนตนด้วยความใกล้ชิดนั้น

ความข้อนี้ปรากฏชัด เมื่อท่านทูลขอพร 8 ประการ เป็นเงื่อนไขเมื่อพระพุทธองค์แสดงพระประสงค์ให้พระอานนท์เข้ามาเป็นพุทธอุปัฏฐาก

4 ข้อแรก ชัดเจนว่า ท่านป้องกันตนมิให้ถูกกล่าวหาได้ในภายหลังว่าเข้ามารับใช้พระพุทธองค์เพื่อหวังลาภสักการะส่วนตน จึงทูลขอว่า ไม่ให้พระพุทธองค์ประทานจีวร อาหาร ที่อยู่ของพระพุทธองค์แก่ท่าน

และหากจะทรงรับนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารนอกสถานที่ พระอานนท์ขอที่จะไม่ติดตามไปด้วย

แต่ขณะเดียวกันเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด แต่ไม่รู้เรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเลยก็จะกระไรอยู่ แม้จะไม่ได้ติดตามไป ก็ทูลขอว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาให้ได้บอกหัวข้อธรรมที่ทรงแสดงด้วย

และหากแม้ท่านมีข้อติดตัดในความเข้าใจพระธรรมอย่างไร ก็ทูลขอโอกาสให้ได้ไถ่ถามได้ทุกเมื่อ

ด้วยเหตุนี้ อย่างน้อยที่สุด ในช่วง 25 ปีสุดท้ายก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เราก็จะได้รับการถ่ายทอดพระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแล้ว อย่างครบถ้วนบริบูรณ์จากพระอานนท์เถระเจ้ารูปนี้

 

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี สร้างรูปเคารพของพระอานนท์เถระเจ้าเป็นรูปยืน มือขวาผายออก ในลักษณะของการให้ เป็นช่วงที่พระแม่น้านางมหาปชาบดีโคตมีตามเสด็จมาถึงเวสาลี มารอเฝ้าพระพุทธองค์อยู่นอกกูฏาคารที่ประทับของพระพุทธเจ้าที่ป่ามหาวัน และพระอานนท์ฯ ออกไปพบ ไถ่ถามทุกข์สุข เมื่อทราบความประสงค์แล้ว จึงกลับไปทูลพระพุทธองค์อีกครั้ง

พระพุทธองค์ก็ยังทรงปฏิเสธไม่เห็นชอบให้พระแม่น้านางฯ ออกบวช พระอานนท์จึงทรงถามด้วยคำถามใหม่ โดยถามว่า ที่ไม่อนุญาตนั้นเป็นเพราะผู้หญิงไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้หรือ

พระพุทธองค์กลับทรงยืนยันว่า ผู้หญิงสามารถจะบรรลุธรรมได้ และสามารถจะเห็นได้ด้วยตาของนางเอง และด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงได้รับอนุญาตให้ออกบวชเพื่อแสวงหาธรรมได้

การสร้างรูปเคารพของพระอานนท์ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีอยู่ในบริบทนี้

 

ในวัดมหายานนั้น ซ้าย-ขวาของพระประธานจะมีพระอัครสาวกซ้าย-ขวาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันคือ ไม่ใช่พระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร แต่จะเป็นพระอานนท์อยู่ทางด้านขวาพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า และพระมหากัสสปอยู่ทางด้านซ้ายพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า

ไม่ใช่ว่ามหายานไม่เห็นความสำคัญของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร แต่มหายานมองด้วยเหตุผลว่า ควรเป็นผู้ที่สืบสานพระศาสนาต่อจากพระพุทธองค์ ทั้งพระมหากัสสปะและพระอานนท์ สืบพระศาสนาต่อจากพระพุทธเจ้า ทั้งสองพระองค์เป็นหลักในปฐมสังคายนา ที่กระทำเพียง 3 เดือนหลังพุทธปรินิพพาน

แม้บรรดาถ้ำที่สำคัญในประเทศจีน ที่บรรจุทั้งพระธรรมคำสอน งานแกะสลัก และจิตรกรรมฝาผนังทั้งที่ถ้ำหยุนกัง หลงเหมิน และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือที่ตุนฮวาง ก็จะพบว่าอัครสาวกที่เคียงข้างกายพระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอานนท์และพระมหากัสสปะทั้งสิ้น

สำหรับรูปเคารพพระอานนท์เถระเจ้า ตามลำพัง ผู้เขียนพบเห็นบ่อยตามภิกษุณีอาราม ในไต้หวัน เป็นต้น ที่วัดจีนในไต้หวัน ถ้าเป็นภิกษุณีอาราม จะมีวิหารแยกออกไปเฉพาะที่เป็นที่สักการะพระอานนท์เถระเจ้า ซึ่งเป็นผู้ดูแลสนับสนุนการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์มาตั้งแต่ต้น

ส่วนวัดที่เป็นของพระภิกษุ จะมีวิหารของพระกษิติครรภ์ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายพระมาลัย คือลงไปโปรดสัตว์นรก ชาวจีนนิยมนำเอาเกซิ้น คือป้ายชื่อแซ่ของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วมาตั้งโดยรอบ บางแห่งก็เรียงรายอยู่บนฝาผนัง เพื่อขอให้อยู่ในความดูแลของพระกษิติครรภ์

 

วันที่ท่านธัมมนันทาท่านปรารภเรื่องนี้ขึ้นมา ตรงกับวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ท่านมีโครงการสร้างรูปเคารพของพระอานนท์เถระเจ้า เพื่อถวายความเคารพและแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาที่ท่านมีบุญคุณต่อชาวพุทธมากมายมหาศาลเกินพรรณนา

ท่านคิดว่า ควรจะสร้างรูปยืนหรือรูปนั่งดีหนอ ควรจะอยู่ในปางไหนดี มือพนม หรืออยู่ในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ

ตอนนี้นึกออกแล้วค่ะ ว่าควรจะต้องมีรูปพระพุทธเจ้าเป็นหลัก แล้วมีพระอานนท์นั่งถวายการรับใช้อยู่ข้างซ้าย

ถ้าสร้างคนละคราวกัน ก็จะประดักประเดิด สัดส่วนไม่เข้ากัน ศิลปะต่างกัน ศิลปินคนละคนกัน

ต้องสร้างไปด้วยกันเลยค่ะ องค์ไม่ต้องใหญ่นัก เพื่อจะได้หลายองค์ วัดทั้งหลายจะได้มีไว้บูชา เป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่านที่ถ่ายทอดพระธรรมมาถึงสมัยของเรา

บริบทจากมหาปรินิพพานสูตร เป็นเส้นทางที่ทั้งสองพระองค์เดินทางตามลำพังด้วยกันเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อพระพุทธองค์จะได้ไปปลงอายุสังขารที่กุสินารา

พระอานนท์เถระเจ้าเศร้าใจมาก เมื่อนึกถึงว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วหนอที่จะได้รับใช้พระพุทธองค์

บนเส้นทางนี้ พระพุทธองค์ให้พระสงฆ์ที่อยู่ตามเส้นทางนั้นได้เข้าเฝ้ารับฟังพระธรรมเป็นครั้งสุดท้าย ครั้งหนึ่งหันมา ไม่เห็นพระอานนท์ จึงให้พระภิกษุไปตาม พระอานนท์กำลังยืนเกาะประตูร้องไห้

ระหว่างนั้นพระพุทธองค์รับสั่งกับพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากที่มาเข้าเฝ้าว่า ในอดีต พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก็มีพระพุทธอุปัฏฐากทั้งสิ้น “แต่ไม่มีใครเกินอานนท์ของเรา” เป็นคำชมจากพระโอษฐ์ที่งดงามนัก

 

เรามาสร้างรูปเคารพพระอานนท์ด้วยกันนะคะ ในฉากนี้ ที่กำลังถวายการดูแลรับใช้พระพุทธองค์แทนพวกเราทุกคน

รูปที่แนบมาให้ดู เพิ่งได้มาค่ะ เป็นฝีมือศิลปินชาวเนปาล เข้าใจว่าเป็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์ก็เป็นน้อง แล้วก็หน้าตาดี ตามพระสูตรว่าอย่างนั้น ก็เลยคิดว่า งามประมาณนี้ รูปที่ปรารภจะสร้างก็ประมาณนี้ค่ะ

แต่ทำทั้งองค์ ในท่ากำลังฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์ผู้เป็นทั้งพระศาสดา และพระเชษฐา