สงบศึก “โพธสุธน-เที่ยงธรรม” ผนึกกำลังเลือดสุพรรณ แบ๊กอัพ หนุนศิลปอาชา ภาค 2

“บ้านเราแสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา…”

เป็นเนื้อท่อนแรกของบทเพลงอมตะที่ครูเพลงชื่อดัง “ชาลี อินทรวิจิตร” แต่งให้กับ “สุเทพ วงศ์กำแหง” นักร้องเจ้าของฉายา “นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” ที่ถูก “เฮียจอง” จองชัย เที่ยงธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นักการเมืองรุ่นเก๋าแห่งเมืองสุพรรณนำมาใช้ในวันกลับพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

รังเก่าที่อาศัยอยู่นานกว่า 30 ปีตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นชาติไทย

โดยเฮียจองตัดสติ๊กเกอร์โลโก้ ชทพ.พร้อมเนื้อเพลง “บ้านเรา” ท่อนแรก แปะติดกระจกท้ายรถเบนซ์ ลิมูซีนส่วนตัวสุดหรู ส่งสัญญะชัดในวันที่กลับเข้าเหยียบพรรคครั้งแรก เซ็นลายมือชื่อพร้อมเงิน 2,000 บาท สมาชิกแบบตลอดชีพ

บรรยากาศชื่นมื่น ท่ามกลางแกนนำพรรค โดยเฉพาะ 2 พี่น้องศิลปอาชา ร่วมเป็นสักขีพยาน

เช่นเดียวกับ “เฮียเม้ง” ประภัตร โพธสุธน เลขาธิการ ชทพ. แม้ว่าก่อนหน้านั้น 1 วันในวันเปิดบ้านทรงไทยโพธสุธน ที่ อ.ศรีประจันต์ ให้นักการเมือง ข้าราชการ และชาวสุพรรณบุรี เข้าอวยพรวันเกิดปีที่ 70 จะออกอาการงงๆ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถาม แต่ก็เอ่ยปากยินดีต้อนรับ ไม่มีปัญหา

แม้นายประภัตรจะมาไม่ทันตั้งแต่แรกที่นายจองชัยมาถึงพรรค แม้นายประภัตรจะถูกนายจองชัยแซวกลางโต๊ะแถลงข่าวเปิดใจทันทีที่มาถึงว่า “มาสายนี่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องปกติของท่าน” แต่เมื่อถูกถามว่า จะทำงานร่วมกันได้ใช่หรือไม่?

นายจองชัยตอบทันทีว่า “วันนี้ท่านประภัตรเป็นรัฐมนตรี ผมก็จะเป็นหัวหน้ายามเฝ้าพรรคให้”

“อย่างภาษากฎหมายว่า การจัดการรับสั่ง หรือภาษาชาวบ้านเรียก เสือก ดังนั้น แล้วแต่หัวหน้ากับเลขาฯ จะมอบหมาย จะใช้อะไรผมก็ทำ แต่ถ้าไม่ใช้ ผมก็ไม่เสือก…”

ด้านนายประภัตรไม่พูดเยอะ ประกาศกร้าว “เลือดสุพรรณมาด้วยกันก็ไปด้วยกัน จบ”

เรียกได้ว่า ยกวลีอมตะเมืองเหน่อที่ดัดแปลงมาจากเนื้อเพลงมาใช้ต้อนรับการกลับมาของนายจองชัยด้วยเช่นกัน

เป็นบทเพลงที่พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ เขียนขึ้นเพื่อประกอบบทละครอิงประวัติศาสตร์ชื่อดัง “เลือดสุพรรณ” ตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

“ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณของเรานี่เอ๋ย…”

ได้ยินท่อนนี้เมื่อไหร่ ก็นัยยะชัด แสดงถึง “ความสามัคคี”

และนี่คงถือเป็นความสามัคคีของ 2 เฮียที่ 2 พี่น้อง “หนูนา” กัญจนา กับ “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา อยากเห็นมาตลอด

แม้ว่าเรื่องราวระหว่าง 2 เฮียแห่งศรีประจันต์ จะเป็นคนบ้านเดียวกัน เพียงแต่อยู่กันคนละฝั่งแม่น้ำท่าจีน จะเป็นที่กล่าวขานในสนามเลือกตั้งสุพรรณบุรียุคหนึ่งเมื่อ 30 ปีกว่ามาแล้วในสมัยที่ยังยืนอยู่กันคนละพรรค

“เฮียเม้ง” คนบ้านไร่ ลูกชายเถ้าแก่โรงสีบ้านไร่ สวมเสื้อชาติไทยมาแต่แรก ต้องถูก “เฮียจอง” คนบ้านกร่าง หลานชายกำนันวิภาส อินสว่าง อดีต ส.ส.แบบไม่สังกัดพรรค ที่ถือว่าอาวุโสกว่า แต่อ่อนพรรษากว่าในทางการเมือง ขอท้าชิงครั้งแรกในสีเสื้อกิจสังคม ด้วยสโลแกน “คิดอะไรไม่ออกบอกจองชัย” ก่อนที่ในสมัยสองจะย้ายมาอยู่พรรคสหประชาไทย

สลับกันเป็นที่ 1 และที่ 2 กันคนละทีในปี 2526 และ 2529 แต่ได้เป็น ส.ส.ทั้งคู่ด้วยระบบการแบ่งเขตในสมัยนั้น

สู้กันได้เพียง 2 ครั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา จึงส่งหมอบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ไปเป็นทูตดึงเอานายจองชัยมาอยู่ชาติไทยด้วยกัน ทำให้ 2 เฮียลงสนามพรรคเดียวกันตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

และนับแต่นั้นสนามเลือกตั้งสุพรรณบุรีก็ผูกขาดอยู่กับ 4 ตระกูลใหญ่ ศิลปอาชา ประเสริฐสุวรรณ โพธสุธน และเที่ยงธรรม

แน่นอนว่า รอยร้าวระหว่าง “เลือดแท้” ใน ชทพ.ที่เป็นเหตุให้ต้องแยก 1 ตระกูลแตกไปอยู่หลายพรรค หลายเขตเลือกตั้ง นอกจากเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งในสุพรรณบุรีที่เดิมเคยมี ส.ส.ถึง 6 คนมาเหลือเพียงแค่ 4 คนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

อีกสาเหตุสำคัญก็เพราะผู้มากบารมีอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ผู้ที่เคยทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานประโยชน์ระหว่างขั้วอำนาจภายใน ไม่อยู่ จึงทำให้เรื่องระหว่าง “ตระกูลการเมือง” จึงระอุขึ้น อย่างที่นายจองชัยเปิดใจต่อหน้าแกนนำพรรคในวันที่กลับเข้าพรรคว่า “เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะนายบรรหารไม่อยู่”

“พอเหลือ 4 เขตก็สับสน ผมมีลูก แต่ประภัตรไม่มีลูก แต่มีหลานเยอะ โดยหลานชายประภัตรอยู่อีกพรรค จะมาลงแข่งกับลูกชายผม เสมอกัน เที่ยงธรรม ในเขตที่ 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ของตระกูลเที่ยงธรรม ที่นายบรรหารเคยแบ่งไว้ ทำให้ผมต้องไปขอพรรคภูมิใจไทยเพื่อลงแข่งกับนายประภัตรในเขตที่ 3 กันเอาไว้”

ว่ากันว่า ความขัดแย้งในทางการเมืองจากเรื่องการ “กินแดน” ระหว่าง “โพธสุธน” กับ “เที่ยงธรรม” ยังส่งผลต่อบรรดาไพร่พล หัวคะแนนที่ต้องเลือกข้าง สู้กันเองอย่างดุเดือด ถึงขั้นที่จบศึกก็ยังเข้าหน้ากันไม่ติด

แน่นอน แม้ ชทพ.จะปักธงได้ยกสุพรรณบุรีก็จริง แม้นายประภัตรกับนายจองชัยจะยังไปร่วมงานบุญเดียวกัน นั่งข้างกัน ทอดผ้าไตรบังสุกุลพร้อมกันได้ แต่หากยังขืนปล่อยให้รอยร้าวในระดับหัวคะแนนยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลต่อการจัดทัพในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆ ที่ใกล้จะมาถึงแน่นอน

โดยเฉพาะศึกใหญ่นายก อบจ.ที่แพ้ไม่ได้

นี่จึงทำให้การหย่าศึกระหว่าง 2 เฮียเกิดขึ้น

“ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็คงไม่กระดิก”

เป็นคำพูดที่ทั้ง 2 ต่างยืนยันเหมือนๆ กันว่า เมื่อถูกถามถึงการทำงานร่วมกันภายใต้ชายคา ชทพ.อีกครั้ง

เป็นการกลับมาทำงานร่วมกันภายหลังจากที่เสร็จศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม ที่ยากลำบากที่สุด จากกติกาเลือกตั้งรัฐประหาร ฉบับ “ไทยแลนด์โอนลี่” ที่คิดค้นขึ้นเฉพาะ ไม่เคยมีใครเคยผ่านมาก่อน

ที่สำคัญยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ขาดเสาหลักอย่างนายบรรหารอีกด้วย ท่ามกลางอันตรายจากโทษทางการเมืองอันเป็นกฎระเบียบที่เคร่งครัด

แม้จะผ่านมาได้อย่างปลอดภัย ด้วยการได้รับเลือก ส.ส.เพียง 10 คน แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นด้วยตนเองของศิลปอาชา ยุคที่ 2

อย่างที่นายประภัตรประกาศก้องต่อหน้าคนสุพรรณฯ ที่บ้านทรงไทย กลางงานวันคล้ายวันเกิดว่า วราวุธเป็นเสาหลักให้ ชทพ.ได้แน่นอน

“ท็อปถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ มีความรู้ มีกำลังทรัพย์ แต่ยังต้องสร้างคน สร้างบารมีด้วยตัวเอง เพราะบารมีนายบรรหารไม่สามารถโอนย้ายมาให้ได้ แม้วันนี้จะแข็งแกร่ง แต่ยังไม่พอ อีก 10 ปีคนรุ่นผมจะไม่เหลือ ก็จะถึงคิวของท็อป อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ยังสู้ไม่ได้ และเพื่อให้สุพรรณฯ ได้ชื่อว่ามีนายกฯ 2 คน คนสุพรรณฯ ต้องช่วยกันประคองขึ้นไป”

ดังนั้น การที่ “โพธสุธน-เที่ยงธรรม” จบศึก ส่งผลดีแน่นอนต่อ “ศิลปอาชา”

เพราะเมื่อสุพรรณบุรีอันเป็นฐานที่มั่นสงบนิ่ง ก็ถึงเวลาขยายอิทธิพล สร้างคน สร้างบารมี รอวันที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” น้องคนสุดท้อง พร้อมขึ้นนำทัพอย่างเป็นทางการ