มาดามหลูหลี / Every Day A Good Day : วันนี้ วันไหน ก็เป็นวันดี

มาดามหลูหลี[email protected]

การดื่มชาเป็นประเพณีเก่าแก่ของคนญี่ปุ่น เรียกว่า “ชะโด” หรือวิถีแห่งชา อันเป็นเอกลักษณ์ที่ว่าด้วยการใช้เวลาอย่างสุนทรีย์ ใช้แนวคิดความงามในความเรียบง่ายและความสงบ

Every Day A Good Day ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องจากบันทึกชีวิตจริงของโนริโกะ โมริชิตะ หญิงสาวผู้พยายามหาความหมายของชีวิตจากการเรียนชงชา

ปี 1993 โนริกะ (ฮารุ คูโรกิ) และมิชิโกะ (มิคาโกะ ทาเบะ) ญาติของโนริโกะ ทั้งคู่กำลังใกล้จบมหาวิทยาลัย แต่ต่างไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร

คิริน กิกิ นักแสดงอาวุโสจากเรื่องดัง Shoplifters และอีกหลายๆ เรื่อง เสียชีวิตเมื่อกันยายน 2018 แสดงเรื่องนี้ก่อนเรื่องสุดท้ายคือ Erica 38

ในเรื่องนี้เธอแสดงเป็นอาจารย์ทาเคดะ อาจารย์สอนชงชาผู้ใช้ชีวิตตัวคนเดียวในบ้านสไตล์ญี่ปุ่น ที่หลังบ้านมีสวนญี่ปุ่นเป็นมุมสงบให้พักผ่อน

ครอบครัวของโนริโกะเป็นครอบครัวอบอุ่น พ่อ (ชินโกะ ทซึรูมิ) และแม่ (ฟูยูกะ คูริยามะ) ของโนริโกะแนะนำสองสาวให้ไปเรียนชงชา

ทั้งยังบอกว่าสมัยก่อนหญิงสาวส่วนใหญ่ต้องไปเรียนชงชาก่อนแต่งงาน

 

โนริโกะกับมิชิโกะไปเรียนชงชาที่บ้านอาจารย์ทุกวันเสาร์ อาจารย์สอนตั้งแต่การจับพับผ้าผืนสี่เหลี่ยมสีแดง ซึ่งใช้เช็ดไม้ตักชา เช็ดไม้ไผ่ที่ทำเป็นกระบวยตักน้ำร้อนชงชา วิธีพับและเก็บไว้ในสาบเสื้อกิโมโน โดยให้เห็นผ้าสีแดงแลบออกมาเพียงเล็กน้อย

อุปกรณ์ชงชาของญี่ปุ่นเกือบทุกชิ้น ทำจากไม้ไผ่อันเป็นวัสดุธรรมชาติ (เป็นการนำไม้ไผ่มาใช้ได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงของประดับอันไร้ประโยชน์) ผงชาสีเขียวหรือ “มัทฉะ” (Matcha) ก็ใช้ไม้คนทำจากไม้ไผ่ที่ทำเป็นซีกเล็กๆ โค้งจนเป็นวงกลมเหมือนไม้กวาด ใช้คนชาในถ้วยเป็นฟองพราย

ซึ่งอาจารย์สอนว่าส่วนที่ไม่มีฟองจะเว้าเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว

ทุกรายละเอียดพิถีพิถัน แม้แต่ขนมหวานที่รับประทานกับชารสเข้ม กระทั่งถ้วยดินเผาที่ใส่ชาก็มีความหมายมีความเป็นมา เมื่อมือสัมผัสถ้วยชาก่อนยกดื่ม ให้ค่อยๆ สัมผัสด้วยใจ เพราะถ้วยชาแต่ละใบนั้นถูกปั้นอย่างประณีตจากศิลปินแต่ละท่าน

อาจารย์บอกว่า ให้ใช้ถ้วยตามปีนักษัตร ดังนั้น ถ้วยของปีนั้นๆ กว่าจะวนมาใช้แต่ละครั้งคือ 12 ปี ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งจึงอาจได้ใช้ถ้วยใบนั้น 3-4 ครั้งเท่านั้น

ซึ่งลูกศิษย์แต่ละรุ่นมักพูดประโยคคล้ายๆ กัน

 

โนริโกะและมิชิโกะไปเรียนชงชากับอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ จากฤดูร้อน, ฤดูฝน, ฤดูใบไม้ผลิ จนเข้าสู่ฤดูหนาว อาจารย์บอกว่า ให้ลืมวิธีชงชาสำหรับฤดูร้อน ต้องเริ่มต้นเรียนวิธีชงชาสำหรับฤดูหนาว

นอกจากเรียนการชงชา อาจารย์ยังสอนเรื่องการมองและฟังเสียงจากอักษรภาพ เพราะภาษาญี่ปุ่นมีรากฐานจากภาษาจีน ตัวอักษรแต่ละตัวจึงมีความหมาย ลายเส้นหมึกดำที่งดงามบอกเล่าความหมายของคำนั้นได้ดี แค่เพียงนั่งมองอักษรภาพแล้วจินตนาการราวกับสัมผัสได้จริง

ฝึกฟังเสียงของสิ่งต่างๆ รอบตัว เสียงน้ำร้อนกับเสียงน้ำเย็นที่ให้เสียงแตกต่างกัน

ฟังเสียงฤดูฝนเพื่อสัมผัสความเปลี่ยนแปลง

ฟังเสียงฤดูร้อนเพื่อสัมผัสไอแดดจากแสงอาทิตย์ที่ร้อนผ่าว

ฟังเสียงฤดูหนาวเพื่อสัมผัสความเย็นที่บาดผิว

 

เมื่อมิชิโกะพบเส้นทางชีวิตของตนเอง ด้วยการแต่งงานกับหมอ มีครอบครัวอบอุ่น โนริโกะก็ยังคงไปเรียนอย่างสม่ำเสมอ แม้ในวันที่ใกล้สอบต้องอ่านหนังสือ เธอกลับไม่มีสมาธิ จึงไปหาอาจารย์เพื่อเรียนชงชา ได้ค้นพบวิธีทำให้ใจสงบ

โนริโกะอยากทำงานสำนักพิมพ์ อยากเป็นนักเขียน แต่งานหายาก จึงทำงานเป็นนักเขียนอิสระ (Freelance) โดยแยกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ค่อยได้พบกับพ่อแม่หรือกินข้าวด้วย เป็นเรื่องหนึ่งที่โนริโกะรู้สึกเสียใจในภายหลัง

ในวันที่ชีวิตต้องเผชิญกับความทุกข์ความเศร้า การชงชาได้เป็นทางออกให้หัวใจได้ผ่อนคลาย ขั้นตอนของการชงชาที่ดูเหมือนมากวิธี อาจทำให้ผู้ชงชาได้จดจ่อกับวิธีการจนทำให้ลืมโลก ลืมสิ่งกวนใจ ราวกับเป็นการปฏิบัติสมาธิ

วันขึ้นปีใหม่ อาจารย์และนักเรียนจะไปสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อชงชาดื่มชา โดยมีนักเรียนชงชาจากหลายๆ แห่งต่างยืนรอท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เหมือนไปดื่มชาพบปะและเพิ่มพูนความรู้ นับเป็นวันที่ดี

อาจารย์ทาเคดะผู้ถ่อมตัว ซึ่งเป็นบุคลิกของคนญี่ปุ่น ผู้มีเซนในหัวใจ อาจารย์บอกว่า การมาพบกันร่วมดื่มชากันในวันปีใหม่ แม้จะเป็นสิ่งที่ทำเหมือนเดิมๆ เช่นทุกปี

แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นวันดีๆ ที่ยังมีแรงกายแรงใจร่วมทำสิ่งดีๆ ด้วยกัน

 

Every Day A Good Day โดยผู้กำกับฯ ทะทซึชิ โอโมริ ภาพยนตร์สวยทั้งภาพและเรื่องเล่าที่ผ่านฤดูกาล ฮารุ คูโนกิ นักแสดงที่คุ้นหน้าจากซีรี่ส์เรื่อง Hanako And Anne แสดงเป็นโนริโกะตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงปัจจุบัน ด้วยการใช้เทคนิคการแต่งหน้ากับเสื้อตามยุคสมัย

คิริน กิกิ นักแสดงอาวุโสแสดงเป็นอาจารย์ผู้สอนการชงชาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ได้เสมือนเป็นอาจารย์จริงๆ ต้องขอแสดงความนับถือจากใจสำหรับนักแสดงท่านนี้ ที่ฝากผลงานชั้นครูไว้มากมาย

วิถีแห่งชา เหมือนกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชีวิตว่าทุกๆ วันคือวันดี