‘ระเบิด’ ป่วนกรุงรอบล่าสุด สะท้อนให้เห็นอะไร/บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘ระเบิด’ ป่วนกรุงรอบล่าสุด

สะท้อนให้เห็นอะไร

การวางระเบิดป่วนกรุงเทพฯ พร้อมกันหลายจุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ถือเป็นการป่วนใหญ่ครั้งแรกในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

หากพิจารณาห้วงเวลาที่คนร้ายลงมือ คือ 1 และ 2 สิงหาคม มีความเป็นไปได้สูงที่มีเจตนาทางการเมือง เป้าหมายใหญ่คือ “ลูบคม” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครั้งนี้รวบงานด้านความมั่นคงมาดูแลเอง เป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกลาโหมและดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

ที่สำคัญไปกว่านั้น วันเกิดเหตุระเบิด ยังอยู่ในห้วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ซึ่งมีนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินทางมาร่วมประชุมกับคู่เจรจาประเทศอาเซียน และยังเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศด้วย

จุดประสงค์ของผู้ลงมือ น่าจะหวังให้ พล.อ.ประยุทธ์เสียหน้า 2 ต่อ คือถูกท้าทายในโอกาสรับงานด้านความมั่นคงมาดูแล และยังเสียหน้าแขกบ้านแขกเมือง ยังไม่รวมความเสียหายในแง่เศรษฐกิจที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนและท่องเที่ยว

นอกจากนี้ หนึ่งในสถานที่ที่ถูกวางระเบิดคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังอยู่ใกล้กับสถานที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน คือโรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลเวิลด์ (ที่เคยถูกเผาเมื่อปี 2553)

จุดที่วางระเบิดจึงเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มที่ต้องการสร้างเหตุการณ์อะไรบางอย่าง

 

ถึงแม้ซีกรัฐบาลจะออกมาดักคอฝ่ายตรงข้ามล่วงหน้าว่า อย่าหาว่ารัฐบาลเป็นคนลงมือสร้างสถานการณ์เอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายจะมีบางคนแสดงความเห็นในทำนองนี้จริงๆ โดยอ้างว่ารัฐบาลทำอย่างนี้เพื่อจะได้มีข้ออ้างนำมาตรา 44 กลับมาใช้อีก ส่วนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลบางคน ก็แสดงความเห็นในทำนองว่าน่าจะเป็นฝีมือรัฐบาลเองเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาอื่นๆ ที่กำลังกดดันรัฐบาล

จะสังเกตว่าก่อนหน้านี้ เวลาถูกใครตั้งข้อสังเกตว่าคนลงมือทำร้ายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน น่าจะเป็นพวกเดียวกัน เพื่อใส่ร้ายรัฐบาล คนกลุ่มนี้กลับโกรธ หาว่าคิดแบบนั้นได้ไง

แต่พอเกิดเหตุวางระเบิดทั่วกรุงเทพฯ ดังกล่าว คนเหล่านี้กลับเชื่อว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะคิดว่า “รัฐบาลทำกันเอง พวกเดียวทำกันเอง”

 

ที่น่าเศร้าใจก็คือกรณีของนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตบางกะปิ พรรคเพื่อไทย ซึ่งโพสต์ว่า “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ 555 นกหวีดติดคอกันยัง??!”

แม้เจ้าตัวจะออกมาขอโทษในภายหลังโดยอ้างเหตุผลที่ฟังดูดี แต่ข้อความที่โพสต์ไปแล้วสะท้อนให้เห็นจิตใต้สำนึกเบื้องแรกว่า ยังเอาเรื่องการเมืองมาเป็นที่หนึ่งนำหน้าชีวิตและความปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะคล้ายกับว่าความรู้สึกแว่บแรกของนายตรีรัตน์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ “สะใจ” ที่มีคนมาก่อเหตุตบหน้าพรรครัฐบาลที่เคยใช้สโลแกนตอนหาเสียงว่า “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”

ส่วนประโยค “นกหวีดติดคอกันยัง??” เป็นการเสียดสี สมน้ำหน้าประชาชนฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็คือกลุ่มที่เคยขับไล่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์

นกหวีดจะติดหรือไม่ติดคอ ก็ขึ้นกับว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหรือใครก็ตามแต่ที่ไม่ชอบรัฐบาลเป็นผู้ก่อเหตุ ก็ต้องประณามคนนั้น กลุ่มนั้น ไม่ใช่มาเยาะเย้ย สมน้ำหน้าคนที่เลือกพรรคร่วมรัฐบาล

อีกประการหนึ่งไม่มีใครรู้ว่าประชาชนที่บาดเจ็บนั้นเป็นพวกเป่านกหวีดหรือเลือกพรรคไหน บางคนอาจเพิ่งกาเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ได้

นกหวีดจะติดคอใคร ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นที่ว่าใครล่ะอยากทำให้นกหวีดติดคอของฝ่ายเป่านกหวีด

 

หากให้น้ำหนักแล้ว เป็นไปได้น้อยที่ฝ่ายรัฐบาลจะลงมือสร้างสถานการณ์เอง เพราะมีแต่เสียกับเสียไม่ว่าจะมองในมุมไหน หรือถ้าจะลงมือเองจริงๆ ก็ควรให้ผ่านงานประชุมรัฐมนตรีอาเซียนไปก่อน

อาจเป็นไปได้ที่จะมีใครสักคนหมั่นไส้สโลแกน “เลือกสงบจบที่ลุงตู่” จึงอยากหักหน้าด้วยการทำให้เห็นว่าลุงตู่ไม่มีปัญญาป้องกันความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเฉพาะหลังจากสถานะของ คสช.หมดไปและไม่มีกฎหมายพิเศษอย่างมาตรา 44 เป็นเครื่องมือควบคุมสถานการณ์

หากย้อนไปช่วงหลังจากยึดอำนาจใหม่ๆ ก็เกิดเหตุท้าทายอำนาจรัฐ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นรอบล่าสุดเป๊ะ เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีผู้วางระเบิดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เดือนมีนาคม 2558 ปาระเบิดใส่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก สิงหาคม 2559 วางระเบิดท่าเรือสาทร ซึ่งล้วนแต่มีลักษณะดิสเครดิตรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กล่าวคือ มักเป็นการวางระเบิดในที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่านแบบไม่เลือกเป้าหมาย

ต่อมาปี 2560 เกิดเหตุ 3 ครั้ง ไล่ตั้งแต่ 5 เมษายน 15 พฤษภาคม และ 22 พฤษภาคม (ครบรอบ 4 ปี คสช.ยึดอำนาจ) โดย 2 ครั้งแรกวางระเบิดแบบไปป์บอมบ์ที่หน้ากองสลากเดิม ถนนราชดำเนินกลางและหน้าโรงละครแห่งชาติ ตรงข้ามสนามหลวง และครั้งที่ 3 ร้ายแรงสุดเมื่อคนร้ายไปวางระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากถึง 25 ราย มีทั้งทหารและพลเรือน

ตำรวจจับคนร้ายที่ก่อเหตุทั้ง 3 ครั้งในปี 2560 ได้ ชื่อนายวัฒนา ภุมเรศ อายุ 61 ปี อดีตวิศวกรไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อไปค้นบ้านย่านรามอินทรา พบระเบิดไปป์บอมบ์ 4 ลูกพร้อมทำงาน และสายคล้องคอที่มีรูปทักษิณ ชินวัตร นายวัฒนารับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ เพราะไม่พอใจที่ทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง และไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ในที่สุดศาลอาญาตัดสินจำคุกนายวัฒนา 26 ปี

คือแบบว่ารักประชาธิปไตย แต่ไม่รักชีวิตคน เลยทำตัวไม่ต่างจากเผด็จการ ไม่ได้ทำอะไรก้าวหน้าไปกว่าเผด็จการ และอาจลืมคิดไปว่าคนที่โดนระเบิดอาจเป็นคนเสื้อแดงรักทักษิณอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง

 

สําหรับการป่วนกรุงเทพฯ รอบนี้ เท่าที่มีข้อมูลออกมาจากทางการ (ขณะเขียนต้นฉบับ) กลุ่มผู้ลงมือมาจากภาคใต้ ทำให้มีคนบางกลุ่มพยายามรีบสรุปเน้นๆ ว่า การก่อเหตุไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นคนร้ายจากชายแดนใต้ที่ต้องการขยายวงมาก่อเหตุในกรุงเทพฯ

เหตุที่บางคนพยายามตะครุบและโหนประเด็นนี้ก็เพราะว่าจะสามารถเขย่ารัฐบาลได้มากกว่าโจรการเมืองธรรมดา เพราะเท่ากับประจานว่ารัฐบาลคุมสถานการณ์ภาคใต้ไม่ได้จนลามเข้ามาในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม หากดูจากลักษณะการก่อเหตุและอาวุธที่ใช้แล้ว น่าจะเป็น “โจรใต้กำมะลอ” มากกว่า เพราะใช้ระเบิดอานุภาพต่ำ จงใจป่วนมากกว่าสร้างความสูญเสีย

ซึ่งผิดไปจากสไตล์ของโจรใต้ขนานแท้