วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /นเรศ นโรปกรณ์ ต้องรอ 4 ปี

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

นเรศ นโรปกรณ์ ต้องรอ 4 ปี

 

หลัง 18.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ มีคำสั่ง “ปิด” หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ทุกฉบับ จากนั้นจึง “ปิดตาย” หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ 13 ฉบับ รวมทั้ง “รวมประชาชาติ” รายวัน

ก่อน “ปฏิวัติ” ยึดอำนาจรัฐบาลที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจัดตั้งขึ้นมากับมือเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 กลุ่มผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ “รวมประชาชาติ” ได้ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ “เข็มทิศธุรกิจ” เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับแรก เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2520 หลังจากนั้น จึงขออนุญาตออกมติชนรายวัน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521

ต่อมา ปลายเดือนสิงหาคม 2523 จึงจัดพิมพ์นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เป็นรายสัปดาห์ ประจำวันที่ 24-30 สิงหาคม พุทธศักราช 2523 ฉบับแรก

 

ที่มาที่ไปของ “มติชนสุดสัปดาห์” พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ว่าไว้ใน “บทกวน” ประหนึ่งบทบรรณาธิการว่า ที่เราคิดทำมติชนสุดสัปดาห์ฉบับพิเศษวันอาทิตย์นี้ขึ้นมา เพราะมีความเห็นสอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ทั้งหลายทั่วโลกว่า หนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ หรือที่เขาเรียกว่า ซันเดย์ เอดิชั่น นั้น น่าจะเป็นฉบับพิเศษมีเรื่องราวสาระบันเทิงอื่นๆ ที่อ่านกันได้ระหว่างวันหยุดตลอดทั้งครอบครัว โดยไม่ต้องไปเน้นหนักเรื่องข่าวประจำวัน ซึ่งบรรจุมาเต็มหัวแล้วตลอดสัปดาห์

…เราจึงเห็นว่าหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์ ซึ่งตามปกติไม่ค่อยจะมีข่าวคราวอะไรมากนัก เมื่อเปลี่ยนรูปโฉมโนมพรรณออกมาให้เป็นหนังสือครอบครัวอ่านสบายๆ ได้ทั้งความรู้เบื้องหลังข่าว สาระ บันเทิง ปกิณกะต่างๆ น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายคนทำและคนอ่าน คนทำก็จะได้มีโอกาสเปลี่ยนรสเปลี่ยนชาติการปรุงกับข้าวของตนมั่ง คนอ่านก็จะได้ประโยชน์เป็นหนังสือสุดสัปดาห์ประจำครอบครัวอย่างที่ว่า…

แล้วพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ก็บอกถึงประดากุ๊กที่เดินเข้ามาเป็นแถวยาวเหยียด เสนีย์ เสาวพงศ์ ระพีพร เจน เจตนธรรม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นเรศ นโรปกรณ์ จูงมือ นร นรปก มาด้วย ขรรค์ชัย บุนปาน นั้นไม่ต้องสงสัย กุ๊กยืนโรง สุทธิชัย หยุ่น เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นายหนุนยัน สุรีย์ ภูมิภมร เดช ภราดา สันติภาพ ไชยวงศ์เกียรติ ไพสันต์ พรหมน้อย รัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ พิเชียร คุระทอง หญิงเล็ก กับสต๊าฟของเรา หรืออย่าง วีระ มุสิกพงศ์ ก็เริ่มหัสนิยายการเมืองเพิ่มอารมณ์ขันที่ขาดแคลน นักเขียน นักคิด นักผลิตเรื่องสั้นมีชื่อเข้าแถวรอคิวยาวเหยียด ใครต่อใครก็มากันทั้งนั้นแหละครับ

คอยดูกันต่อไปก็แล้วกัน

 

เพียงบอกว่า มีนักเขียนนักคิดแห่งยุคใครบ้างจากพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ในบทกวน มติชนสุดสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 2 ประจำวันที่ 31 สิงหาคม – 6 กันยายน พุทธศักราช 2523 ก็ขึ้นแผง พร้อมด้วย คอลัมน์ “นเรศ นโรปกรณ์ เขียน เขียน” ในชื่อ “คำตอบที่รอมาร่วม 4 ปี” ขึ้นต้นเรื่องไว้ว่า

4 ปีเต็มที่ผมไม่ได้เขียนหนังสือ หรือหากจะเขียนบ้างก็ไม่เหมือนที่เคย “เขียน เขียน เขียน เขียน เขียน” ก่อน 6 ตุลามหาโหดแต่อย่างใด

แล้วท่านผู้อ่านที่เคารพนับถือทั้งหลายก็สงสัยไต่ถามให้ผมต้องซาบซึ้งในน้ำใจไมตรีวันแล้ววันเล่า โดยที่ผมไม่สามารถจะตอบอะไรได้ หรือตอบโต้ได้บ้างก็ไม่เต็มปากเต็มคำนักในข้อที่ว่า ทำไม นเรศ นโรปกรณ์ จึงไม่เขียนหนังสือ?

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะผมไม่ทราบจะตอบอย่างไรได้ถูกต้องนั่นเอง

แน่นอน ความคิดที่จะเขียนหนังสือยังระอุคุกร่นอยู่ในความรู้สึกของผมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ผมทำหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่แตกวัยหนุ่มจนกระทั่งหนุ่มน้อยลงทุกทีๆ โดยไม่เคยทำอย่างอื่นเป็นหลักฐานเลย นอกจากในระยะสั้นๆ เป็นครั้งคราวยามจำเป็นตอนที่ “ตกงาน” หนังสือพิมพ์เท่านั้น

หลัง 6 ตุลาคม 2519 คำว่า “เซ็ง” บังเกิดมีขึ้นในทุกวงการ แม้แต่ในวงการหนังสือพิมพ์ แต่ผมก็อยากจะเขียนหนังสืออยู่นั่นเอง ถ้าเผอิญงานเขียนจะไม่พยายามวิ่งหนีผมสุดหล้าฟ้าเขียวเหมือนจงใจ!

หลายคนสงสัยว่าผมเป็น “นักเขียนต้องห้าม” กระนั้นหรือ?

ข้อนี้ผมก็ตอบไม่ได้อีกเหมือนกัน

เพราะไม่เคยมีใครบอกผมอย่างนั้น หรือบอกอย่างเป็นกิจจะลักษณะให้กระจะกระจ่าง นอกจากจะบอกใบ้บ้าง เปรยๆ บ้าง อื่นๆ บ้าง สักแต่จะว่ากันไป

ในที่สุดผมก็เกือบตายสนิทจากวงการหนังสือพิมพ์และในยุทธจักรคนถือปากกาหากิน จนกระทั่งถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2523 นี้เอง ผมจึงได้ทราบว่าอะไรเป็นอะไร

ดังนั้น ด้วยข้อเขียนของคุณพี่ “สนทะเล” แห่งเดลิไทม์ ฉบับครบรอบปีที่ 6 ในคอลัมน์ “สนทะเลจ๊ะเอ๋” จึงดูประหนึ่งท่านจะ “จ๊ะเอ๋” กับผม และให้ผมได้มีโอกาส “จ๊ะเอ๋” กับท่านผู้อ่านที่เคารพรักทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง เป็นการตอบคำถามต่างๆ ให้สิ้นข้อกังขาเสียที

“สนทะเลจ๊ะเอ๋” ในเดลิไทม์วันที่ 8 สิงหาคม 2523 มีข้อความดังนี้

ในวันนี้หนังสือพิมพ์ “เดลิไทม์” ของคุณ ได้วางตลาดมาแล้วถึง 2,171 ฉบับ เป็นเวลาครบ 6 ปี นับจากวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2517

เปลี่ยนบรรณาธิการไป 2 ท่าน ท่านแรกคือ ท่าน “มหาน้าเชลง” ของพวกเรา หรือคุณเชลง กัทลีรดะพันธุ์ ของกองเอกสารหนังสือพิมพ์ กรมตำรวจ ท่านที่ 2 คือ “พี่โชติ” หรือ คุณโชติ มณีน้อย ซึ่งตั้งแต่เป็นบรรณาธิการมานี่ ก็ขึ้นศาลไปหลายหนแล้วเหมือนกันในคดีหมิ่นประมาท

สำหรับ “ท่านมหาน้าเชลง” นั้น ไม่ต้องเซด ปีกลายนี้ทั้งปีกับปีนี้อีก 7 เดือน เวียนว่ายตายเกิดอยู่แต่บนศาล มีความชำนาญในฐานะทนายตีนโรงตีนศาลซะจนบอกว่าจะไปเรียนรามคำแหงอีก 4 ปี สอบเนติบัณฑิตยสภาแล้วจะไปหากินเป็นทนายความในยามแก่

ผู้พิพากษาศาลต่างๆ ทั่วประเทศก็คุ้นหน้าคุ้นตา คงทำมาหารับประทานได้ไม่ยากนักร็อก…

“สนทะเลจ๊ะเอ๋” ที่นเรศ นโรปกรณ์ นำมาลงบอกกล่าวในคอลัมน์เรื่อง คำตอบที่รอมาร่วม 4 ปี ว่า

ในเวลา 6 ปีที่ผ่านมานี้ หนังสือพิมพ์ “บางกอกเดลิไทม์” ที่บัดนี้ตัดคำว่า “บางกอก” ออกทิ้งไปเสียแล้ว เนื่องจากมีพอลูชั่นมากเกินไปที่จะทนได้ ได้ถูกปิดมา 2 ครั้ง ปิดตัวเองเพื่อปรับปรุงค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ เป็นเวลา 10 วัน อีก 1 ครั้ง

(ส่วนเหตุผลอาจถูกปิดอีกครั้ง เกี่ยวกับนเรศ นโรปกรณ์ ทำให้ต้องรอ 4 ปี)