ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
บทเรียน การเมือง
ไทยรักไทย ถึง อนาคตใหม่
นโยบาย ความคิด
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา ต้องพ่ายแพ้ให้แก่พรรคไทยรักไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ตั้งแต่เลือกตั้งเมื่อปี 2544 กระทั่งเมื่อปี 2562
คำตอบที่ตรงเป้าที่สุด ไม่ว่าจะออกมาจากปากนายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคนอื่นๆ นั่นก็คือ
ไม่ยอมรับความเป็นจริง
ไม่ยอมรับว่าเมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งในปี 2544 นั้น พรรคไทยรักไทยมาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ในด้านนโยบาย ครองความเหนือกว่าพรรคการเมืองเก่าอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา อย่างเห็นได้ชัด
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรเมื่อได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในปี 2544 พรรคไทยรักไทยจึงประสบชัยชนะอย่างต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย
คำตอบก็คือ พรรคไทยรักไทยได้แปรนามธรรมแห่งนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโอท็อป 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นต้น ประสบความสำเร็จในการบริหารจนสามารถปลดหนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนด
นวัตกรรมแห่งนโยบายคือจุดแข็ง การลงมือกระทำคือจุดแข็ง
เหตุผล ประชาธิปัตย์
“เราแพ้เพราะเงิน”
เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างตั้งแต่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 กระทั่งพ่ายแพ้เมื่อปี 2562 ก็คือเราพ่ายแพ้พรรคไทยรักไทย พ่ายแพ้พรรคพลังประชาชน พ่ายแพ้พรรคเพื่อไทยเพราะเงิน
แม้กระทั่งในบางครั้งพรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินมากกว่าก็ยังแพ้
แม้กระทั่งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พรรคการเมืองหลายพรรคอุดมไปด้วยเงินทุนจำนวนมหาศาล จัดเลี้ยงโต๊ะจีนคืนเดียวได้มากกว่า 600 ล้านบาท แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็ยังแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทยอยู่นั่นเอง
พรรคการเมืองเก่าอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาก็ยังพ่ายแพ้แม้กระทั่งกับพรรคน้องใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ด้วยซ้ำไป
เท่ากับชี้ให้เห็นว่าชัยชนะและพ่ายแพ้อาจไม่ขึ้นกับ “เงิน”
แท้จริงแล้ว การปรากฏขึ้นมาของพรรคอนาคตใหม่ได้นำเสอนนวัตกรรมอันพัฒนาไปยิ่งกว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย อีกก้าวสำคัญและทรงความหมาย
นั่นก็คือ ใช้ความคิดเป็นอาวุธในการต่อสู้และสร้างที่ยืนทางการเมืองให้กับตน
จากพรรคประชาธิปัตย์
ถึง อภิรัชต์ คงสมพงษ์
บทสรุปของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการเติบใหญ่ขยายตัวของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ว่าตนเองพ่ายแพ้เพราะเงินน้อยกว่า
โดยมองข้ามความเป็นจริงว่า แท้จริงแล้ว “นโยบาย” สู้ไม่ได้
บทสรุปของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในการพูดถึงสงครามสมัยใหม่ ไฮบริด วอร์แฟร์ และแสดงความเป็นห่วงต่อการเติบใหญ่ขยายตัวของพรรคการเมืองใหม่บางพรรคว่าอาศัยเฟกนิวส์ในการหลอกลวงและสร้างคะแนนนิยมกับคนรุ่นใหม่
นั่นก็คือ การชี้นิ้วกล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562
ได้คะแนนกว่า 6.2 ล้านเสียง ได้ ส.ส.มากถึง 81 คนล้วนเป็นคนหน้าใหม่ในทางการเมือง
ไม่ว่าพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ก้าวเข้าสู่สนามทางการเมืองเหมือนกัน นั่นก็คืออาศัยความคิด อาศัยนโยบายเป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ เพียงแต่พรรคไทยรักไทยสร้างปรากฏการณ์จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เสนอตัวเข้ามาในปี 2562
หาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มองความเป็นจริงของพรรคอนาคตใหม่ไม่รอบด้าน ไม่ครบถ้วนและถูกต้อง โอกาสที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะก้าวเดินไปบนความผิดพลาดเหมือนกับที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา ประสบมีสูงเป็นอย่างยิ่ง
ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่จะตามหลอกหลอนเหมือนกับความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย
อาวุธ ความคิด
สมรภูมิ การเมือง
องค์ประกอบทางการเมืองก่อรูปขึ้นจากเส้นทาง 3 เส้นทางที่สัมพันธ์กัน 1 กระบวนทางความคิด 1 กระบวนทางการเมือง 1 กระบวนการทางจัดตั้ง
ทุกพรรคการเมืองล้วนมิอาจขาด 3 ส่วนนี้อย่างเด็ดขาด
จะแตกต่างก็เพียงแต่ว่าผู้นำภายในพรรคมีความเฉลียวฉลาดยอดเยี่ยมและเข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมได้ลึกซึ้งเพียงใด
พรรคไทยรักไทยได้พิสูจน์มาแล้วจากความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2544
ณ วันนี้ พรรคเพื่อไทยคือพรรคการเมืองที่สืบทอดและต่อยอดความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย ขณะที่พรรคอนาคตใหม่คือพรรคการเมืองใหม่ที่เสนอตัวเข้ามา
พรรคการเมืองคือผู้อาสา โดยผ่านการตัดสินใจของประชาชน