ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ลอยกระทงวันสารทจีน หรือจะเป็นที่มา ของประเพณีลอยกระทงในสยาม?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
การลอยกระทงในวันสารทจีน

วัน 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน มีเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งเรียกว่า “เทศกาลจงหยวน” แปลเป็นไทยตรงตัวมีความหมายว่า “วันจันทร์เพ็ญแรกกลาง” โดยตามคติจีนถือว่าเป็นวันเกิดของเทพตี้กวน ที่ชาวจีนเชื่อกันว่าเป็นเสนาแห่งแผ่นดิน

“เทพตี้กวน” นอกจากจะเป็นเสนาแห่งแผ่นดินแล้ว ชาวจีน ศาสนาเต๋า (ใช่แล้วครับ “เต๋า” เป็นศาสนา ไม่ใช่ลัทธิ ถึงแม้จะมีองค์ประกอบของศาสนาไม่ครบตามเกณฑ์ความเป็นศาสนา ตามหลักที่นักวิชาการในยุคหลังกำหนดกัน แต่ศาสนาเต๋าก็ยิ่งใหญ่ และมีผู้คนนับถือมากมายเสียจนไม่ควรจะถูกนับเป็นแค่ลัทธิความเชื่อเล็กๆ) ยังถือว่าเทพเจ้าองค์นี้คือ “พญายมบาล” อีกด้วย

ดังนั้น ถ้าวันคล้ายวันเกิดของเทพตี้กวน ที่ถือเป็นเทพเจ้าระดับอำมาตย์ใหญ่ ในศาสนาเต๋า ท่านจึงต้องประทานอภัยโทษ เปิดยมโลก แล้ว “ปล่อยผี” เป็นอิสระมันสักครึ่งเดือน ตั้งแต่วัน 1 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 7 เพื่อฉลองวันเกิดนั่นเลย ถึงจะเหมาะ และดูสมเกียรติ สมฐานะเทพเจ้าระดับพญายมบาลหน่อย

ด้วยความเชื่ออย่างที่ว่านี่เอง จึงทำให้ชาวโลก (ซึ่งก็หมายถึงเฉพาะหมู่ชนเชื้อสายจีนนั่นแหละ) ต่างก็ต้องจัดพิธีเซ่นไหว้ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผีทั้งหลาย เพื่อไม่ให้ถูกผีร้าย ที่ออกเร่ร่อนในช่วงเดือนนี้เข้ามารบกวน

 

แต่ก็ใช่ว่าจะมีเฉพาะการติดสินบนไม่ให้ผีร้ายมารบกวนเท่านั้น เพราะในช่วงเทศกาลดังกล่าว ก็มีการจัดพิธีเซ่นไหว้บรรพชนผู้ล่วงลับ (ซึ่งก็คือผีชนิดหนึ่งนั่นแหละ) เป็นกิจสำคัญไปพร้อมๆ กันด้วย

ซึ่งเมื่อเป็นการไหว้ผีบรรพบุรุษแล้ว โคตรเหง้าของใครเคยกินอะไรเขาก็จึงไหว้ด้วยอาหารสิ่งนั้น

พวกจีนตอนเหนือกินซาลาเปา หมั่นโถว ที่ทำจากแป้งสาลีเป็นอาหารหลัก ก็ไหว้ด้วยหมั่นโถว

ส่วนชาวจีนใต้ที่กินขนมเข่ง ขนมเทียน ที่ทำจากข้าวเหนียว ก็ไหว้กันด้วยขนมเข่ง ขนมเทียน

จนภายหลังค่อยมาปนๆ กัน จนไหว้มันหมดทุกอย่างนี่แหละ

และก็เป็นเพราะการเซ่นไหว้บรรพชนนี้เอง ที่ทำให้คนไทยเรา เมื่อเห็นหมู่คนจีนโพ้นทะเลประกอบพิธีอะไรอย่างนี้ ก็เลยเรียกในชื่อทำนองเดียวกับพิธีของตัวเองว่า “พิธีสารท”

แต่เมื่อเป็นวันสารทของจีน ไม่ใช่ของไทยแล้ว ก็เลยต้องระบุไว้ด้วยว่าเป็น “วันสารทจีน” หมายความว่า ไม่ใช่วันสารทของไทย

พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า “เทศกาลจันทร์เพ็ญกลาง” ของจีน นั้นก็คืออะไรที่พี่ไทยเราเรียกว่า “วันสารทจีน” นั่นเอง

 

อีกหนึ่งกิจกรรมในช่วงวันสารทจีน ที่ไม่พบในหมู่คนจีนโพ้นทะเล (ซึ่งก็หมายความว่าคนเชื้อสายจีนในไทยไม่ได้ประกอบพิธีนี้ด้วยตามระเบียบ) แต่ก็น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ชาวจีนมีการลอยกระทงลงบนแม่น้ำ คล้ายๆ กับลอยกระทงของบ้านเรา

แต่ต่างกันตรงที่ พวกเขาไม่ได้ลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคาแต่อย่างใด พวกเขาลอยเพื่อไหลนำทางพวกผีทั้งหลายไปสู่แดนสุขาวดี ถือเป็นการโปรดผีทั้งปวงให้พ้นจากนรกภูมิเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพญายมบาลต่างหาก

อันที่จริงแล้ว “สุขาวดี” เป็นชื่อสวรรค์ในพุทธศาสนา แบบมหายานแขนงหนึ่ง ที่นับถือพระอมิตาภพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าองค์สำคัญที่สุด (คือองค์เดียวกับที่หลวงจีนเปล่งคำสรรเสริญให้ได้ยินในภาพยนตร์กันบ่อยๆ ว่า อมิตพุทธ นั่นแหละครับ) และสถิตอยู่บนสวรรค์สุขาวดีที่ว่านี้

สวรรค์ชั้นที่ว่าจึงไม่ใช่สวรรค์ของศาสนาเต๋ามาแต่ดั้งเดิม แต่บังเอิญว่า ตามปรัมปราคติของชาวพุทธกลุ่มนี้เชื่อกันว่า “สุขาวดี” เป็นสวรรค์ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งก็ไปพ้องกันกับคติเรื่องสวรรค์ในศาสนาเต๋าว่า สวรรค์ก็อยู่ทางทิศนั้นเหมือนกันพอดี นี่ก็เลยเป็นเรื่องที่พี่จีนไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงอะไรนัก ที่ต้องอิมพอร์ตเอาสวรรค์ทั้งชั้นมาจากพวกแขกอินเดียเขา

แต่ไม่ได้หมายความว่า การลอยกระทงไหลนำทางผี เป็นประเพณีอินเดียมาก่อนนะครับ ผมหมายถึงเฉพาะแค่การเอาคติในพุทธศาสนา มาผสมโรงเข้ากับพิธีกรรมต่างๆ ในวันสารทจีนต่างหาก

 

จากความเชื่อเรื่องการลอยกระทงเพื่อนำทางผีไปสู่สวรรค์ชั้นสุขาวดี ของพระอมิตาภพุทธเจ้า จึงทำให้ไม่น่าประหลาดใจที่จะมีผู้เสนอว่า การลอยกระทงในวันสารทจีนมีที่มาจากอินเดีย พร้อมกับการเข้ามาของพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ร่วมสมัยกับความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดีในไทย ในช่วงหลัง พ.ศ.1100 โดยประมาณ)

แต่อันที่จริงแล้ว ในอินเดียไม่มีประเพณีทำนองนี้ (อย่างน้อยก็ไม่มีความเชื่อเรื่องการลอยกระทงนำพวกผีไปสวรรค์ของพระอมิตาภะ) ในขณะที่ในศาสนาเต๋ายังมีประเพณีการลอยกระทงที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีอยู่อีก อย่างน้อยหนึ่งประเพณีคือ “เทศกาลเซี่ยหยวน” หรือ “เทศกาลจันทร์เพ็ญปลาย” ในวัน 15 ค่ำ เดือน 10

เทศกาลดังกล่าวยังถือว่าเป็นวันเกิดของ “เทพสุ่ยกวน” หรือ “เสนาแห่งน้ำ” ซึ่งตามความเชื่อในศาสนาเต๋าถือว่าเป็นพี่น้องกัน โดยในเทศกาลจันทร์เพ็ญปลายนี้จะมีทั้งประดับโคม และลอยกระทง เช่นเดียวกับในเทศกาลสารทจีน ที่บูชาเทพตี้กวน

เฉพาะในส่วนของการลอยกระทงในเทศกาลจันทร์เพ็ญปลายนั้น ว่ากันว่าทำไปเพื่อบูชาเทพสุ่ยกวน ที่เป็นเสนาแห่งท้องน้ำ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผีบรรพชน ดังนั้น คติการลอยกระทงที่เกี่ยวกับผี จึงน่าจะมีอยู่แล้วในศาสนาเต๋า มากกว่าที่จะอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย

 

อันที่จริงแล้ว ปกรณ์ในศาสนาเต๋ายังระบุไว้ด้วยว่า เทพตี้กวน และเทพสุ่ยกวนนั้น ยังมีพี่ชายอีกคนหนึ่งคือ “เทพเทียนกวน” ซึ่งเป็น “เสนาแห่งท้องฟ้า” โดยนับเป็นเทพคนโตของเทพทั้งสามองค์นี้ ส่วนเทพสุ่ยกวนนั้นนับเป็นเทพคนสุดท้อง

เทพเจ้าทั้งสามองค์นี้ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ชุดเทพ “ซานกวน” นี้ มีหน้าที่ตรวจสอบความดี-ความชั่วของมนุษย์ มีอำนาจให้รางวัล และลงโทษ จึงไม่แปลกเลยสักนิด ที่ในเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับชุดเทพซานกวนนี้ จะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผี (ในภายหลังความเชื่อเกี่ยวกับชุดเทพซานกวนนี้ ได้พัฒนาเป็นว่า เทพเทียนกวนประทานโชคลาภ เทพตี้กวนประทานอภัยโทษ ส่วนเทพสุ่ยกวนขจัดทุกข์ภัย)

พวกเต๋าเชื่อว่า วันเกิดของเทพเทียนกวน ตรงกับวัน 15 ค่ำ เดือนอ้าย คือวันเพ็ญแรกของปี ตรงกับวันหยุดสุดท้ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงจัดให้มี “เทศกาลหยวนเซียว” ซึ่งแปลไทยตรงตัวได้ว่า “เทศกาลจันทร์เพ็ญต้น” ด้วยการชักโคม และประดับโคมบูชาเทพเทียนกวน และดวงดาวต่างๆ

เทศกาลที่เกี่ยวกับโคมของจีน (ชาวจีนมองอะไรที่เราเรียกว่า “กระทง” เป็น “โคม” ชนิดหนึ่ง เพราะกระทงของพี่จีนเขาทำมาจากกระดาษสี ไม่ใช่ใบตองเหมือนอย่างเราในปัจจุบัน) จึงเกี่ยวอยู่กับชุดเทพซานกวนนี้ กับการอุทิศส่วนกุศลให้ผีบรรพชน และพระจันทร์ (แน่นอนว่า พระจันทร์ย่อมเกี่ยวกับเรื่องของน้ำ)

 

น่าสังเกตว่าในจดหมายเหตุของราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เข้ามาในอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ.2230 อย่าง ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ ได้พรรณนาถึงประเพณีลอยกระทงในสมัยอยุธยา ที่ท่านได้พบเห็นกับตาเอาไว้ว่า

“เราได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่างๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องลอยประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก” (สำนวนแปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร เน้นคำโดยผู้เขียน)

กระทงของอยุธยาจึงทำขึ้นจากกระดาษสี (แน่นอนว่า กระทงบางอันอาจเป็นแค่ประดับด้วยกระดาษสี แต่ถ้าบางอันจะทำขึ้นจากกระดาษสีทั้งดุ้นก็ไม่เห็นจะแปลก) แถมลา ลูแบร์ ยังบอกไว้ด้วยว่า การลอยกระทงนั้นทำเพื่อ “แสดงความขอบคุณต่อพระแม่ธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

เป็น “พระแม่ธรณี” นะครับ ไม่ใช่ “พระแม่คงคา” ตามอย่างคำอธิบายสมัยต้นกรุงเทพฯ (เรื่องของนางนพมาศ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ระดับพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกไว้เองว่า เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 3)

อ่านแล้วก็ชวนตะหงุดตะหงิดใจให้นึกถึง เสนาแห่งแผ่นดิน อย่างเทพตี้กวน ที่ชาวจีนเขาแฮปปี้เบิร์ธเดย์ท่านกันด้วยการ “ลอยกระทง” ในวันสารทจีน

แถมในกฎมณเฑียรบาล ที่เขียนขึ้นในช่วงต้นอยุธยายังระบุไว้ด้วยว่า ในช่วงพิธี “จองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ” (ก็ลอยกระทงนั่นแหละ) กษัตริย์ต้องไปประกอบพิธีที่วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นวัดที่เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของพระเทพบิดร คือพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งก็คือ “ผีบรรพชน” ของกษัตริย์อยุธยานั่นเอง

————————————————————————————————————–
ภาพจาก : หนังสือ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” โดย ถาวร สิกขโกศล (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2557)