ภาษาประจำชาติ VS ภาษาอังกฤษ | ดูมุมคิดนายกฯมาเลเซีย

ภาษาประจำชาติ VS ภาษาอังกฤษ

ตามที่ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายให้คนไทย “มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่สาม และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น”

จึงทำให้มีคำถามขึ้นมาว่า แล้วภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของประเทศไทยอยู่ที่ไหน

พจนานุกรม ศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ประยุกต์) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๗. ได้ให้ความหมายของ ภาษาประจำชาติไว้ ดังนี้

ภาษาประจำชาติ (national languge) คือภาษาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาหลักหรือภาษาสำคัญของชาติ เช่น ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาประจำชาติของประเทศฝรั่งเศส ภาษาอิตาลีเป็นภาษาประจำชาติของประเทศอิตาลี รัฐบาลหรือผู้ปกครองของแต่ละประเทศอาจประกาศให้ภาษาใดภาษาหนึ่งหรือภาษาถิ่นใดถิ่นหนึ่งที่มีใช้อยู่ในประเทศให้เป็นภาษาประจำชาติก็ได้ เช่น รัฐบาลจีนประกาศให้ใช้ภาษาจีนมาตรฐานหรือจีนกลาง (Putonghua) เป็นภาษาประจำชาติของประเทศจีน โดยทั่วไปแล้วภาษาประจำชาติจะถือเป็นภาษาราชการที่ใช้อย่างเป็นทางการในงานราชการต่างๆ รวมทั้งในการประกอบธุรกิจการค้าด้วย ในประเทศที่มีลักษณะเป็นสังคมพหุภาษาอาจมีภาษาราชการมากกว่า ๑ ภาษาได้ และในกรณีเช่นนี้ก็มักไม่เรียกว่า ภาษาประจำชาติ แต่จะใช้ว่าภาษาราชการ เช่น ในประเทศสิงคโปร์มีภาษาราชการ ๔ ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน (แมนดาริน) ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ หรือในสวิตเซอร์แลนด์มีภาษาราชการคือ ฝรั่งเศส เยอรมัน และโรแมนซ์ เป็นต้น

ในกรณีของประเทศไทย ภาษาไทยถิ่นกลางรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันในกรุงเทพฯ ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นภาษามาตรฐานหรือภาษากลางของประเทศ ซึ่งใช้เป็นภาษาราชการ และถือเป็นภาษาประจำชาติด้วย

โดยเรียกชื่อเป็นกลางๆ ว่า “ภาษาไทย”

ความเห็นเรื่องความสำคัญของภาษาประจำชาติกับความสำคัญของภาษาอังกฤษมิใช่จะเกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยนี่เอง

เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ หนังสือพิมพ์ The Star ePaper ได้รายงานว่า Tun Dr Mahathir Mohamad นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวที่รัฐสภาว่า ผู้สนับสนุนภาษามาเลย์ควรหยุดคำนึงถึงเรื่องชาตินิยมไว้ก่อน โดยยอมให้ใช้ภาษาอังกฤษสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพราะยากนักที่จะหาคนที่สามารถแปลความรู้ใหม่ๆ เป็นภาษาประจำชาติได้ ถ้าเราไม่รู้ภาษาที่ความรู้ใหม่นั้นใช้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ให้ข้อสังเกตต่อไปว่า ผู้ที่ไม่เรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ที่ใช้แสดงความรู้จะกลายเป็นผู้ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

การรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการเรียนการสอนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในด้านการจัดการและการบริหาร

นอกจากนี้ การรู้ภาษาอังกฤษยังทำให้มีโอกาสในด้านการงานมากยิ่งขึ้นด้วย นักศึกษาชาวมาเลย์ต้องเรียนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ เมื่อต้องไปเรียนต่อในอังกฤษ อเมริกา รัสเซีย หรือ ซาอุดีอาระเบีย

การค้นพบและความก้าวหน้าใหม่ๆ ไม่เหมือนกับวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ สิ่งใหม่ๆ ดังกล่าวแสดงด้วยภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ตัวอย่าง เทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์เป็นความรู้ใหม่ ซึ่งไม่เคยมีในสมัยที่ตนเป็นนักศึกษา จึงยากมากที่จะแปลวิชาเหล่านี้เป็นภาษาประจำชาติ

ส่วนภาษาประจำชาตินั้นก็ยังต้องเรียนและใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป มิใช่ให้ละทิ้ง เพราะยังมีวิชาความรู้อีกมากมายที่ใช้ภาษาประจำชาติได้เหมาะสมกว่าภาษาอังกฤษ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพูดเรื่องนี้ในรัฐสภาด้วยภาษามาเลย์

ลองเปลี่ยนคำว่า “ภาษามาเลย์” เป็น “ภาษาไทย” ก็จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้น่าจะใช้ในประเทศไทยได้เช่นกัน