มอนิเตอร์ “บิ๊กแดง” จากแผนปฏิรูปกองทัพล่าสุด สู่ “The Great Hack” และ “บึ้มป่วนเมือง”

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของกองทัพช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่กำลังพลต้องอยู่ในกฎระเบียบทางทหารอย่างเคร่งครัดกว่ายุคก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของทรงผม การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อเป็นต้นแบบและผู้นำของสังคม

ทั้งหมดนี้เกิดจากโครงสร้างและดุลอำนาจภายในกองทัพที่เปลี่ยนไป

โดยเฉพาะกองทัพบก จากยุค พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี อดีต ผบ.ทบ. ที่ได้เริ่มต้นโครงการ Smart Man Smart Soldier

ซึ่งถูกสานต่อโดย “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) ที่ได้ปรับรูปแบบเป็น Smart Soldiers Strong Army

พล.อ.อภิรัชต์ได้ชื่อว่าเป็นนายทหาร “อเมริกันสไตล์” เพราะเคยศึกษาที่สหรัฐหลายหลักสูตร ส่วนกองทัพอเมริกันเองก็ได้จับตา “บิ๊กแดง” มาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 โดยเชิญไปเยี่ยมชมกองทัพสหรัฐหลายครั้ง

ทั้งนี้ ทบ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างและเสริมสร้างหน่วยกำลังรบเพื่อใช้เป็นหน่วยต้นแบบในอนาคต หน่วยกำลังรบระดับกรม จะกลายเป็นหน่วยที่มีความกะทัดรัดทันสมัย โดยอ้างอิงการจัดหน่วยแบบ “กองพลน้อยของสหรัฐ-ออสเตรเลีย” (Brigade Combat Team)

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำอัตราการจัดกำลังและยุทโธปกรณ์ของหน่วย ควบคู่กับการพิจารณาจัดหายานเกราะเข้าประจำการ เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศและอื่นๆ

มีรายงานว่ายานเกราะที่จะนำมาประจำหน่วย คือยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์จากสหรัฐ หลัง ทบ.อนุมัติจัดหายานเกราะล้อยางรุ่น M1126 STRYKER จากสหรัฐจำนวน 37 คัน คันละประมาณ 80 ล้านบาท รวม 2,960 ล้านบาท โดยเป็นโครงการซื้อความช่วยเหลือทางทหารแบบ FMS โดยตรงกับสหรัฐ ที่จะทยอยส่งมอบให้ไทยภายในปี 2562

ที่ผ่านมา ทบ.ไทยมีการฝึกร่วมกับ ทบ.สหรัฐและออสเตรเลียในหลายรหัสการฝึก

เช่น รหัส TEMPLE JADE 2019 ทบ.ส่งจากกองพลทหารราบที่ 7 เข้าร่วมการฝึกผสมกับกองทัพบกออสเตรเลีย ที่กองพันที่ 1 กรมออสเตรเลียรักษาพระองค์ (1st Battalion, The Royal Australian Regiment หรือ 1 RAR) ที่ Lavarack barracks เมืองทาวน์สวิลล์ รัฐควีนแลนด์ โดยการฝึกเน้นการเพิ่มทักษะของหน่วยทหารขนาดเล็ก ที่จัดการฝึกทุก 3 ปี

การฝึกผสมระหว่าง ทบ.ไทย และกองกำลังทางบกสหรัฐ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก รหัส “Lightning Forge” ที่ค่ายโชฟิลด์ รัฐฮาวาย ถือเป็นการฝึกครั้งแรกที่ไทยส่งกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 9 เพื่อฝึกกับกองพลทหารราบที่ 25 กองกำลังทางบกสหรัฐ

โดยเป็นการศึกษายุทธวิธีรูปแบบต่างๆ การลาดตระเวนในภูมิประเทศที่มีความแตกต่าง การรบในสิ่งปลูกสร้าง การแก้ปัญหาของผู้บังคับหน่วย จากระดับผู้บัญชาการกองพลจนถึงผู้บังคับกองร้อย พร้อมทั้งการประเมินผลร่วมกันช่วงเดือนกันยายน 2562 ที่ศูนย์ฝึกการเตรียมความพร้อม (Joint Readiness Training Center : JRTC) รัฐลุยเซียนา

นอกจากนี้ ทบ.ไทยยังได้คัดเลือกนายทหารยศร้อยตรี-ร้อยโท เหล่าทหารราบและเหล่าทหารม้า จากกองทัพภาคที่ 1-4 และกองพลทหารม้า 8 นาย ไปศึกษาดูงานที่ U.S. Army Maneuver Center of Excellence, Fort Benning รัฐจอร์เจีย เน้นการเรียน-การฝึกในระดับกองร้อยและระดับกองพัน

โดยเป็นกำลังพลในระดับผู้บังคับหมวดของเหล่าดำเนินกลยุทธ์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากหน่วยต้นสังกัดในระดับกองทัพภาค และเข้าอบรมภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจากกรมยุทธศึกษาทหารบก โดยหลังกลับจากการดูงาน จะมีการประเมินผลและถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยที่เกี่ยวข้องต่อไป

อีกทั้งได้ส่งกำลังพลไทยเข้ารับการฝึกกับกองกำลังทางบกสหรัฐ ในหลักสูตร AIR ASSAULT เพื่อรับมือปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ที่ Lightning Academy กองพลทหารราบที่ 25 กองกำลังทางบกสหรัฐ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก รัฐฮาวาย

วันที่ 16 สิงหาคมนี้ พล.อ.อภิรัชต์ยังมีนัดกับผู้บังคับกองพัน-ผู้บังคับการกรมกว่า 800 นายทั่วประเทศในการทดสอบร่างกายและภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ซึ่งจะเป็นการทดสอบด้วยข้อสอบใหม่ ตำราใหม่ หลักนิยมทางทหารยุคใหม่ (Military Doctrine) พร้อมคำถามข้อสำคัญ How to deal with the complex wars?

พล.อ.อภิรัชต์เห็นว่า ทบ.ไทยยึดถือกองทัพสหรัฐเป็นต้นแบบการจัดกองทัพและการฝึกศึกษามายาวนาน แต่ทางอเมริกามีการปรับปรุงเอกสาร ตำราการเรียน และหลักนิยมทางทหาร ให้เข้ากับภารกิจ ภัยคุกคาม และสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็น “complex wars” และสงครามลูกผสม (hybrid warfare)

เช่นเดียวกับกองทัพไทยที่กำลังเผชิญกับ complex wars ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ได้ร่วมเขียนตำราหลักนิยมทางทหารไว้ตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1

โดยมีฐานคิดว่า แม้กองทัพไทยจะไม่ได้มีภารกิจเหมือนทหารสหรัฐ แต่ก็ควรนำแนวคิดหลักนิยมต่างๆ และตำราที่อัพเดตใหม่มาปรับใช้ เพื่อปรับปรุงหลักสูตรของกองทัพ

ผบ.ทบ.ยังเตรียมให้มีการจัดทำข้อสอบใหม่จากตำราหลักนิยมทางทหารฉบับใหม่ๆ รวมถึงหลักคิดเรื่องสงครามลูกผสม เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

พร้อมกันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ได้สั่งการให้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนนายสิบทหารบก และโรงเรียนนายร้อย จปร. ให้ทันสมัยสอดรับสถานการณ์

โดยเน้นสร้างกำลังพลให้เป็นผู้นำในอนาคต รวมทั้งให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษและการเสริมความรู้ด้านไซเบอร์ให้นักเรียนนายร้อยด้วย

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “The Great Hack” ว่าด้วยการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลจากโซเชียลมีเดียของบริษัท Cambridge Analytica เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายการเมืองช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2016

The Great Hack นำเสนอการสืบสวนเจาะลึกบริษัท Cambridge Analytica โดยตรง เปิดโปงวิธีการใช้ข้อมูล และวิธีการใช้โซเชียล เป็นช่องทางในการควบคุมความคิดทางการเมืองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่ง ผบ.ทบ.ได้แนะนำให้คนใกล้ชิดดูด้วย โดยมองว่ามีความใกล้เคียงกับการเมืองของไทย

หากย้อนกลับไปทบทวนคำสัมภาษณ์เก่าๆ จะพบว่า พล.อ.อภิรัชต์ให้ความสำคัญเรื่องสื่อโซเชียลมาตลอด ถึงกับเคยกล่าวถึงโซเชียลมีเดียว่าทรงอานุภาพกว่าอาวุธใดๆ ในกองทัพ โดยเฉพาะในด้านการเผยแพร่ความคิดทางการเมือง

ขณะนี้ พล.อ.อภิรัชต์อยู่ระหว่างการเขียนบทความกึ่งวิทยานิพนธ์ ว่าด้วยพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หลังได้รับอิทธิพลจากสื่อโซเชียล โดยแบ่งเป็น 3 ตอน เกี่ยวกับอิทธิพลของโซเชียล ที่มีผลต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง

คาดว่าจะจัดทำเนื้อหาเสร็จช่วงปลายเดือนสิงหาคม

แน่นอน พล.อ.อภิรัชต์ถือเป็นนายทหารระดับสูงที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาหลายครั้ง

เช่น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ผบ.ทบ.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ “ระเบิดป่วนเมือง” หลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เป็นการบงการของพวกกลุ่มเดิมๆ การก่อเหตุคล้ายเหตุการณ์ช่วงปี 2549 และมองว่าสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งบอกเหตุว่า ต่อไปอาจมีการนำเรื่องแบบนี้มาใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง

ช่วง 10 เดือนในตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.อ.อภิรัชต์ได้แสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการตอบโต้ขั้วที่ต่อต้าน คสช.

ทั้งการหยิบยกเพลง “หนักแผ่นดิน” มาตอบโต้พรรคเพื่อไทยที่หาเสียงเรื่องการปฏิรูปกองทัพ โดยให้มีการตัดงบฯ กลาโหมและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ตามมาด้วยวาทะ “ซ้ายจัด ดัดจริต” ตอบโต้พรรคการเมืองหน้าใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ก่อนจะอ้างเพลง “กิเลสมนุษย์” ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่ยาวนานยืดเยื้อถึง 3 เดือน

ทั้งหมดนี้ สะท้อนแนวคิดของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ด้านหนึ่งก็พยายามนำเอารูปแบบและแนวคิดใหม่ๆ จากตะวันตกมาปรับใช้ในกองทัพ แต่อีกด้านก็กำลังต้องเผชิญหน้า-ร่วมจัดการปัญหา “เฉพาะตัว” ของสังคมไทย