หน้า 8 : สงสาร “สมคิด”

แม้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมเศรษฐกิจจะลงแรงใส่ความคิดเพื่อจะกอบกู้เศรษฐกิจไทยให้พ้นจากปากเหว

แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่ค่อยเป็นใจมากนัก

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ที่จะทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้สะดุดครั้งใหญ่

แทนที่จะวิ่งไปข้างหน้าก็ต้องหยุดผูกเชือกรองเท้าอีกนานพอสมควร

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเริ่มมีความหวังจาก “ยางพารา” ที่ราคาขยับสูงขึ้นมาเรื่อยๆ

ชาวสวนยางกำลังจะยิ้มแย้มแจ่มใส

พอมาเจอน้ำท่วมใหญ่เข้าไปเลยสะดุดหัวทิ่มไปเลย

เพราะต้องใช้เวลาฟื้นฟูต้นยางอีกนานพอสมควรกว่าจะเริ่มกรีดยางได้

เมืองไทยมีอยู่ 5 ภาค คือ เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และใต้

เจอน้ำท่วมใหญ่ไป 1 ภาค

หรือ 1 ใน 5

ทีมเศรษฐกิจแทบกุมขมับ

 

นอกจากนั้นแล้วธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ถือเป็น “ต้นทาง” ของ “โดมิโน” ทางเศรษฐกิจ

เพราะทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหา

“อสังหาริมทรัพย์” จะส่งสัญญาณก่อน

ล่าสุด บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทใหญ่เล็กกำลังเจอปัญหาธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยกู้ให้คนซื้อบ้าน

อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 20% เป็นอย่างต่ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านหรือคอนโดฯ ราคา 1-3 ล้านบาท

เพราะแบงก์กลัวเรื่องหนี้เสียหรือ NPL ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญตอนนี้เกิดปรากฏการณ์ลูกบ้านที่ผ่อนมาแล้ว 4-5 ปีกลายมาเป็น NPL

พอแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ซื้อ เจ้าของโครงการก็มีปัญหา

ตามปกติเจ้าของโครงการจะตกลงกับแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อให้ว่าถ้ายอดขายได้เท่าไรจึงจะปล่อยเงินงวดใหม่ให้

พอยอดไม่ได้ตามเป้า แบงก์ก็ไม่ปล่อยเงินก้อนใหม่ให้

สัญญาณควันแบบนี้กำลังเริ่มให้เห็นแล้ว

 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากลัว คือ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินหรือบี/อี

“ตั๋วแลกเงิน” เป็นตราสารการเงินรูปแบบหนึ่งที่บริษัทต่างๆ ใช้ระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไป

จ่ายดอกเบี้ยให้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์

นักลงทุนก็ชอบ เพราะผลตอบแทนดีกว่าฝากเงินไว้กับแบงก์

บริษัทต่างๆ ก็ชอบ เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้แบงก์

ตอนเศรษฐกิจยังพอไปได้ ตั๋วบี/อี ไม่มีปัญหา ครบกำหนดเมื่อไรก็จ่าย

แต่วันนี้หลายบริษัทเริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี

ตัวเลขไม่เยอะมาก แต่ผลทางจิตวิทยาสูงมาก

เพราะทำให้นักลงทุนเริ่มคิดเยอะในการที่จะซื้อตั๋วบี/อี

หรือแม้แต่หุ้นกู้ก็เจอผลกระทบด้วยเช่นกัน

ความไม่มั่นใจทำให้ช่องทางการระดมทุนด้วยบี/อีหรือหุ้นกู้ที่เคยสดใสตีบตันลง

พอนักลงทุนลังเล บริษัทต่างๆ ก็ต้องจูงใจด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น

ต้นทุนการเงินของบริษัทต่างๆ จึงเพิ่มขึ้น

สงสาร “สมคิด” จริงๆ