หรือว่า “ความเชื่อมั่น” ไม่สำคัญแล้ว ?

“ความเชื่อมั่น” ไม่สำคัญ

คําถามหนึ่งที่ไม่เพียงไม่จางหายไปจากวงสนทนาหากมีการหยิบยกเรื่องการเมืองขึ้นมาเป็นประเด็นคือ “รัฐบาลจะอยู่ได้หรือ จะอยู่อีกนานแค่ไหน”

ถ้าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจเป็นของประชาชน

ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศย่อมมีผลต่อคำตอบสำหรับคำถามนี้อย่างสูงยิ่ง

และหากเป็นเช่นนั้น ผลสำรวจของ “กรุงเทพโพลล์” ล่าสุด ที่ว่าด้วยเรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ (ประยุทธ์ 2/1)” ดูจะน่าสนใจไม่น้อย

การสำรวจเป็นการตั้งคำถามต่อประชาชนถึงความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ที่มีให้รัฐบาลชุดนี้ โดยเป็นการตอบแบบให้คะแนนทำนองว่า ถ้าคะแนนเต็ม 10 ให้เท่าไร

ปรากฏว่า ผลของคะแนนเฉลี่ยต่อคำถามในด้านต่างๆ ออกมาดังนี้

การธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6.58 คะแนน, ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากรัฐ 4.45 คะแนน, ความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 4.34 คะแนน, การแก้ปัญหาทุจริต 3.85 คะแนน

รวมแล้วความเชื่อมั่นในด้านการเมืองเฉลี่ย 4.80 คะแนน

มาถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.37 คะแนน, การสร้างความรักและความสามัคคีของคนในชาติ 4.76 คะแนน, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 4.41 คะแนน, กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย 4.12 คะแนน, ศักยภาพของคนไทย 5.08 คะแนน, ภาพลักษณ์ต่อนานาประเทศทั่วโลก 4.59 คะแนน, ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเชียน 4.50 คะแนน, ฐานะการเงินของประเทศ 3.55 คะแนน, สถานะทางเศรษฐกิจของคนในประเทศ 3.20 คะแนน

เท่ากับความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจเฉลี่ยรวมได้ 4.18 คะแนน

เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ ร้อยละ 41.5 ค่อนข้างคาดหวังมาก แบ่งเป็นร้อยละ 27.9 ค่อนข้างคาดหวัง และร้อยละ 13.6 คาดหวังมาก

ที่ไม่ค่อยคาดหวังถึงไม่คาดหวังเลย ร้อยละ 58.5 คือไม่ค่อยคาดหวังร้อยละ 31.9 และไม่คาดหวังเลยร้อยละ 26.7

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเรื่องที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหา 5 อันดับแรก ร้อยละ 75.9 เรื่องปัญหาค่าครองชีพของแพง, ร้อยละ 61.3 ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ, ร้อยละ 50.8 ภัยแล้ง, ร้อยละ 48.3 ยาเสพติด, ร้อยละ 37.2 คอร์รัปชั่น

ความเชื่อมั่นที่ตีความจากโพลย่อมหมายถึง รัฐบาลนี้สอบตกในทุกด้าน ประชาชนไม่เพียงไม่ให้ความเชื่อถือ แต่ยังแสดงออกชัดถึงความสิ้นหวังในความสามารถ

เป็นความสิ้นหวังท่ามกลางการตระหนักถึงปัญหาชีวิต โดยเฉพาะเรื่องปากท้องและการทำมาหากิน

สำหรับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง อันหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน ความสิ้นหวังเช่นนี้ เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลอยู่ต่อไปได้

ทว่า รัฐบาลของประเทศเราที่เป็นอยู่ แม้จะพยายามบอกกล่าวว่าเป็นประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แต่ย่อมเป็นที่รู้กันว่า อำนาจที่แท้จริงมาจาก “กฎหมาย” ที่คนของรัฐบาลบอกว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” และกลไกควบคุมอำนาจที่แต่งตั้งโดยคณะบุคคลดูจะไม่เกี่ยวกับอำนาจประชาชนสักเท่าไร

ความเชื่อมั่นของประชาชน จึงแทบไม่มีความหมายต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลแบบนี้