COUNTING (นับ) เรื่องเล่าจากบทสนทนาและการเฝ้ามองวิถีชีวิตคนเมือง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่น่าสนใจมาอีกครั้ง เลยถือโอกาสหยิบยกเอามาเล่าสู่กันอ่านตามเคย

นิทรรศการที่ว่านี้เป็นของอรวรรณ อรุณรักษ์ หรือในชื่อเล่นว่า “นอย” ศิลปินสาวชาวกรุงเทพฯ (เติบโตที่จังหวัดปราจีนบุรี)

ผลงานส่วนใหญ่ของเธอมักจะเป็นการสร้างบทสนทนากับชุมชนท้องถิ่นเพื่อพยายามหลอมรวมพรมแดนระหว่างศิลปะและเรื่องราวธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันรอบๆ ตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งเราเคยนำเสนอเกี่ยวกับนิทรรศการครั้งก่อนหน้าของเธอมาแล้ว (อ่านได้ที่ https://bit.ly/318QPB8)

ในคราวนี้เธอกลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการที่มีชื่อว่า COUNTING (นับ)

อรวรรณสร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านการสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เธอใช้ชีวิตอยู่ และสะสมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากเรื่องราวของผู้คนที่เธอได้พบปะพูดคุยในแต่ละวัน

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เธอใช้ชีวิตไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับเบอร์ลิน และสั่งสมเรื่องราวสั้นๆ จำนวนมากจากบทสนทนาและการเฝ้ามองวิถีชีวิตคนเมืองในละแวกบ้านและสถานที่คุ้นเคยทั้งสองเมือง

บทสนทนาและการเฝ้าสังเกตเหล่านั้นพอกพูนจนกลายเป็นเรื่องราวสั้นๆ มากมาย สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของภาพวาดสีสันสดใส ลายเส้นนุ่มนวลน่ารัก

และข้อความที่เขียนด้วยลายมือ ที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกคล้ายกับกลอนเปล่า

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อรวรรณไม่ได้เขียนภาพและข้อความเหล่านี้ลงบนกระดาษหรือผืนผ้าใบตามปกติ หากแต่วาดลงไปบนผิวหน้าของแท่งคอนกรีตและอิฐบล็อก ขนาดและรูปแบบต่างๆ แบบเดียวกับที่เราเห็นตามร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วๆ ไปนั่นแหละ

ดูๆ ไปก็ให้อารมณ์คล้ายกับภาพวาดและตัวหนังสือที่เด็กๆ วาดเขียนเล่นบนผนังหรือพื้นถนนอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

แท่งคอนกรีตและอิฐบล็อกเหล่านี้ถูกวางซ้อนกันเป็นตับๆ 21 กอง โดยมีความสูงลดหลั่นกันไป มันถูกตั้งเป็นหย่อมๆ ทั่วห้องแสดงงาน ความสูงโดยเฉลี่ยของกองอิฐเหล่านี้มีขนาดเท่ากับเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นหนังสือ และพื้นที่ว่างระหว่างกองอิฐถูกทำให้เหมือนเป็นเส้นทางให้ผู้ชมเดินสำรวจและสังเกตเรื่องราวและเรื่องเล่าบนพื้นผิวของมันได้ตามอัธยาศัย

ส่วนลำดับของภาพและเรื่องราวที่ว่านี้ ถูกเขียนเป็นตัวเลขลงบนก้อนอิฐ และเชื่อมโยงไปยังคำแปลที่ถูกเขียนบนกระดาษติดเรียงรายตามลำดับอยู่บนผนังห้องแสดงงาน

“Counting หรือการนับ เรามองว่าไม่ใช่เป็นแค่การนับหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่เป็นเหมือนการคิด สะสม คำนวณ ใคร่ครวญ เป็นเหมือนการสังเกตเวลาที่เราเดิน หายใจ หรือแม้แต่การเลือกเสื้อผ้า กินข้าว หรืออะไรก็ตาม มันคือการค่อยๆ เรียงลำดับ เรื่องราว เรียงชีวิต วันนี้ พรุ่งนี้

คือช่วงปี พ.ศ.2557-2562 เราจะอยู่สลับไปสลับมาหลายๆ ที่ ทั้งเขมร เวียดนาม ที่อยู่ยาวๆ ก็จะเป็นกรุงเทพฯ กับเบอร์ลิน เยอรมนี

ผู้คนที่เราให้ความสนใจเรื่องราวของเขาเอามาถ่ายทอดในงานชุดนี้ จะเป็นคนที่เราเจอกันบ่อยๆ เป็นคนที่อยู่อาศัยตามเส้นทางที่เราเดินทาง ตามสถานที่ที่ใกล้กับที่ที่เราอยู่

เมื่อเราเดินผ่านเส้นทางเหล่านี้ บทสนทนาก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นมา เราก็สะสมสิ่งที่คุยกับเขาไว้ แล้วดูว่ามีอะไรน่าสนใจ และค่อยๆ เรียบเรียง เขียนออกมา

ส่วนภาพวาดที่เห็น เราได้มาจากฟุตเทจวิดีโอและภาพถ่ายที่เราถ่ายรูปเขาเอาไว้

แต่กว่าจะถ่ายได้เราก็ต้องใช้เวลาสักพัก ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เข้าไปคุยแล้วถ่ายเลย จริงๆ การทำแบบนี้มันก็เป็นกระบวนการนับอย่างหนึ่งนะ ค่อยๆ นับ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำความรู้จัก ค่อยๆ พูดคุย โดยที่เราไม่ได้กะเกณฑ์ว่าฉันจะต้องเลือกคนนั้น ฉันจะต้องไปสัมภาษณ์คนนี้

“มันเป็นการต่อเนื่องของสิ่งที่เราพบเจอในเส้นทางที่เราเดินทุกๆ วัน”

อรวรรณบอกเล่าถึงแนวคิดในนิทรรศการนี้

เกร็ดอีกอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ อรวรรณไม่ได้ซื้ออิฐบล็อกและแท่งคอนกรีตเหล่านี้กลับไปวาดหรือเขียนที่บ้านหรือสตูดิโอของเธอ หากแต่เธอไปนั่งทำผลงานเหล่านี้ในร้านขายวัสดุก่อสร้างจริงๆ

สาเหตุที่เธอทำเช่นนี้ ก็เพราะเธอคิดว่า การออกไปทำงานนอกสถานที่ในพื้นที่จริงๆ เหล่านี้ สามารถสร้างบทสนทนาที่น่าสนใจขึ้นมาได้

“เราไปทำผลงานชุดนี้ในร้านก่อสร้างสองร้านในช่วงเวลา 2-4 เดือน ที่ทำแบบนี้ก็เพราะเราคิดว่าวัสดุก่อสร้างเหล่านี้เป็นองค์ประกอบพื้นที่ของอาคารหรือสถาปัตยกรรมที่พวกเราอยู่อาศัยอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่ามันสมเหตุสมผลที่เราจะสร้างงานชุดนี้ในสถานที่ที่สร้างเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา”

“เรานึกภาพไม่ออกว่าเราจะเอาอิฐบล็อกแท่งคอนกรีตพวกนี้ไปนั่งวาดที่บ้านเราได้ยังไง เพราะมันเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับสภาวะที่อยู่ข้างนอก มันก็ควรจะอยู่ในที่ของมัน อิฐ หิน ทราย ปูน มันก็มีบทสนทนาด้วยตัวของมันเอง การไปนั่งทำงานในร้านวัสดุก่อสร้าง ก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์อย่างหนึ่ง เพราะเราต้องไปคุยกับเจ้าของร้าน จนเขายอมให้เราเข้าไปทำงานในร้านทุกวัน”

“ตอนเรานั่งวาด เขาก็เดินมาคุยบ้าง นิดๆ หน่อยๆ บางทีเรานั่งทำงานก็ได้ยินคนมาสั่งซื้อของ กระเบื้องมุงหลังคาหนึ่ง ทรายสอง หินสาม พอเราได้ยินบ่อยๆ เราก็นึกเป็นภาพว่าเขาไปสร้างเป็นอะไร คำพูดที่เราได้ยินก็ไปประกอบเป็นสิ่งก่อสร้าง ทั้งสิ่งก่อสร้างจริงๆ และสิ่งก่อสร้างในจินตนาการของเรา ว่าพี่คนนี้เขาอาจจะกำลังทำร้านนวดหรือทำอะไร ร้านขายวัสดุก่อสร้างที่เราขอเข้าไปทำงานก็จะเป็นร้านแถวบ้านที่เรานั่งรถเมล์ผ่านบ่อยๆ”

“ร้านแรกจะเป็นอารมณ์แบบลูกทุ่งๆ เลี้ยงไก่ เลี้ยงนกในร้าน อีกร้านจะเป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่ติดฟุตปาธ ให้อารมณ์สิ่งก่อสร้างดี”

สิ่งก่อสร้างอย่างแท่งอิฐแท่งปูนเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการก่อรูปก่อร่างของสถาปัตยกรรมและอาคารบ้านเรือนที่เป็นที่พักพิงอยู่อาศัย อันเป็นต้นกำเนิดของบทสนทนาและเรื่องราวระหว่างทางที่เธอหยิบมาถ่ายทอดในผลงานชุดนี้

นอกจากจะล้อเลียนความเป็นเมือง ทั้งพื้นที่ภายนอก อย่างอาคารบ้านเรือนและถนนหนทางที่เธอเดินในชีวิตประจำวัน หรือพื้นที่ภายในที่พักอาศัย ด้วยการจัดวางตำแหน่งและความสูงของกลุ่มแท่งคอนกรีตและอิฐบล็อก และการเปิดพื้นที่ว่างระหว่างกองวัสดุก่อสร้างเหล่านี้แล้ว

อรวรรณยังสร้างมิติของพื้นที่ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชม ด้วยการทาสีเทารอบผนังห้องแสดงงาน โดยเหลือพื้นที่สีขาวไว้ให้มีความสูงเท่ากับประตูบ้าน เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปในห้องแสดงงานก็จะรู้สึกเหมือนกำลังถูกกดทับ ราวกับเดินอยู่ในห้องใต้ถุนที่มีเพดานเตี้ยยังไงยังงั้น

อ้อ นอกจากผลงานศิลปะดังที่กล่าวมาแล้ว นิทรรศการนี้ยังมีกิจกรรมสาธารณะที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

WALKING TOGETHER (INSIDE) กิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมได้รับเชิญให้เดินดูนิทรรศการและแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ร่วมกันกับศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเชิงลึกและข้อสังเกตต่อชิ้นงาน ในรูปแบบการสนทนาอย่างเป็นกันเอง ซึ่งจัดไปในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

WALKING TOGETHER (OUTSIDE) กิจกรรมการเดินสำรวจพื้นที่ในซอยสาทร 1 แบบกลุ่ม โดยศิลปินจะเลือกสถานที่ต่างๆ ภายในย่านดังกล่าว และเชิญผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมสำรวจพื้นที่เหล่านี้ไปด้วยกันกับเธอ

โดยคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึก ข้อสังเกต ข้อคิดเห็น และแนวคิดต่อสิ่งที่พวกเขาพบเจอ

โดยกิจกรรมจะดำเนินเป็นภาษาไทย และแปลเป็นภาษาอังกฤษ จัดในวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 15:30-16:15 น. รับผู้เข้าร่วมจำนวนจำกัดที่ 15 คน

ใครสนใจก็สามารถลงทะเบียนทาง [email protected] กันได้ตามสะดวก

และสุดท้าย BOOK LAUNCH : COUNTING, THE ARTIST”S BOOK กิจกรรมเปิดตัวหนังสือศิลปิน ที่ประกอบไปด้วยกระบวนการทำงานของศิลปิน เช่น ข้อเขียน ภาพถ่าย และวัตถุดิบในการทำงาน รวมถึงข้อเขียนโดย โฮ รุย อัน เพื่อนศิลปินและนักเขียนของอรวรรณ (ออกแบบสิ่งพิมพ์โดย มานิตา ส่งเสริม) ในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2562 เวลา 15:30-17:30 น.

นิทรรศการ COUNTING โดย อรวรรณ อรุณรักษ์ จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม – วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2562 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ +668-3087-2725

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่