ย้อนรอย Gripen “ทัพฟ้าไทย” เจาะปมดราม่าจัดซื้อ โหม่งโลกวันเด็ก คนหรือเครื่อง?

เป็นข่าวเศร้าในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2560 หลังเกิดเหตุเครื่องบิน Gripen 39C/D ประสบอุบัติเหตุตกขณะบินแสดงในงานวันเด็ก ที่กองบิน 56 จ.สงขลา ทำให้นักบิน น.ต.ดิลกฤทธิ์ ปัถวี นักบินเสียชีวิต

หากย้อนกลับไปดูการจัดซื้อเครื่องบิน Gripen 39C/D คณะรัฐมนตรีสมัย “บิ๊กแอ้ด” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติเห็นชอบ ให้กองทัพอากาศดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ แทนเครื่องบินขับไล่ F-5 หลังใช้มานาน 30 ปี ซึ่งมีสภาพเกินจะนำอะไหล่มาทดแทนให้มีความทันสมัยขึ้นตามกาลเวลาและภารกิจ

จนเป็นที่กล่าวขานในช่วงเวลานั้นว่า “เป็นผลผลิตจากรัฐประหาร 2549” อย่างแท้จริง

“ฝูงบินเอฟ 5 ที่กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี นี้ กำลังจะปลดประจำการ เพราะมีอายุการใช้งานมานานเกินที่จะปรับปรุงหรืออัพเกรดแล้ว เช่นเดียวกับฝูงบินเอฟ 5 ที่ จ.อุบลราชธานี คงมีอายุการทำงานไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่นานคงต้องปลดประจำการ” พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ. เผยครั้งการจัดซื้อ ปี 2553

กองทัพอากาศจึงตั้งคณะกรรมการการจัดซื้อเพื่อดำเนินการเจรจากับผู้แทนรัฐบาลสวีเดน โดยเห็นชอบร่วมกันในร่างข้อตกลงการซื้อขายเครื่องบิน Gripen 39C/D โดยแบ่งเป็น 2 เฟส รวม 12 ลำ กว่า 39,000 ล้านบาท ตกลำละ 3,250 ล้านบาท ให้ประจำการที่กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบรับข้อเสนอพิเศษจากรัฐบาลสวีเดน ประกอบด้วย เครื่องบินติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์ควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศ (AEW) เครื่องบินลำเลียงแบบ SAAB 340 รวม 3 เครื่อง การบูรณาการระบบ Data Link กับระบบควบคุมและแจ้งเตือนการป้องกันทางอากาศในภาคใต้ รวมทั้งทุนการศึกษาระดับปริญญาโท และความร่วมมือทวิภาคีด้านอุตสาหกรรม

 AFP PHOTO/GOVERNMENT HOUSE/HO 

หากเปรียบเทียบกับเครื่องบินที่เป็นตัวเลือกในเวลานั้น มีทั้งเครื่องบิน Rafale ของฝรั่งเศส เครื่องบิน SU 30 ของรัสเซีย สุดท้ายกองทัพอากาศได้ตัดสินใจเลือก เครื่องบิน Gripen 39C/D รวม 12 ลำ เท่ากับ 1 ฝูง ถือเป็นเครื่องบินเจเนอเรชั่น 4.5 ส่วนเครื่องบิน Rafale และเครื่องบิน SU30 ที่เป็นเจเนอเรชั่น 4.0

สิ่งที่ได้มาพร้อมเครื่องบิน คือ ระบบแจ้งเตือนทางอากาศ (AEW) และที่ติดเรดาร์ Erie Eye แบ่งเป็นเครื่องบิน SAAB 340 ที่ติด Erie Eye รวม 2 ลำ และที่ใช้ในการขนส่ง-ลำเลียง 1 ลำ

ในสมัย “บิ๊กต๋อย” พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข และ “บิ๊กเฟื่อง” พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทอ. ในห้วงเวลานั้น ได้ลงนามข้อตกลงในการซื้อขายที่ประเทศสวีเดน ด้วยเหตุผลมีความคุ้มค่ามากที่สุด ในสมัยรัฐบาล “บิ๊กแอ้ด” และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ครั้งละ 6 ลำ รวม 12 ลำ

ส่วนข้อสังเกตที่คณะกรรมการพิจารณาการจัดซื้อเลือกเครื่องบิน F/A-18 C/D ของสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่ไม่เลือกซื้อเพราะมีขนาดที่ใหญ่เกินความจำเป็นของกองทัพอากาศ เพราะเครื่องบิน F/A-18 C/D เหมาะกับภารกิจของกองทัพเรือมากกว่า ในการบินภาคพื้นทะเล โดยมีประจำการในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

พร้อมกันนี้มีการตั้งข้อสงสัยถึงราคา เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับที่รัฐบาลสวีเดนขายให้ประเทศโรมาเนีย พบว่าที่ขายให้ไทยมีราคาแพงกว่าเกือบเท่าตัว ซึ่งรัฐบาลโรมาเนียใช้งบประมาณ 40,000 ล้านบาท ได้ 24 ลำ ตกลำละ 1,666 ล้านบาท รวมการจัดฝึก การสนับสนุน การส่งกำลังบำรุง และโครงการที่เรียกว่า 100% Offset Programe ระยะเวลาการชำระหนี้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลา 15 ปี

อย่างไรก็ตาม ได้มีการให้เหตุผลว่า แม้การจัดซื้อของไทยแพงกว่าโรมาเนียเกือบเท่าตัว แต่ทางสวีเดนได้มอบเครื่องบิน SAAB 340 จำนวน 3 ลำ ให้กองทัพอากาศไทยฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมระบบแจ้งเตือนทางอากาศ (AEW) และที่ติดเรดาร์ Erie Eye

โดยเครื่องบินกริพเพ่น ได้เข้าประจำการแล้วใน กองทัพอากาศเช็ก กองทัพอากาศฮังการี ในโซนประเทศยุโรปตะวันออก และกองทัพอากาศแอฟริกาใต้

ภาพจาก Hatyai Social.com

“Gripen 39C/D เป็นเครื่องบินที่ดี มีสมรรถนะสูงจึงไม่ใช่เครื่องบินที่มีราคาแพง ประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างมากจากการจัดหา Gripen 39C/D เข้ามาประจำการ ส่วนข้อมูลต่างๆ ที่มีการแชร์ล้วนโกหกทั้งสิ้น หากต้องการรายละเอียดให้ย้อนไปดูที่มาของโครงการ” พล.อ.อ.จอม ยืนยันล่าสุด

สำหรับเหตุการณ์เครื่องบิน Gripen 39C/D ตกเมื่อสัปดาห์ก่อนในไทย จึงทำให้หลายฝ่ายกลับมาตั้งข้อสงสัยและสมมุติฐานของเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ ทั้งเครื่องบินและนักบิน เป็นการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่

“บิ๊กจอม” พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. ยืนยันว่า เครื่องบิน Gripen 39C/D เป็นเครื่องบินที่ดี มีสมรรถนะสูง ส่วน น.ต.ดิลกฤทธิ์ ก็เป็นนักบินที่มีชั่วโมงบินสูง มีศักยภาพ มีประสบการณ์ และท่าที่ใช้ในการบินก็ไม่ใช่การบินผาดแผลง เป็นท่าฝึกปกติเท่านั้น

ล่าสุด พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษก ทอ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุ ว่า คณะกรรมการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่มาจากสำนักนิรภัยการบิน เช่น กรมการสื่อสารทหารอากาศ กรมสรรพาวุธทหารอากาศ เป็นต้น ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุตั้งแต่พบตัวบันทึกข้อมูลการบิน ท่าทางการบิน และการสื่อสารทางการบินของเครื่องบิน Gripen 39C/D หรือ CSMU

ถือเป็นเครื่องที่สำคัญ เปรียบเป็น “กล่องดำ” ของเครื่องบินทั่วไป จะรู้สาเหตุการตกได้ง่ายขึ้น ต้องมีการวิเคราะห์ควบคู่กับด้านกายภาพและการติดต่อกับหอบังคับการบิน ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลและนำมาประกอบหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนจะทราบสาเหตุที่ชัดเจน

สำหรับสมมุติฐานเบื้องต้นมีการตั้งคำถามว่ามีสาเหตุมาจาก การหลงสภาพการบิน (SPATIAL DISORIENTATION) หรือไม่ หากดูจากทิศทางการบิน ที่บินมาตรงหน้าผู้ชมแล้วหมุนตัวประมาณ 1-2 รอบ ก่อนจะดิ่งลงพื้น

การหลงสภาพการบิน เป็นอาการที่นักบินรับรู้ถึงตำแหน่งที่อยู่ ท่าทางการทรงตัวในการบิน และการเคลื่อนที่ของอากาศยาน ในลักษณะที่สัมพันธ์กับแนวขอบฟ้า (Horizontal Line) ผิดพลาดไปจากที่เป็นอยู่จริง ผ่านอวัยวะรับรู้การทรงตัว (Organs of Orientation) เช่น ตา กล้ามเนื้อและเอ็น อวัยวะรับรู้การทรงตัวในหูชั้นใน

จากสถิติการหลงสภาพการบิน จะเกี่ยวข้องกับอากาศยานอุบัติเหตุกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอุบัติเหตุดังกล่าวมักเป็นอุบัติเหตุใหญ่ ที่ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

หากถามถึงทิศทางการบินแสดงของกองทัพอากาศจะเป็นอย่างไรนั้น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กำชับถึงความปลอดภัยให้มากขึ้น ให้ความระมัดระวังสูงสุดตามกฎนิรภัยและมาตรการความปลอดภัยของระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดแสดง

“กองทัพอากาศจะไม่กลัวการบิน การบินโชว์ ไม่ใช่การบินที่ใช้ท่าอันตรายใดๆ แต่บินแค่ให้มีเสียง หรือให้คนเห็นว่าประเทศไทยมีเสรีภาพ มีกองกำลังป้องกันตัวเอง และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ซึ่งการบินโชว์จะใช้ผู้ที่ผ่านการฝึกมาแล้วทั้งสิ้น” พล.อ.อ.จอม กล่าว

เพราะ “เครื่องบิน” และ “นักบิน” จะรวมเป็นสิ่งเดียวกัน ผ่านชั่วโมงบินนับพัน-นับหมื่นชั่วโมง กลิ่นของน้ำมันเครื่อง คือลมหายใจของนักบิน และเสียงเครื่อง เปรียบเป็นเสียงหัวใจของนักบิน นั่นเอง