จัตวา กลิ่นสุนทร : จากที่มาต่างกัน การเมือง (ไม่) เปลี่ยนแปลง?

เวลาผ่านไป การแถลงนโยบายของรัฐบาล (ผสม 19 พรรค) ได้ผ่านพ้นแล้วเช่นกัน แต่ยังต้องการจะพูดถึงบ้างในฐานะที่มีประสบการณ์เรื่องการเมืองมาพอสมควร

ขออนุญาตพักเรื่องราวที่เขียนติดต่อกันมาซึ่งยังค้างอยู่โดยเว้นวรรคไปสักตอน เนื่องจาก “มติชนสุดสัปดาห์” เป็นหนังสือรายสัปดาห์ดังชื่อที่ปรากฏ บางทีบางเรื่องราว บางครั้งบางคราวอาจต้องมองดูว่าล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับล้าหลัง เพราะไอ้ที่ล้ำหน้าแบบวิเคราะห์เจาะลึกก็มีให้เห็นเป็นประจำเสมอมา

พูดถึงการสืบเสาะค้นหาแบบเจาะลึกของผู้แทนฝ่ายค้าน บอกตรงๆ ว่าไม่ได้ใจสักเท่าไร เหมือนกับว่าเจาะไม่เข้า ไร้แหล่งข้อมูล ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันมีอยู่มาก

อย่างเช่น รัฐมนตรีบางท่านหลุดคดี แต่เพื่อนร่วมคณะกลับต้องได้รับโทษ ส.ส.ฝ่ายค้านก็ได้แค่ขี่ม้าเลียบค่าย แทนที่จะเจาะได้ถึงโยงใยของเขาว่าติดต่อผูกพันอยู่กับใครทีมไหนจึงได้มีการเอื้ออำนวยช่วยกันหลุดออกมา

ส.ส.ฝ่ายค้านไม่เสียสละถึงขนาดค้นคว้าไปถึงต่างประเทศ ถึงรายละเอียดเรื่องคดีความของบางคนมีอยู่จริงหรือไม่?

เป็นผู้มีอิทธิพลได้เพราะมีใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะว่าไปก็ยังไม่สาย เพราะว่าครั้งนี้เป็นการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่มีการลงมติแต่อย่างใด เก็บเอาไว้ตอนยื่นญัตติเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” หรือจะเจาะเป็น “รายกระทรวง” ก็ย่อมได้

ข้อมูลของรัฐมนตรีกับการบิดๆ เบี้ยวๆ ทำมาหารับประทานขณะเป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็มีอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ฝ่ายค้านยังไม่มีความสามารถถึงขนาดเจาะกำแพงเหล่านั้นหาข้อมูลเด็ดๆ มาได้

ไม่เหมือน ส.ส.รุ่นก่อนๆ ซึ่งจะว่าไปได้เรียงแถวกันสอบตกระนาว เนื่องจากไปลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองถูกยุบ รัฐธรรมนูญ 2560 จึงพ่นพิษร่วงไปตามๆ กัน

 

ใครๆ ย่อมรู้ว่าการก่อตั้งพรรคการเมืองต้องใช้เงินจำนวนก้อนโต จะต้องมีนายทุนของพรรคซุกซ่อนอยู่ สำหรับพรรคการเมืองอย่าง “พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ส่งผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งจนทั่วประเทศ ใช้จ่ายเงินทองไปไม่น้อย ไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้านค้นคว้าโยงใยที่มาที่ไปเส้นทางการเงินบ้างเลยหรือ? ว่า “นายทุนพรรคตัวจริงเป็นใคร?”

ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านมีอยู่หลายคน แม้จะเป็นแถว 2 แต่มีประสบการณ์สะสมพรรษามาไม่น้อย เคยมีอาชีพเป็นสายสื่อยังมีให้เห็น แต่ทว่าหาข่าวได้น้อยเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เรื่องราวมันมีเยอะแยะ รวมทั้งแนวทางที่สื่อพยายามชี้ให้ แต่เวลาอภิปรายมีแต่โวหาร เมื่อถูกฝ่ายรัฐบาลชี้แจงโต้กลับ บางทีบางท่านทำท่าว่าไปไม่เป็น

เท่าที่พยายามติดตามการประชุม 2-3 วันสามารถแยกให้เห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองใหม่ กับพรรคการเมืองเก่าๆ โดยเฉพาะ ส.ส.รุ่นเดอะๆ ทั้งหลายแตกต่างกัน

การอภิปรายของ ส.ส.รุ่นใหม่นั้นสอดแทรกด้วยเนื้อหาที่ตั้งใจค้นคว้าทำการบ้านมาด้วยความรู้ความเข้าใจจากการศึกษา

แต่ยังไม่มีลีลารสชาติ เช่นผู้มีประสบการณ์เดิมๆ ในสภาย่อมต้องให้เวลาเป็นเครื่องฟูมฟัก

เพราะฉะนั้น โดยภาพรวมๆ การเมืองในสภายัง “ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง” เท่าไร เป็นเพียงการเริ่มต้นที่พอมีความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่พรรคการเมืองใหม่ ที่จะช่วยกันสอดแทรกเข้าไปแทนที่ ส.ส.น้ำเน่าที่เอาแต่จะสร้างชื่อเก็บคะแนนให้ตัวเองด้วยการลุกยืนขึ้นประท้วงแบบไร้สาระ

โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเท่าที่เห็นก็มี ส.ส.หญิงขาประจำน้ำเน่า 2-3 คน อดีตดาราแก่ๆ กับ ส.ส.เสียงทองแดงจากจังหวัดทางปลายด้ามขวานอีกคนหนึ่ง?

 

สําหรับ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งวางแผนเหาะเหินเดินอากาศเข้ามาสู่สภา ดังที่ว่ากันว่ามีเครื่องมือกลไกทั้งหลายทั้งปวงสืบทอดอำนาจเข้ามา เพราะลำพังไปลงสมัครรับเลือกตั้งธรรมดาๆ ถึงยังไงก็ไม่ได้เป็นต่อแบบไม่ต้องลงจากเก้าอี้ (ที่ยึดอำนาจมา) อีกเลยเข้าปีที่ 6 แล้ว

หลายคนบอกว่า ความที่ไม่ค่อยเข้าใจและไม่ค่อยศึกษาข้อบังคับการประชุมสภา รวมทั้งอารมณ์อันฉุนเฉียวยามที่ถูกกระตุกต่อมเข้า จึงลุกขึ้นตอบโต้พร้อมชี้หน้าเหล่า ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นส่วนมาก ได้กลายเป็นเรื่องการสร้าง “สีสัน” ให้กับสภา

แต่สำหรับผมมีความเห็นว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์โวยวาย เสพติดอำนาจ ยังคิดว่าเป็น “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” ทำตัวยิ่งใหญ่ทั้งที่ได้อำนาจมาจากกระบอกปืนและการสนับสนุนของกองทัพ แบบนี้ภาษาชาวบ้านบอกว่าใครแตะอะไรไม่ได้ “ออกลูกนักเลง” ทันที

แม้จะไม่ค่อยได้ละสายตาไปไหนระหว่าง 2-3 วันที่มีการถ่ายทอดการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ แต่ดูเหมือนว่าระหว่างที่ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ ทุกอย่างล้วนดำเนินไปค่อนข้างไร้ปัญหา

แม้จะมีการประท้วงเป็นระยะๆ แต่ท่านประธานสามารถชี้ผิด-ถูกตัดสินใจดำเนินการอภิปรายไปได้เป็นอย่างดี

 

ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และอดีตประธานรัฐสภา ถึงแม้ท่านจะอยู่ในวัยเกิน 80 ปีหมาดๆ แต่ยังแข็งแรง แม่นยำข้อบังคับกฎหมายเสมอ ด้วยคุณวุฒิวัยวุฒิและชื่อเสียงเรื่องความสัตย์ซื่อ ตรงไปตรงมา และมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกยุคทุกสมัย ซึ่งย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการสะสมบารมีไปในตัว ความมีบารมีนี้สามารถเกิดความเคารพยำเกรงเชื่อถือในเหล่าสมาชิกด้วยเช่นเดียวกัน

ลองย้อนไปก่อนที่ท่านจะได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานรัฐสภา ขณะ “พรรคประชาธิปัตย์” บอกสังคมว่าจะมีการประชุมพรรคเพื่อลงมติว่าจะเข้าร่วมกับรัฐบาลหรือไม่? ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปสำหรับผู้ติดตามการเมืองจนเข้าเส้นเลือดว่า ถึงอย่างไรประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลแน่ๆ

ถ้าท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย ไม่รับตำแหน่งประธานสภา ท่านจะเดินไปยังเส้นทางไหนซึ่งไม่สวนกับมติพรรค คาดเดากันว่าย่อมต้องหนีไม่พ้นการลาออกจากสมาชิกเหมือนกับท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเช่นเดียวกัน หากท่านไม่ต้องการเปล่งเสียงโหวตเลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อท่านรับเป็นประธานสภา จึงต้องงดออกเสียง

ท่านประธานจึงต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเดียว

 

ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ซึ่งแน่นอนลากยาวมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนในตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง เป็นนักกฎหมายที่ได้รับเลือกมาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร การดำเนินการประชุมสมาชิก สนช.เป็นไปแบบสบายๆ เพราะมาจากแห่งเดียวกัน ถึงขนาดคุยว่าออกกฎหมายได้มากมายใน 5 ปี

แต่เพราะที่มาของท่านหรือไม่? อย่างไร? ที่เกิดความรู้สึกว่าอยากลองของของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ค่อยศรัทธา (สักเท่าไร) และเมื่อท่านขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานที่ประชุม จะมีการลุกขึ้นประท้วงมากมายจาก ส.ส.ซีกรัฐบาล

ซึ่งประชาชนทางบ้านมองดูว่าปัญหามักจะเกิดเวลานั้น มีความรู้สึกว่าเวลาประธานวินิจฉัยมักจะเอียงๆ ไปยังฝั่งรัฐบาลที่แต่งตั้งท่านมา

 

ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลผสมชุดนี้จะลากยาวไปได้สักกี่น้ำ ในเวลาเดียวกันอาจมีการแก้ปัญหาเรื่องเสียงปริ่มน้ำเพราะเริ่มมี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยย้ายพรรคกันบ้างแล้ว?

คงจะมั่นใจว่าฝ่ายค้านคงล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญน่าจะเป็นผลงานของรัฐบาลซึ่งได้เสนอไว้ตอนหาเสียงกับประชาชนก่อนการเลือกตั้งมากกว่า ขึ้นอยู่กับศักยภาพของ “รัฐมนตรี” ซึ่งเป็นคนหน้าเก่าๆ ร่วม 10 คน อย่างน้อย รองนายกรัฐมนตรี 3 คนยังหน้าเดิมๆ

เคยมีความหวังว่าการเมืองระบบรัฐสภาในสภาผู้แทนราษฎรจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า (บ้าง) ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 แต่ก็จบลงตรงอีกเพียงแค่ 3 ปี คือ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

หลังการเลือกตั้งมีนาคม 2562 พอมองเห็นเค้าลางของความเปลี่ยนแปลงเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นใหม่ๆ ที่เข้าสู่สภาพอสมควร จึงได้แต่ฝากความหวังว่า การเมืองบ้านเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ดีกว่า คือความเป็น “ประชาธิปไตย” ฝากถึง ส.ส.ฝ่ายค้านว่าขอให้พวกท่านทำงานกันอย่างหนัก ค้นหาเจาะลึกข้อมูลที่มีอยู่จริงให้ได้

เพื่อพบกันในที่ประชุมสภาในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า เมื่อรัฐบาลนำ “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563” จำนวน 3 ล้าน 2 แสนล้านบาท (อาจเพิ่มมากกว่านั้น)

การประชุมครั้งนี้ไม่มี (พี่เลี้ยง) ส.ว. (แต่งตั้ง) เข้าร่วมประชุม