เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : จุดเริ่มต้นอาชีพ “หนังสือพิมพ์”

ระหว่างเข้าไปเรียนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา และมีโอกาสพบพี่เสถียร จันทิมาธร ซึ่งเรียนชั้นปีที่ 4

การได้พบกันเพียงปีแรก เกิดประโยชน์หลายสถานกับผม

ขณะที่ทั้งพี่เสถียร กับ ขรรค์ชัย บุนปาน มักจะคุยกันเรื่องของหนังสือและคนเขียนหนังสือที่ทั้งสองคนอ่านกันมานักต่อนัก

ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนไทย หรือนักเขียนต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น หรือปรัชญา

โดยเฉพาะนักเขียนต่างประเทศ เช่น อัลแบร์ กามูร์ ซอมเมอร์เซ็ต มอม กีย์ เดอโมปัสซังต์ รวมถึงนักปรัชญา อาทิ อริสโตเติล โสเครติส คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เว้นแต่นักเขียนประเภทเรื่องสั้นบางคนที่เคยอ่านงานแปลประเภทเรื่องสั้น “หักมุม” ของ โอ เฮนรี่

ทำให้ผมมีความรู้งูๆ ปลาๆ ไปกับเขาด้วย ทั้งเป็นเหตุให้ผมศึกษาเรียนรู้เรื่องของปรัชญาหลังจากนั้นอีกสองสามปี

 

พี่เสถียร จันทิมาธร เป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้ผมมีตำแหน่งเป็นรองประธานชมรมภาษาไทย จึงทำให้มีโอกาสร่วมจัดทำหนังสือของวิทยาลัยครูสวนสุนันทา “แก้วเจ้าจอม” (หากจำไม่ผิด)

ครั้งหนึ่ง เมื่อทำหนังสือของโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ขรรค์ชัย เขียนเรื่องสั้นในชื่อ “แดงกับความเวิ้งว้าง” มาครั้งนี้ มีโอกาสได้ทำหนังสือของวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ขรรค์ชัย เขียนเรื่องสั้นชื่อ “ครูสุนันท์” ซึ่งเป็นชื่อของเพื่อนที่เรียนด้วยกันคนหนึ่ง

เรื่องนี้จบลงหลังจากที่เพื่อนครูสุนันท์พาครูสุนันท์นั่งเรือมาส่งที่โรงพยาบาลศิริราช จากอาการป่วยด้วยอะไรลืมไปแล้ว ครูที่พามาไปยืนหน้าพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระบิดา เงยหน้าขึ้นพูดว่า “อุดมคติต้องกินหลังอาหารใช่ไหมครับท่าน”

เหตุเพราะด้วยอุดมการณ์ความเป็นครู ทำให้ครูสุนันท์และตัวละครผู้ชายอาสาไปเป็นครูที่โรงเรียนห่างไกลความเจริญแห่งหนึ่งในอำเภอบางขุนเทียน

เมื่อได้เป็นรองประธานชมรมภาษาไทย ต่อมาเมื่อเรียนในชั้นสูงขึ้น มีโอกาสร่วมทำหนังสือของชมรมและของวิทยาลัย ปีต่อมา เรียนปีที่ 2 ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ผมสอบไม่ผ่าน ด้วยเหตุที่วิชาฝึกสอนซึ่งเป็นวิชาสำคัญของการเรียนวิชาครู

มีเพียงไม่กี่คนหรอกที่ไม่ผ่านการฝึกสอน

 

บันทึกไว้ตรงนี้ว่า การฝึกสอนของการเรียนฝึกหัดครูขณะนั้น (หรือแม้ขณะนี้) มีการฝึกสอนสองประเภท คือการฝึกสอนโรงเรียนในเมือง (กรุงเทพฯ) กับการฝึกสอนในโรงเรียนนอกกรุงเทพฯ เรียกว่า “ฝึกสอนชนบท”

สำหรับนักศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 4 คือปีที่ 2 สอนชั้นประถมศึกษา ซึ่งขณะนั้นมีถึงชั้นประถม 4 และปีที่ 4 สอนชั้นมัธยมน่าจะตั้งแต่ ม.1-ม.6 ตั้งแต่ภาคเรียนแรกถึงภาคเรียนที่สาม

ทั้งสองคนคือ พันธ์ศักดิ์ ธีรสานต์ จากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ มาสอบเข้าที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทาพร้อมกันกับ ขรรค์ชัย บุนปาน สมัครออกไปฝึกสอนชนบทในโรงเรียนแถบจังหวัดนนทบุรี ซึ่งขณะนั้นนับว่าไกลพอสมควร ต้องกินนอนที่โรงเรียน กลับกรุงเทพฯ ได้ในวันเสาร์อาทิตย์

ส่วนผมไม่ชอบออกนอกกรุงเทพฯ ทางวิทยาลัยจึงส่งไปสอนที่โรงเรียนวัดอินทาราม สี่แยกบางขุนพรหม ผมออกสอนภาคเรียนสอง

สอบฝึกสอนตกไม่เป็นท่า ไม่ใช่เพราะสอนไม่ดี แต่เพราะสอนไม่ครบเวลาที่กำหนด คือ 1 ภาคเรียน ผมไปสอนเพียงครึ่งภาคเรียน

แล้วทำไมครูที่ควบคุมการสอนจะให้ผ่าน

 

การเรียนในภาคเรียนสุดท้ายของปีที่สอง ผมมีโอกาสร่วมจัดทำหนังสือรุ่นให้รุ่นตัวเอง และมีโอกาสให้ร่วมจัดทำหนังสือรุ่นให้กับรุ่นต่อมาอีกรุ่นหนึ่ง

เป็นอันว่าต้องเรียนซ้ำปี 2 อีกหนึ่งปี ตามระเบียบ ซึ่งตามระเบียบอีกเช่นกัน ที่มีกำหนดว่า ผู้ที่เรียนซ้ำชั้นต้องสอบผ่านทุกวิชาทั้งสามภาคเรียน หากตกวิชาใดวิชาหนึ่งต้อง “ออก”

ฮ่า ฮ่า ฮ่า ผมสอบตกวิชาภาษาอังกฤษในภาคเรียนที่สอง แต่ยังดันทุรังขอเรียนให้ครบปี

เพราะมีโอกาสช่วยงานทำหนังสือทั้งของวิทยาลัยและหนังสือรุ่นเต็มที่ รวมถึงเรียนรู้เรื่องการทำงานโรงพิมพ์เพิ่มเติม นับเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของวิชาการหนังสือพิมพ์นอกห้องเรียน

(ต้องขออภัยผู้อ่านที่มิได้เรียงลำดับตามปีที่เกิดเหตุการณ์ เพราะต้องการเล่าเรื่องจากความจำเท่าที่จะทำได้ หากใครต้องการทราบถึงเหตุการณ์ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เอาไว้จะลองลำดับไว้ท้ายเรื่อง ดีไหมครับ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในภายหลัง)

 

โรงพิมพ์ที่ผมเข้าๆ ออกๆ จากการมีโอกาสทำหนังสือรุ่นของวิทยาลัยครูสวนสุนันทาคือโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ละแวกสี่กั๊กเสาชิงช้า (ในปีต่อมาได้มาเดินเข้าออกโรงพิมพ์ในละแวกนี้อีกหลายปี จากการทำนิตยสารช่อฟ้าที่โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ ถนนเฟื่องนคร ตรงข้ามวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ต่อมาเป็นสำนักงานแห่งที่สองของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนและประชาชาติธุรกิจ)

ละแวกสี่กั๊กเสาชิงช้า ละแวกถนนเฟื่องนคร ต่อเนื่องละแวกสี่กั๊กพระยาศรี คืออาณาบริเวณที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นก่อนมาเดินเหินเข้าออกและทำหนังสือพิมพ์ อยากทราบว่ามีหนังสือพิมพ์อะไรบ้าง มีใครบ้าง ลองสอบถามไปที่ เอนก นาวิกมูล หรือหาหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะได้รับความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งหนังสือชื่อ “พิมพการ” ที่สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์

ช่วงนั้น “รงค์ วงษ์สวรรค์ กลับจากไปดูงานและเรียนรู้งานหนังสือพิมพ์ที่สหรัฐอเมริกา จึงมีโอกาสได้รู้จัก เพราะขรรค์ชัยแนะนำ เนื่องจากขณะนั้นกลุ่มนักเขียนละแวกหน้าพระลาน มี สุวรรณี สุคนธา เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง จึงเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

ผมจึงมีโอกาสรู้จักนักเขียนกลุ่มนี้ด้วย

 

หนังสือ เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์ บันทึกไว้ว่า

“ต่อมาอาจารย์ปั๋ง (ชื่อเล่นที่รู้จักและเรียกขานมากกว่าชื่อจริง) ต้องไปเกณฑ์ทหาร จึงเริ่มเขียนเรื่องสั้นชุด “ไอ้เณร” ของตัวเองไปพลาง และได้พบกับ “รงค์ วงษ์สวรรค์ พอพ้นจากชีวิตลายพรางได้ไปช่วยทำหนังสือรายเดือน “เดือนมีนามสกุล” ตั้งแต่ฉบับแรก”

ขณะเดียวกัน ยังเข้าเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นสังกัดแผนกอิสระสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเปิดเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร 3 ปีให้บรรดานักข่าวนักหนังสือพิมพ์ได้มีโอกาสเรียนระดับมหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จประกาศนียบัตรแล้ว หากมีวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.8) จะได้ขึ้นเรียนในระดับปริญญาตรีต่อ

กระทั่งหนังสือรายเดือน “เดือนมีนามสกุล” หยุดไป เป็นช่วงเดียวกับ “สองกุมารสยาม” ถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานหนังสือพิมพ์อย่างจริงจังของทั้งสองคนโดยระดมทุนจากพรรคพวกเพื่อนและคนรู้จัก ตั้งโรงพิมพ์คือ “โรงพิมพ์พิฆเณศ”