รัฐบาลทหารหวังพลิกวิกฤตน้ำท่วม เป็นโอกาสได้ใจ-คะแนนนิยมชาวใต้ ปชป.หนาว..ทางสะดวก “บิ๊กตู่” อยู่ยาว

กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง กับปัญหาน้ำท่วม ที่คราวนี้เกิดขึ้นกับบริเวณภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด จากที่เมื่อช่วงปลายฤดูฝนปีก่อน ปัญหาน้ำท่วมได้เกิดขึ้นกับบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่าง ไล่ลงมาจนถึงภาคกลาง บริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ปราการด่านสำคัญก่อนจะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

แต่ด้วยการวางแผนจัดการน้ำล่วงหน้า การบริหารจัดการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน ตลอดจนการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เป็นระบบมากขึ้น ประกอบกับมวลน้ำที่ไม่ได้มากเหมือนปี 2554 ทำให้ปัญหาน้ำท่วมค่อยๆ คลี่คลายลง และไม่ส่งผลกระทบมายังกรุงเทพฯ อย่างที่หลายฝ่ายวิตก

เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของ “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ขุนพลคนสำคัญของ “บิ๊กตู่” ในฐานะเจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้สั่งการ บรรดาข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมชลฯ ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ก็ว่าได้

 

และหากกลับมาดูถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในปัจจุบัน ที่เกิดจากฝนตกหนักมากในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 ก็ถือว่า ครั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ มีเตรียมการและวางแผนรับมือล่วงหน้าได้ดีเช่นกัน

โดยก่อนที่ฝนจะตกหนัก ได้มีการระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไปยังจุดเสี่ยงต่างๆ และเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อพร่องน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด

รวมทั้งยังได้เตรียมการประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้า หากมีปริมาณน้ำในพื้นที่เข้าขั้นวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ด้วยข้อจำกัดในเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่แม่น้ำบางช่วงมีความแคบ คลองระบายน้ำมีขนาดเล็ก ประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ มีฝนตกหลายระลอก ส่งผลมวลน้ำฝนที่มีมากกว่าปกติ 2-3 เท่า ทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ลำบาก ท้ายที่สุดจึงเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณวงกว้าง

โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กระทรวงเกษตรฯ ก็ยังฉายแววผลงานได้ยอดเยี่ยม เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวจากคนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเร่งระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย การนำเรือเข้าไปช่วยเหลือ ลำเลียงอาหารและเสบียงให้ประชาชน รวมถึงอาหารและยารักษาโรค ปศุสัตว์ ตลอดจนการติดตามและให้ความรู้การดูแลพืชผลทางการเกษตร ไม้ยืนต้นในภาวะหลังน้ำท่วม

แม้ว่าในการลงพื้นที่ระยะแรกจะมีปัญหาตะกุกตะกัก มีข่าวลือ ข่าวปล่อยจำนวนมากจากทั้งโลกออนไลน์ และออฟไลน์ แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้ดี

 

และไฮไลต์สำคัญต่อมาที่ทุกคนต่างจับจ้อง คือ การดำเนินงานหลังน้ำลด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือและเยียวยาฟื้นฟูให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งอาจกลายเป็นขุมทองของใครหลายคน

ซึ่งจากข้อมูลที่เปิดเผยเบื้องต้นก็เรียกเสียงฮือฮาอยู่ไม่น้อย เพราะเกษตรกรชาวใต้จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 4 เด้งด้วยกัน!!!

เด้งแรก คือ เงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/2560 ครัวเรือนละ 3,000 บาท ครอบคลุมเกษตรกรด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงินงบประมาณ 2,259.72 ล้านบาท โดยจากการตรวจสอบตัวเลขเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับสำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ มีทั้งสิ้น 453,571 ครัวเรือน วงเงินรวม 1,360.71 ล้านบาท

เด้งที่ 2 ในกรณีที่พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร ภาคประมง และปศุสัตว์เกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลัง และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ด้านพืช รายละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,113 บาทต่อไร่ พืชไร่ 1,148 บาทต่อไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาทต่อไร่ กรณีพืชที่เพาะปลูกถูกหิน ดิน ทราย โคลนทับถม ได้เงินช่วยเหลือ 7,000 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 5 ไร่

ด้านประมง ปลาทุกชนิด ได้รับเงินช่วยเหลือ 4,225 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้ง ปู หอย 10,920 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 5 ไร่ บ่อ กระชัง 315 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) รายละไม่เกิน 80 ตร.ม.

ด้านปศุสัตว์ อาทิ โค อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือ 20,000 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 2 ตัว กระบือ อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 22,000 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 2 ตัว สุกร อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 10 ตัว แพะ แกะ อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 2,000 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 10 ตัว ส่วนไก่พื้นเมือง ไก่งวง อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 50 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 300 ตัว ไก่ไข่ อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 1,000 ตัว และไก่เนื้อ อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 50 บาทต่อตัว รายละไม่เกิน 1,000 ตัว

เด้งที่ 3 ในกรณีที่เกษตรกรเป็นชาวสวนยาง และได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(5) ของ พ.ร.บ.การยาง พ.ศ.2558 เพื่อเป็นสวัสดิการชาวสวนยาง ครัวเรือนละ 3,000 บาท วงเงินรวม 398 ล้านบาท โดยเบื้องต้นมีชาวสวนยางที่ได้รับความเสียหาย 95,789 ราย พื้นที่เสียหายรวม 739,936 ไร่

และเด้งที่ 4 เงินจากประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในกรณีที่เกษตรกรได้ทำประกันไว้ ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน 100 บาท ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559/2560

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเด้งจากมาตรการใหม่ของรัฐบาลที่ออกมาสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยของกระทรวงการคลัง โดยการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซ่มอสังหาริมทรัพย์ ตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ ตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกันแล้วไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึง 31 พฤษภาคม 2560

ไม่เพียงเท่านี้ กระทวงเกษตรฯ ยังเตรียมเทงบประมาณเพิ่มเติมลงภาคใต้อีก 30,000 ล้านบาท โดยโยกแผนโครงการก่อสร้างระบบชลประทานระหว่างปี 2563-2564 อาทิ โครงการก่อสร้างระบบชลประทานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี นราธิวาส และยะลา) รวมถึงโครงการผันน้ำ จ.นครศรีธรรมราช เริ่มดำเนินการภายในปี 2560 และอย่างช้าที่สุดในปี 2561 ซึ่งหากงบประมาณประจำปี 2560 ไม่เพียงพอ พล.อ.ฉัตรชัย รับปากว่าจะของบกลางจากรัฐบาล หรือไม่ก็ขอเป็นเงินกู้ เพื่อมาดำเนินโครงการให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

เรียกได้ว่า เป็นการซับคราบน้ำตาชาวใต้ให้หายเป็นปลิดทิ้ง แถมยังซื้อใจได้คะแนนนิยมจากพี่น้องชาวใต้ เป็นกองเชียร์รัฐบาลทหารไปอย่างท่วมท้นถล่มทลาย ล้างความทรงจำเก่าของภาพรัฐบาลนักการเมืองไปทันที

หากพลพรรคทหารตัดสินใจลงเลือกตั้งจริง เห็นทีงานนี้พรรคการเมืองเจ้าถิ่นอย่างพระแม่ธรณีบีบมวยผม “พรรคประชาธิปัตย์” คงหนาวๆ ร้อนๆ และอาจพ่ายไม่เป็นท่าก็ได้

ไม่แน่ว่า เลือกตั้งปีหน้า อาจได้เห็นรัฐบาลบิ๊กตู่ และขุนพลคนสำคัญอย่างบิ๊กฉัตร อยู่ยาววววไปด้วยกันอีกเทอม