วงค์ ตาวัน | มาจาก 3 จว.ใต้-ไม่เกี่ยวการเมือง

หลังสิ้นเสียงระเบิดนับสิบจุดทั่ว กทม.ได้ไม่นาน ยังไม่ทันรอฟังการตรวจสอบพยานหลักฐานจากตำรวจว่าเป็นฝีมือใคร กลุ่มผู้มีอำนาจไม่รอช้าที่จะออกมาพูดจากำกวม โยนไปให้กลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม ขณะที่ฝ่ายอคติทางการเมืองก็ไม่รอช้า กล่าวหาคนคิดต่างอย่างไม่ต้องรอฟังข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ความที่ยุคนี้ งานสืบสวนสอบสวนของตำรวจมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากมาย

“ทำให้การคลี่คลายเหตุระเบิดทั่ว กทม. เป็นไปอย่างรวดเร็ว”

สามารถจับตัว 2 ผู้ก่อเหตุที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทันควัน ขณะกำลังนั่งรถทัวร์ไปยังหาดใหญ่ เพื่อเดินทางลงไปในพื้นที่ชายแดน 3 จังหวัดใต้

จากนั้นการสืบสวนในจุดอื่นๆ ก็คลี่คลายตามไปด้วย ทำให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนว่าเหตุระเบิดที่ต่อเนื่องในเย็นวันที่ 1 สิงหาคม ถึงเช้าวันที่ 2 สิงหาคมนั้น

“ผู้ก่อเหตุทั้งหมดเกือบ 20 คน เดินทางขึ้นมาจากพื้นที่ไฟใต้ทั้งสิ้น!”

เป็นปฏิบัติการขยายพื้นที่ก่อเหตุเข้าสู่ กทม.แล้วอย่างเต็มตัว เพื่อแสดงศักยภาพในการต่อต้านอำนาจรัฐ อีกทั้งเป็นช่วงจังหวะที่ใน กทม.กำลังจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอยู่พอดี

จึงต้องการดิสเครดิตรัฐบาล และยกระดับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นที่รับรู้ในวงผู้ร่วมประชุมอาเซียน

แต่ก็นั่นแหละ แม้จะกระจ่างชัดว่ามาจากไฟใต้แน่ๆ ไม่เกี่ยวกับการเมืองกลุ่มเดิมๆ อะไรทั้งสิ้น

ก็ยังอุตส่าห์ตั้งข้อสงสัยว่า แม้คนก่อเหตุจะเป็นพวกขบวนการไฟใต้ แต่อาจจ้างวานโดยนักการเมืองก็ได้ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นไปไม่ได้

“ขบวนการไฟใต้เป็นกลุ่มต่อต้านรัฐ ที่ยากจะมีใครเข้าไปถึง หรือไปติดต่อจ้างวานได้”

ทั้งหลายทั้งปวง มีแต่ต้องยอมรับความจริง ต้องเร่งไปขบคิดหาทางคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ให้คลี่คลายลงไปกว่านี้

เพราะไม่มีใครรู้ว่าขบวนการไฟใต้จะบุกขึ้นมาแสดงศักยภาพให้ปรากฏอีกเมื่อไร ซึ่งน่าเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพของชาว กทม.อย่างมาก!

ในแฟ้มงานสืบสวนของตำรวจได้เคยระบุถึงเหตุระเบิดในเมืองกรุง เมื่อค่ำวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 ที่บริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 ซึ่งเป็นจุดที่มีแผงค้าขายตั้งอยู่จำนวนมาก ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ว่าเป็นการทดสอบปฏิบัติการของขบวนการไฟใต้

คดีนี้ตำรวจได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการแกะรอยจนรู้ได้รวดเร็วว่า คนก่อเหตุมาด้วยกัน 4 คน หลังก่อเหตุแล้ว ทั้ง 4 เดินทางไปขึ้นรถไฟ มุ่งหน้าลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ทันที

จึงทำให้จับกุมผู้ก่อเหตุทั้ง 4 ได้รวดเร็ว เป็นชาวนราธิวาสและชาวปัตตานี เดินทางเข้ามาเช่าบ้านพักย่านรามคำแหง แล้วประกอบระเบิด จากนั้นนำไปวางไว้จนเกิดระเบิดขึ้น

“โดยเป็นปฏิบัติการของขบวนการไฟใต้ ลักษณะทดสอบประสิทธิภาพการเข้ามาก่อเหตุในเมืองกรุง!”

แต่เนื่องจากทั้ง 4 โดนจับกุมอย่างรวดเร็ว และตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้มัดแน่น ส่งฟ้องดำเนินคดี จนศาลมีคำสั่งจำคุกไปเรียบร้อยแล้ว

“ทำให้ปฏิบัติการในการรุกเข้ามายังพื้นที่ กทม.เงียบหายไปนาน จนกระทั่งมาลงมือในต้นเดือนสิงหาคม 2562 นี้”

โดยหนนี้เดินทางมาไม่น้อยกว่า 15 คน ส่วนหนึ่งก็นำระเบิดเตรียมมาด้วย อีกส่วนก็มารับจากคนที่เตรียมการให้ในพื้นที่ กทม.

ขึ้นรถทัวร์มาจากหาดใหญ่ในค่ำวันที่ 31 กรกฎาคม มาถึงเช้าวันที่ 1 สิงหาคม แยกย้ายกันไปหาจุดเปลี่ยนเสื้อผ้า พร้อมกับไปรับลูกระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบไว้ให้พร้อม แล้วลงมือไปวางตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ เสร็จแล้วก็เดินทางด้วยรถทัวร์กลับไปยังหาดใหญ่ในเย็นวันที่ 1 สิงหาคม

“จนกระทั่งเช้าวันที่ 2 สิงหาคม ระเบิดที่ตั้งเวลาเอาไว้ก็ทำงานพร้อมๆ กัน ซึ่งทีมปฏิบัติการทั้งหมดจะพ้นจากพื้นที่ กทม.ไปหมดแล้ว”

แต่เนื่องจากจุดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ผู้ก่อเหตุใช้เวลาอยู่นาน เพราะอยู่ใกล้ริมถนนใหญ่ และเมื่อเอาระเบิดวางที่ริมรั้วแล้วเดินเลี่ยงไปยังห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า จังหวะนั้นมีผู้สังเกตเห็น จึงทำให้เจ้าหน้าที่มาเก็บกู้ในทันที

“เมื่อชัดเจนว่าเป็นระเบิดเวลา จึงเร่งระดมตรวจสอบจากกล้องวงจรปิด”

ทำให้เห็นชัดว่า ผู้ก่อเหตุเดินไปไหน เรียกแท็กซี่ไปยังสถานีขนส่งหมอชิต แล้วขึ้นรถทัวร์กลับหาดใหญ่ จึงสกัดจับได้ที่ย่านชุมพร ความจริงของขบวนการวางระเบิดทั่ว กทม.จึงกระจ่างอย่างฉับไว

ต่อมายังสามารถติดตามจับกุมได้เพิ่มเติมอีกหลายรายในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ รวมทั้งที่บริเวณด่านชายแดนขณะกำลังจะออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นอันสรุปได้ว่า ทีมระเบิดมาจาก 3 จังหวัดใต้ เป้าหมายคือสร้างผลสะเทือนต่อวงประชุมอาเซียน ไม่ใช่ระเบิดจากฝ่ายการเมือง!

มีความพยายามจะโยงถึงเหตุการณ์ระเบิดทั่ว กทม. เมื่อคืนวันเคาต์ดาวน์ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 1 มกราคม 2550 ซึ่งครั้งนั้นระเบิดนับสิบจุด มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย

เหตุการณ์นั้นไม่สามารถจับกุมใครได้เลย ได้แต่ภาพวงจรปิดที่ไม่ชัดเจน และไม่ครบถ้วนทุกมุม

น่าสังเกตว่า ระเบิดหนนั้น เกิดขึ้นหลังจากคณะ คมช.เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะรัฐประหารพยายามให้ข่าวโจมตีไปยังฝ่ายทักษิณ ว่าดิ้นรนหลังสูญเสียอำนาจ แต่ก็ขัดแย้งกับสภาพความจริง ด้วยเพิ่งมีการรัฐประหารได้ไม่นาน ฝ่าย คมช.กุมสถานการณ์ได้อยู่หมัด

“วิเคราะห์กันว่าเป็นระเบิดสร้างสถานการณ์การเมืองแน่ๆ ด้วยฝ่ายที่ต้องมีศักยภาพความพร้อมสูงนั่นเอง!”

ต่อมาได้เกิดระเบิดรุนแรงกลางกรุงอีกครั้ง ในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่บริเวณศาลพระพรหม ราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นเหตุการณ์เขย่าขวัญรุนแรง

เหตุเกิดในยุครัฐบาล คสช. แล้วก็รีบออกข่าวทันทีว่า ฝ่ายการเมืองอำนาจเก่าเป็นผู้ก่อเหตุ

ด้วยงานสืบสวนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ตำรวจยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นรอง ผบ.ตร.ฝ่ายสืบสวนปราบปราม แกะรอยมือระเบิดได้รวดเร็ว รู้ได้ทันทีว่าเป็นกลุ่มอุยกูร์ ที่เคืองแค้นรัฐบาลจีน และไม่พอใจที่ฝ่ายไทยส่งชาวอุยกูร์ที่หลบหนี กลับไปให้ทางการจีน การเลือกระเบิดที่ดังกล่าวเนื่องจากมักมีนักท่องเที่ยวจีนมาไหว้ศาลกันมาก

“จากนั้นติดตามจับกุมผู้ต้องหาชาวอุยกูร์ได้จำนวนหนึ่ง ทุกอย่างจึงคลี่คลายได้ชัด”

ต่อมามีเหตุระเบิดใหญ่เกิดขึ้นอีกในวันที่ 11-12 สิงหาคม 2559 ทั่ว 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

หลังระเบิดปุ๊บ ก็ออกข่าวซัดใส่กลุ่มการเมืองอำนาจเก่า หาว่าไม่พอใจที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ผ่านประชามติได้ในวันที่ 7 สิงหาคม

แต่ด้วยการสืบสวนอย่างรวดเร็วของตำรวจ ได้ร่องรอยพยานหลักฐานต่างๆ

“ชี้ว่าเป็นทีมระเบิดขึ้นมาจาก 3 จังหวัดใต้นั่นเอง โดยชนวนเหตุคือ ไม่พอใจรัฐธรรมนูญ ในประเด็นด้านศาสนา อีกทั้งพบว่าผลประชามติใน 3 จังหวัดใต้ เสียงส่วนใหญ่ไม่รับรัฐธรรมนูญ”

จากนั้นไม่นาน คสช.ต้องออกประกาศ แก้ไขสาระรัฐธรรมนูญในประเด็นศาสนาทันที เท่ากับยอมรับความเป็นจริงของเหตุระเบิด

จึงน่าสนใจว่า การขยายเขตของไฟใต้ที่ขึ้นมาถึง 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อสิงหาคม 2559 นั้น

“มาในสิงหาคม 2562 ก็เข้ามาลงมือถึงใน กทม.นับสิบจุดแล้ว”

เป็นสัญญาณเตือนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาไฟใต้นั้น ไม่ถูกจุดและไม่คลี่คลาย

แถมขยายวงขึ้นมาถึงเมืองหลวงแล้ว!!