จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 มกราคม 2560

100 วันฟ้าร้องร่ำไห้

ตามที่ มติชนสุดสัปดาห์ ได้ตีพิมพ์บทกวีเทิดพระเกียรติ ชื่อ “พฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 เทิดไท้รัชกาลที่ 10 ทรงราชย์” ในคอลัมน์ ขอแสดงความนับถือ ฉบับที่ 1898 (30 ธันวาคม 2559-5 มกราคม 2560) แล้วนั้น

ปรากฏว่า มีสมาชิก สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และสมาคมกวีร่วมสมัย ได้อ่านพบและชี้ข้อบกพร่องว่า

“อาจารย์สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ เป็นถึงกวีระดับชาติ มิน่าพลาดเรื่องโคลงสัมผัสระหว่างบทเลย

ในบทที่ 2 กับบทที่ 3 ถ้าเป็นการประกวดโคลงก็สอบตกตั้งแต่รอบแรก ถึงแม้ข้อความทั้งสำนวนดีมากทั้งรูปแบบ เนื้อหา ศิลปะ วรรณศิลป์ ก็ตาม

ยิ่งอาจารย์เป็นกรรมการตัดสินประกวดโคลงประกวดระดับชาติหลายต่อหลายครั้ง

นี่แหละสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

อนึ่ง หลังจากอาจารย์แก้ไขแล้ว ดิฉันขออนุญาตนำบทกวีสำนวนนี้ไปตีพิมพ์รวมเล่มถวายในหลวงพระองค์ใหม่เพราะเพียบพร้อมทั้งรูปแบบ เนื้อหา ศิลปะ วรรณศิลป์ ดียิ่งด้วยนะคะ”

ความว่า

2.ก่อ-กิจสรรพ์แซ่พร้อม ภักดี

เกียรติ-ราชวงศ์ทวี วากย์ไว้

ประ-ดับคู่บารมี ปิยมิตร

พันธ์- “รัตนโกสินทร์” ไซร้ ฉัตรซ้อนเหนือเศียร

3.ทรงราชย์สืบเนื่องซ้อง สวัสดิ์ศรี

“ศิวิไลซ์” เบิกปี เปี่ยมสร้าง

ยาตราเพ่งปฐพี สยามภพ

เรืองรุ่งแลสล้าง ค่าล้ำดังประสงค์

ดังนั้น ผมขอแก้ไขคำบางคำในโคลงบทที่ 3 จากคำว่า “ทรงราชย์สืบเนื่องซ้อง” เป็น “ทรงราชย์เพียรสืบซ้อง” เพื่อให้วลีคำว่า “เพียร” สัมผัสกับวลีคำสุดท้ายของบทที่ 2 คือ วลีคำว่า “เศียร” ขอได้โปรดแก้ไขตามนี้ด้วยนะครับ เพื่อความสมบูรณ์

อนึ่ง ผมขอยกตัวอย่างโคลงระดับบรมครูแห่งชาติ ของ “ขรรค์ชัย บุนปาน” ซึ่งเพียบพร้อม ทั้งรูปแบบ เนื้อหา วรรณศิลป์ เดียวกัน แต่เพิ่มลีลาศิลปะการเล่นคำ การเล่นความ ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันดียิ่งนัก ให้เป็นต้นแบบแก่อนุชนรุ่นต่อไป ใน “มติชนสุดสัปดาห์” หน้าที่ 4 ฉบับที่ 1888 (21-27 ตุลาคม 2559) ดังนี้

0 ฟ้าร้องฟ้าร่ำไห้ ลมหวน

ไม้ดอกไม้ใบอวล อบหล้า

พสกนิกรกำสรวล กำสรด

โศกสลดจรดแผ่นฟ้า แผ่นน้ำแผ่นดิน…

ข้าพระพุทธเจ้า บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

(นายขรรค์ชัย บุนปาน ประพันธ์)

ขอแสดงความนับถือ

สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ

เผลอแผล็บเดียว

“ฟ้าร้องฟ้าร่ำไห้” ครบ 100 วันแล้ว

ขออนุญาตใช้จดหมาย “สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ”

“โศกสลดจรดแผ่นฟ้า แผ่นน้ำแผ่นดิน” ร่วมกับพสกนิกรไทยทุกถ้วนคน

น้ำท่วม-ยุบกรมผังเมือง?

นํ้าท่วมบ่อยไม่เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ที่หาดใหญ่ก็เคยท่วมใหญ่ ในปลายปี 2559-ต้นปี 2560 ก็ท่วมหนักในภาคใต้หลายจังหวัด

ผังเมืองเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายกันเป็นอย่างมาก

ควรยุบกรมผังเมืองแล้วจ้างต่างชาติมาทำแทนเถอะ

ที่หาดใหญ่และนครต่างๆ ในภาคใต้ เป็นเมืองในที่ลุ่มที่น้ำจากยอดเขาต่างๆ สามารถไหลบ่าลงมาได้

เราคงไม่สามารถหยุดการไหลบ่าของน้ำจากพายุใหญ่หรือจากฝนตกตามธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม

แต่ในทางการผังเมือง เราสามารถที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ด้วยการสร้างกำแพงกันบ้าง

สร้างทางน้ำไหลหรือแม่น้ำเพื่อให้ประสิทธิภาพการไหลลงทะเลดีขึ้นบ้าง

หรือสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้สอยยามหน้าแล้งบ้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีผังเมืองไหนคิดถึงเรื่องแบบนี้

แม้แต่ผังเมืองกรุงเทพมหานครที่ประกาศใช้ในปี 2556 ปรากฏว่าปี 2554 น้ำท่วม ก็แทบไม่ได้ใส่อะไรที่จะแก้ไข-ป้องกันน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพไว้เลย (คงมีมาตรการแบบ “น้ำจิ้ม” บ้าง)

แต่ถ้าเราศึกษาผังเมืองไทยที่ดำเนินการโดยฝรั่ง คือ บริษัท Litchfield Whiting Bowne & Associates เมื่อปี 2500 โดยหวังจะนำมาใช้ในปี 2503

ปรากฏว่ายังมีการวางแผนที่จะให้มีแม่น้ำหรือคลองขนาดใหญ่จากรังสิตมาสะพานสูง บางกะปิ ลงทะเล และจากด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ลงสู่อ่าวไทยเช่นกัน

การผังเมืองไทยกลับไม่ได้นำมาใช้และเริ่มมีผังเมืองจริงปี 2535 ทำให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต

ในพื้นที่นอกเขตผังเมืองรวม แทนที่จะห้ามการก่อสร้างใดๆ กลับ “ปล่อยผี” เรื่อยมา

อาจกล่าวได้ว่าการดำรงอยู่ของราชการผังเมือง แทบไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องระหว่างผังเมือง กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเท่าที่ควร

การผังเมืองไทยสุดล้าหลัง เทียบกับประเทศอินโดจีน

จึง (ประชด) นำเสนอว่า ไทยเราควรว่าจ้างต่างชาติมาทำผังเมืองแทนไทยหรือไม่

ทำนองเดียวกับให้มีคุกเอกชน แทนการมีคุณของกรมราชทัณฑ์ เพื่อประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในการดูแลสังคมหรือไม่

ดร.โสภณ พรโชคชัย

เจอ “มหาวิกฤตน้ำ” ครบถ้วนโดยถ้วนหน้าแล้ว

ทั้ง อีสาน ใต้ ออก ตก และ กทม.

เราจะได้ยุทธศาสตร์ “น้ำ” ทั้งท่วมและแล้ง ที่พูดกันแล้วพูดกันอีก มาเป็นแนวทางแก้ไขวิกฤตหรือเปล่า

จะรอดู

แต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรหนักหนา

ดูอย่างเราพูดเรื่อง “ผังเมือง” สิ

มองไปรอบๆ ตัว เห็นอะไรที่เรียกว่า “ผังเมือง” บ้าง

ยุบไป ก็ไปเพิ่มคนตกงาน ให้มากขึ้นเสียเปล่า-เปล่า

เฮ้อ!!