ขอแสดงความนับถือ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 ม.ค. – 26 ม.ค. 2560

“อย่าเอาผมเป็นตัวอย่าง แต่เอาผมเป็นประสบการณ์”

เจ้าของประโยค ประโยคนี้คือ

“ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์”

เป็นประโยคแรกๆ ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าว ในวันที่ก้าวเดินออกจากเรือนจำ

เมื่อราวๆ 16.00 น. วันที่ 16 ธันวาคม 2559

 

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี

ในคดีรื้อบาร์เบียร์

หลังจากที่เขาอยู่เบื้องหลังกลุ่มชายฉกรรจ์หลายร้อยคน พร้อมรถแบ๊กโฮ บุกทำลายร้านบาร์เบียร์ บริเวณสุขุมวิทสแควร์ ซ.สุขุมวิท 10 แขวงและเขตคลองเตย กรุงเทพฯ เพื่อที่จะเคลียร์ที่ดินที่ซื้อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ 500 ล้านบาท มาเป็นของตนเองอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2546

“ผมได้แต่ยืนมองด้วยความสะใจ ในฐานะเจ้าของที่ดิน พร้อมกับนึกในใจว่า เตือนแล้วไม่ฟังเลยต้องเป็นแบบนี้”

นั่นคือความรู้สึกตอนแรกๆ ของชูวิทย์

ซึ่งหากเขารู้ว่า การรื้อบาร์เบียร์ดังกล่าว จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต

แบบ “จากสูงสุด ลงมาต่ำสุด”

เขาคงตัดสินใจอีกอย่าง

แต่วันนั้น เวลานั้น ชูวิทย์เลือก “ต้องพังกันไปข้างหนึ่ง”

 

ตลอด 12 ปีของการต่อสู้คดี

ภาพของชูวิทย์ ถูกนำเสนอออกมามากมาย ทั้ง นักธุรกิจ เจ้าพ่ออาบอบนวด มาเฟีย นักการเมือง ทั้งสนามเลือกตั้งใหญ่ และสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จอมแฉที่ดุเดือดเลือดพล่าน

การที่ “ชูวิทย์” ต้องมีภาพหลายๆ ภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นการดิ้นรนเพื่อมีจุดยืนในสังคม

ภาพต่างๆ เป็นดั่ง “เกราะ” ป้องกัน ให้เขายืนต่อกรกับคู่อริ ที่มีอยู่รอบตัว

ชูวิทย์ จึงมากด้วยสีสันและเรื่องราว

และที่สุดจบลงที่การเป็นนักโทษเด็ดขาด ถูกจำคุก 2 ปีจากคดีบาร์เบียร์ดังกล่าว

 

“ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก รู้สึกสำนึกผิด และยอมรับต่อสิ่งที่ทำผิด

ช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำจึงได้ช่วยงานกรมราชทัณฑ์ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่เก็บศพภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

รวมแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนถึงวันนี้เก็บศพมาแล้ว 80 ศพ และวันนี้ยังเก็บศพหญิงสาวที่ต้องโทษเป็นคนสุดท้ายด้วย

ผมอยู่กับศพ กับน้ำเหลือง กับอึกับฉี่

ใครคิดว่าผมใช้ความเป็นบิ๊กเนมใช้ความสุขในเรือนจำไม่จริง

และขอยืนยันว่าเป็นนักโทษเต็มตัว ไม่ได้อยู่สบาย หรือเป็นผู้ต้องขังบิ๊กเนมอย่างที่มีใครกล่าวถึง

ที่สำคัญ ผมรับโทษจริง ไม่ได้อ้างว่า บวชอยู่ ป่วยอยู่ หรือหนีคดีอะไร”

นั่นคือ ความรู้สึกของชูวิทย์

ที่กลั่นออกมาเป็นข้อสรุปของการใช้ชีวิตในเรือนจำ ว่า

“อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้”

 

อย่างไรก็ตาม นับเป็นความโชคดีของชูวิทย์

หลังจากชดใช้ความผิด จนเหลือโทษจำคุก 6 เดือน ปรากฏว่าเข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษ

ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ แก่นักโทษทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2559

มีผู้ต้องโทษที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัวทันทีประมาณ 30,000 คน ทั่วประเทศ

หนึ่งในนั้นก็คือ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” นั่นเอง

ทันทีที่ประตูเรือนจำเปิดออก ชูวิทย์กางสองแขนพร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ โชว์นักข่าว

พร้อมกับบอกว่า ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าอิสรภาพ และเสรีภาพ อีกแล้ว

คุกจะเป็นเพียงฝันร้ายที่จะไม่หวนกลับเข้าไปอีก

 

และอย่างที่ชูวิทย์บอกไว้ในตอนต้น

“อย่าเอาผมเป็นตัวอย่าง แต่เอาผมเป็นประสบการณ์”

พร้อมทั้งบอกว่า หากไม่อยากติดคุกอีกต้องไม่กลับไปเล่นการเมือง

ซึ่งชูวิทย์ก็ได้ไปสาบานต่อศาลเจ้าพ่อเสือ ที่จะไม่หวนคืนการเมืองอีก

พร้อมทั้งประกาศจะเดินเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชน

ทั้งในฐานะพิธีกรทีวีดิจิตอล “ชูวิทย์ ตีแสกหน้า”

ทั้งในฐานะนักเขียน โดยนำ “ประสบการณ์จากคุก” มาเขียนเป็นหนังสือ

น่ายินดีที่ชูวิทย์มอบต้นฉบับดังกล่าวให้ “มติชนสุดสัปดาห์” นำเผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป

มาดูสิว่ากระบวนยุทธ์ผ่าคุกของ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” จะดุเดือดแค่ไหน