วิช่วลคัลเจอร์/ ประชา สุวีรานนท์/ รีลีฟแม็ป : จากทหารสู่เด็ก (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

รีลีฟแม็ป : จากทหารสู่เด็ก (จบ)

 

ในแง่หนึ่ง รีลีฟแม็ปมีส่วนคล้ายแผนที่ของชาวอินูอิต (Inuit Map) หรือเอสกิโม ซึ่งทำด้วยไม้และแสดงเส้นชายฝั่งของกรีนแลนด์ (จากหนังสือ Topografisk Atlas Gr?nland, 2000) แผนที่อายุสามร้อยปีนี้ ที่พบเป็นไม้สามชิ้น ชิ้นขวาแสดงเกาะหรือแผ่นดินที่ติดทะเล ชิ้นกลางแสดงชายฝั่งอีกแถบหนึ่ง และชิ้นซ้ายแสดงฟยอร์ดชื่อ Sermiligaaq and Kangertivartikajik และเส้นทางระหว่างฟยอร์ดเหล่านั้น

แผนที่แบบนี้จะไม่มีเครื่องหมายบอกทิศ เพราะอ่านได้ทั้งจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน

ที่สำคัญคือ “อ่านด้วยมือ” หรือใช้การสัมผัสมากกว่าสายตาจึงเหมาะสำหรับชาวเรือเพราะทั้งทนเปียกและลอยน้ำได้ อีกทั้งยังอ่านได้เมื่ออยู่ในความมืดหรือกลางฝน

บิลล์ บักซ์ตัน Bill Buxton นักคอมพิวเตอร์ชื่อดัง ผู้เขียน Sketching User Experienc-es : Getting the Design Right and the Right Design ยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นตัวอย่างของการออกแบบที่ผู้ใช้ทั่วไปสนใจมากกว่าดีไซเนอร์

เขาบอกว่า ถ้าโจทย์ของมันคือบอกทิศทางขณะที่เรากำลังพายเรือแคนนูไปตามฝั่งของกรีนแลนด์ อย่างแรกคือเราจะใช้แผนที่กระดาษไม่ได้ เพราะอาจจะเปียกเพราะตกลงไปในน้ำ รวมทั้งยากที่จะพับหรือคลี่

อย่างที่สองคือ บนเรือนั้นมืดตลอดหกเดือน และหนาวเกินกว่าจะถอดถุงมือออก และต้องไม่ลืมว่า บนนั้นไม่มีโน้ตบุ๊ก ไม่มีสัญญาณ ซึ่งแปลว่าเราจะใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์อื่นๆ ไม่ได้

สุดท้าย บักซ์ตันสรุปว่า แผนที่ของชาวอินูอิตตอบโจทย์เหล่านี้ได้หมด โดยเฉพาะการอ่านด้วยมือและไม่กลัวเปียก มันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด รีลีฟแม็ปก็เช่นกัน เป็นตัวอย่างของการออกแบบที่เหมาะสม เพราะความเข้าใจบริบททางกายภาพและสังคมของมนุษย์

 

ในบทความเรื่องแบบจำลองภูมิประเทศ ผู้เขียนบอกว่าการพิมพ์รีลีฟแม็ปหรือแบบ Thermoplastic มีข้อจำกัดเนื่องจากแผ่นพลาสติกมีความบาง จึงเหมาะที่จะแสดงภูมิประเทศในมาตราส่วนเล็กและแสดงระดับพื้นที่ และไม่เหมาะสำหรับภูเขาที่สูงมากๆ และพื้นที่เมือง

แต่ปัจจุบันนี้การทำแผนที่ง่ายขึ้น แผนที่สามมิติที่มีรายละเอียดที่ถูกต้องกลายเป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษาหรือสำหรับเด็ก อาศัยโดรนกับ 3D ปริ๊นเตอร์ ซึ่งใช้เรซิ่นหรือวัสดุอื่นๆ ก็สามารถปริ๊นต์ภูมิประเทศออกมาได้

ทั้งสองสิ่งนี้หาซื้อได้จากร้านค้าทั่วไป รีลีฟแม็ปกลายเป็นของที่ DIY หรือทำเองก็ได้ง่ายจัง เพียงแต่กำหนดพื้นที่ที่ต้องการ ถ่ายรูปด้วยโดรน แล้วใช้แอพพ์ เช่น Drone Deploy ที่กำหนดเส้นทางการบิน และคำนวนหาความลึกหรือความสูง-ต่ำของพื้นที่จากภาพที่ถ่ายมาหลายๆ มุมได้ จากนั้นก็ต่อกับปริ๊นเตอร์ และพิมพ์ออกมาได้เลย

และถ้าไม่ผิดกฎหมาย จะทำหุ่นจำลองของพื้นที่ข้างๆ บ้าน โรงพยาบาลใหม่ หรือฐานทัพอากาศก็ได้

อวกาศก็เหมือนกัน ตอนนี้องค์การนาซ่าส่ง 3D ปริ๊นเตอร์ขึ้นไปและพิมพ์หุ่นจำลองของสเปซและดาวต่างๆ มาให้เราดูกันแล้ว โมเดลเหล่านี้จะถ่ายจากสถานที่จริง และทำในยานอวกาศนั้นเอง

 

ก่อนที่จะพาลูกสาวไปนครพนม ผมให้เขาดูแผนที่ท่องเที่ยว ซึ่งบอกตำแหน่งของสถานที่ต่างๆ ที่เราจะไป แต่เมื่อไปถึง สิ่งที่เราเห็นคือแม่น้ำโขงที่กั้นกลางทำให้เกิดความแตกต่างทางภูมิประเทศ ฝั่งลาวมีภูเขาและเนินจำนวนมาก ในขณะที่ฝั่งนครพนมเป็นที่ราบ

เมื่อกลับบ้าน ผมจึงเอารีลีฟแม็ปซึ่งใช้ความนูนบอกระดับของเทือกเขาต่างๆ มาให้เขาดู เราจะเห็นได้ชัดว่าดินแดนสองฝั่งโขงนั้นมีความแตกต่างกันมาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นที่ราบสูง ส่วนภาคกลางก็เป็นที่ราบทั้งหมด

ถ้ามีโอกาสในคราวต่อไป ผมก็จะสอนเขาว่าหลายร้อยปีมาแล้วที่ดินแดนสองฝั่งโขงนี้มีความแตกต่างกัน รวมทั้งอธิบายเรื่องคนและการกระทำของคนสองฝั่งนี้ด้วย

สำหรับอุบลราชธานี ซึ่งจะไปต้นเดือนสิงหาคมนี้ ผมจะใช้รีลีฟแม็ปชุดเดียวกันเพื่อบอกเล่าถึงความสูง-ต่ำของภูมิประเทศ และแม่น้ำโขงในลาว ซึ่งกำลังเป็นข่าวในแง่ที่ว่าเหือดแห้งเพราะการสร้างเขื่อนจำนวนมาก

นอกจากนั้น แผนที่ท่องเที่ยวยังหยุดแค่เขตประเทศไทย ส่วนประเทศลาวนั้นถูกมองข้ามไปหรือหายไปเฉยๆ รีลีฟแม็ปไม่เน้นการแบ่งประเทศหรือความเป็นชาติ เพราะเป็นแผนที่แสดงภูมิประเทศและทำขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม หรือสะท้อนมุมมองของผู้ทำว่าไม่ได้แยกประเทศเช่น ไทยกับลาว แต่มองทั้งภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ผมพูดมาแต่ต้นว่ารีลีฟแม็ปอ่านได้ง่ายเพราะใกล้ความจริงมากกว่า เพราะไม่ต้องถอดรหัสบางอัน แต่ต้องไม่ลืมว่าแผนที่อาจมีกำเนิดมาจากระเบียบวาระของคนวาดที่ไม่สอดคล้องกับของเรา รีลีฟแม็ปเป็นแผนที่การทหาร ซึ่งนอกจากจะหายากหรือปิดไว้เป็นความลับแล้ว ยังมีแนวคิดที่เฉพาะเจาะจงและถูกขยายเกินจริงไปบ้าง

รีลีฟแม็ปเป็นเพียงระบบเครื่องหมายแบบหนึ่ง คล้ายไดอะแกรมในหนังสือคู่มือ, วงจรไฟฟ้า หรือแบบเรียนวิชาเคมี ซึ่งต้องมีความชัดเจนในการแสดงความคิดเกี่ยวกับโลก แต่แตกต่างกันและไม่เหมือนความเป็นจริง

สำหรับเด็ก การดูรีลีฟแม็ป รวมทั้งการหัดทำแผนที่เอง ไม่ว่าจะเป็นแบบสามหรือสองมิติ ทำให้เขาเรียนรู้ว่ามีแผนที่แบบอื่นๆ อีกมากมาย