วิเคราะห์ : บทเรียนจากความผิดพลาด ธุรกิจแฟชั่นปฏิวัติดีแอนด์ไอ

ถึงเวลาปฏิวัติวงการกันอย่างจริงจังได้แล้วเสียทีหรือไม่ กับอุตสาหกรรมแฟชั่น

ที่ในระยะหลังผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่น ตลอดจนการทำแคมเปญต่างๆ ในการโปรโมตสินค้าของภาคธุรกิจนี้มักก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นจากหลากหลายทางไปในเชิงว่าเป็นการรุกล้ำก้าวล่วงขนบวัฒนธรรม จุดความเกลียดชัง

หรือเป็นการโหมกระพือการเหยียดผิว เชื้อชาติ ศาสนา ที่ยิ่งสร้างรอยร้าวแตกแยกในสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะเห็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ชาแนล แบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกสัญชาติฝรั่งเศส ได้ตั้งตำแหน่งงานขึ้นมาใหม่คือตำแหน่งหัวหน้าดูแลด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง (Diversity and Inclusion หรือ D&I ดีแอนด์ไอ)

เพื่อนำหลักดีแอนด์ไอที่เป็นการสนับสนุนเรื่องความหลากหลายและการยอมรับในความแตกต่างของบุคลากรในองค์กร โดยไม่มีการขีดขั้นแบ่งแยกเพศ อายุ สีผิว เชื้อชาติและศาสนามาใช้ในการบริหารองค์กรและเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ

เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์สินค้าของแบรนด์ตนเองต้องถูกปฏิเสธจากผู้บริโภคที่มีความรู้สึกไวต่อประเด็นการก้าวล่วงผิดมารยาทด้านเชื้อชาติ ศาสนาหรือวัฒนธรรม

ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สังคมโลกในปัจจุบันตื่นตัวให้การตระหนักมากขึ้น

 

ด้านกุชชี่ แบรนด์หรูสัญชาติอิตาลีอีกเจ้า ก็มีการตั้งตำแหน่งหัวหน้างานด้านดีแอนด์ไอขึ้นมาเช่นกัน หลังจากพราด้า แบรนด์แฟชั่นดังจากอิตาลี และเบอร์เบอร์รี่ แบรนด์ดังฝั่งอังกฤษ ได้ดำเนินการในลักษณะนี้ไปก่อนแล้ว

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งตำแหน่งงานใหม่นี้ขึ้นของบริษัทแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกที่กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะตอบสนองต่อเสียงวิจารณ์ว่าแบรนด์สินค้าหรูเหล่านี้ขาดความตระหนักใส่ใจต่อลูกค้าและสังคมโดยรวม

หลังจากผลิตภัณฑ์สินค้าและแคมเปญโปรโมตแบรนด์หรูหลายกรณีที่ทำออกมาแล้วกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคม ทั้งที่เป็นลูกค้าหรือไม่ได้เป็นลูกค้าของแบรนด์สินค้าดังกล่าวก็ตาม

เช่นกรณีของกุชชี่ ที่ในปีที่แล้วผลิตผ้าโพกศีรษะออกมาขายในราคา 790 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,500 บาท) ซึ่งตกเป็นที่วิจารณ์หนัก เนื่องจากผ้าโพกศีรษะแบบแฟชั่นดังกล่าว มีลักษณะเหมือนกับผ้าโพกศีรษะของชาวซิกข์ ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาซิกข์ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย

ซึ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นการเอาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนามาล้อเลียนอย่างไม่เหมาะสม

 

หรือแคมเปญโฆษณาของดอลเช่แอนด์กาบบานา แบรนด์ดังอิตาลี เพื่อโปรโมตงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ที่จัดที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็ถูกสังคมโลกประณามหนักจากการให้นางแบบสาวชาวจีนที่เป็นนางแบบในโฆษณาตัวนี้ ใช้ตะเกียบคีบกินพิซซ่า สปาเกตตีและขนมอิตาเลียนด้วยท่าทางเก้ๆ กังๆ

เนื้อหาและภาพดังกล่าวกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนที่ไม่จำกัดวงเฉพาะแค่ชาวจีนเท่านั้นที่มองว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามชาวจีน

ผลของโฆษณาตัวดังกล่าวไม่เพียงทำให้งานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์หรูเจ้านี้ต้องถูกบอยคอตจากเซเลบคนดังในเอเชียที่ได้รับเชิญไปร่วมงานและทำให้ต้องยกเลิกการจัดงานไปแบบไม่เป็นกระบวนท่าเท่านั้น

หากยังทำให้สินค้าของดอลเช่แอนด์กาบบานาถูกบอยคอตจากเว็บไซต์ขายสินค้าแบรนด์หรูของจีนที่ถอดสินค้าของแบรนด์นี้ออกจากเว็บไซต์ในทันที

ซึ่งหนึ่งในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของจีนระบุว่า ตอนนั้นเว็บไซต์ของตนเองถอดสินค้าของแบรนด์นี้ออกจากการขายไปมากถึง 60,000 รายการ

หรือกรณีของเบอร์เบอร์รี่ ที่ผลิตเสื้อมีฮู้ด มีเชือกผูกคล้ายบ่วง แสดงในงานลอนดอนแฟชั่นวีก ก็ถูกวิพากษ์ว่ากระทบต่อความรู้สึกในประเด็นด้านสุขภาพจิต เป็นต้น

 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถูกแพร่ขยายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว

โดยมีโซเชียลมีเดียและวงจรการรายงานข่าวตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพล ที่จะทำให้ปฏิกิริยาสะท้อนกลับในเชิงลบที่มีต่อผลิตภัณฑ์สินค้าและแคมเปญของแบรนด์นั้นๆ ถูกมองว่าไม่เหมาะสมหรือกระทำในสิ่งที่ก้าวล่วงผิดมารยาทดังที่หยิบยกมาข้างต้น ให้แผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างได้อย่างหนักหน่วง รุนแรง

และเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจนก็คือ ยอดขายสินค้า

การจะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับเชิงลบเช่นนี้ได้ก็ควรจำเป็นจะต้องตัดไฟเสียแต่ต้นทาง ไม่ว่าความผิดพลาดนั้นจะเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจหรือตั้งใจที่จะสร้างกระแสก็ตาม

โดยมุมมองของผู้คร่ำหวอดในแวดวงแฟชั่นอย่างเย่ ซี อดีตบรรณาธิการของนิตยสาร Elle ชาวจีน มองว่าช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมของตะวันตกและเอเชียควรจะต้องได้รับการประสานให้เชื่อมถึงกันเพื่อให้ช่องว่างเหล่านั้นลดเลือนลงไป

โดยเธอเชื่อว่าการว่าจ้างบุคลากรที่เป็นคนในพื้นที่หรือเคยอาศัยอยู่ในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายของบริษัทแบรนด์แฟชั่นนั้นๆ ให้เข้ามาร่วมงาน จะเป็นข้อดีทั้งขององค์กรและผลิตภัณฑ์สินค้าของแบรนด์นั้นเอง ในแง่ของการรู้เขารู้เรา

ซึ่งจะทำให้แบรนด์นั้นมีความเข้าใจเข้าถึงตลาดผู้บริโภคของตนเองได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น และยังป้องกันปัญหาการกระทำผิดที่ไม่ควรเกิดขึ้นดังที่ยกตัวอย่างมาได้อีกทางด้วย

 

นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความไม่เท่าเทียมในหลายด้าน ทั้งความไม่เท่าเทียมทางเพศ ค่าจ้างแรงงาน สีผิว เชื้อชาติ ดังข้อมูลของสภาแฟชั่นดีไซเนอร์แห่งอเมริกา (ซีเอฟพีเอ) ที่ระบุว่าบุคลากรในวงการแฟชั่นในสหรัฐส่วนใหญ่เป็นคนขาว

มีเพียงไม่ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นคนผิวสี ขณะที่ผลสำรวจธุรกิจแฟชั่นของ 50 แบรนด์โลกในปี 2015 ระบุว่ามีผู้หญิงที่นั่งในตำแหน่งระดับผู้บริหารของแบรนด์ดังๆ มีอยู่แค่ 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งในรายงานของซีเอดีเอชี้ว่าการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลา

ที่ขณะนี้หลายแบรนด์หรูชั้นนำได้เริ่มลงมือปฏิวัติตัวด้วยการลงทุนในด้านดีแอนด์ไอกันอย่างจริงจังแล้ว เพียงแต่ว่าความริเริ่มเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าการออกมาขอโทษและถอดสินค้าออกจากตลาด!