จิตต์สุภา ฉิน : รถต่อเน็ตได้ ก็ถูกแฮ็กได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

รถรุ่นใหม่ๆ เดี๋ยวนี้มักจะมาพร้อมกับฟีเจอร์การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ทำให้เจ้าของรถสามารถใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในการสั่งการรถยนต์ในรูปแบบต่างๆ ได้

เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นสตาร์ตรถ เปิดแอร์ เปิดไฟ กดแตร ล็อก ปลดล็อก หรือแม้กระทั่งตรวจสอบโลเกชั่นว่าตอนนี้รถอยู่ที่ไหน ไปจนถึงระบบความบันเทิงภายในรถที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา

ทั้งหมดนี้ ก็ทำให้ผู้ขับขี่ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

แต่ก็เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ คือมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ซึ่งข้อเสียของมันอาจจะให้ผลกระทบที่รุนแรงกว่าที่เราคิด

ลองนึกภาพรถที่วิ่งไปบนถนนที่มีการจราจรพลุกพล่าน จู่ๆ รถของเราก็หยุดลงอย่างไม่มีเหตุผล ไม่ว่าเราจะเหยียบคันเร่งจนจมอย่างไรรถก็ไม่ยอมขยับ

มองไปรอบๆ ก็พบว่านอกจากรถเราแล้วก็ยังมีรถคันอื่นๆ อีกไม่น้อยที่กำลังประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน

และถึงจะไม่ใช่รถทุกคันที่หยุดกึก แต่การที่รถหนึ่งในห้าคันบนถนนหยุดพร้อมๆ กัน ก็แย่เพียงพอที่จะทำให้การจราจรติดขัดถึงขีดสุด

รถบางคันเบรกกะทันหันจนรถที่ตามมาข้างหลังชนท้ายเข้าอย่างจัง รถฉุกเฉินไม่สามารถฝ่าการจราจรอันเป็นอัมพาตเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บได้

ความโกลาหลวุ่นวายเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

 

นี่เป็นภาพเหตุการณ์ที่รายงานชิ้นหนึ่งใน Physical Review E ลองให้ผู้อ่านนึกจินตนาการตาม

รายงานชิ้นนี้จัดทำโดยนักวิจัยจาก Georgia Tech ที่ต้องการจะเปิดเผยให้ทุกคนได้เห็นว่าการโจมตีทางไซเบอร์ที่กระทำต่อรถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้นั้นจะส่งให้เกิดผลกระทบกับโลกความเป็นจริงอย่างไรบ้าง

ภัยอันตรายที่มาพร้อมกับรถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ก็เป็นไปในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการที่แฮ็กเกอร์จะเข้าจู่โจมคอมพิวเตอร์สักเครื่อง

ต่างกันที่เวลาแฮ็กเกอร์โจมตีคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อการล้วงเอาข้อมูลออกมา ความเสียหายอาจจะอยู่ในรูปแบบตัวเงินและความเสื่อมเสียทางชื่อเสียงเป็นหลัก

แต่เมื่อแฮ็กเกอร์จู่โจมรถยนต์ประเภทเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกลับรุนแรงกว่ามาก เพราะอาจจะหมายถึงเลือดเนื้อ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตของคนจำนวนมาก

ทีมนักวิจัยนี้สร้างการวิจัยขึ้นมาเพื่อหาว่ารถยนต์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหรือรถยนต์ไร้คนขับมีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง เช่น แฮ็กเกอร์สามารถเข้ามาควบคุมรถยนต์ได้จากระยะไกลและทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน แฮ็กเกอร์บังคับให้รถหยุดกะทันหันด้วยการหลอกเซ็นเซอร์ของรถว่าอยู่ในสถานการณ์ที่รถควรเบรก หรือแม้กระทั่งการที่รถตรวจจับได้เองว่ากำลังถูกจู่โจมทางไซเบอร์และตัดสินใจปิดระบบทิ้งทันที

เพื่อทำให้เห็นภาพชัดๆ ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์จู่โจมที่ว่าขึ้นมันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเมืองทั้งเมือง

นักวิจัยทีมนี้ก็เลยจำลองสถานการณ์ขึ้นมาด้วยการใช้โมเดลทางฟิสิกส์ขั้นสูงและเลือกสถานที่เป็นย่านแมนฮัตตันเพราะมีข้อมูลแผนที่และการจราจรที่มากเพียงพอ

พวกเขาพบว่าในช่วงเวลา rush hour ที่ผู้คนเดินทางพร้อมกันเยอะๆ หากมีรถยนต์ที่ถูกแฮ็กให้วิ่งต่อไม่ได้เพียงแค่ 20% ของรถยนต์บนถนนทั้งหมด ก็มากเพียงพอแล้วที่จะทำให้การจราจรหยุดนิ่ง แม้ว่ารถที่ถูกแฮ็กจะไม่ได้ปิดถนนครบทุกเลน แต่การที่รถหยุดสลับตำแหน่งกันไปก็ทำให้รถที่เหลือไม่สามารถถ่ายเทได้ก็จนการจราจรหยุดนิ่งเป็นอัมพาตในที่สุด ไม่จำเป็นเลยว่าสถานการณ์จะเลวร้ายขึ้นถ้าหากว่ารถยนต์ถูกแฮ็กมากกว่า 20% เพราะถือว่าสภาพการจราจร ณ จุดนั้นไม่สามารถแย่ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

นักวิจัยเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้ไปเกิดขึ้นกับเมืองอื่นที่ไม่ได้มีระบบการจัดผังเมืองแบบเป็นตารางเหมือนแมนฮัตตันก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่กว่านี้อีก

 

เหตุการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการจำลองภาพให้เห็นว่าสักวันหนึ่งในอนาคตถ้าวันนั้นมาถึง แค่ 20% ของรถบนถนนถูกแฮ็กก็มากเพียงพอแล้วที่จะทำให้สถานการณ์เข้าขั้นวุ่นวายได้

ภัยจากการที่รถยนต์ถูกแฮ็กเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากสักเท่าไหร่ กลุ่มเฝ้าดูแลผู้บริโภคเพิ่งจะออกมากล่าวหาว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะค่ายรถยนต์แข่งกันออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ทำให้รถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้เนื่องจากต้องการผลกำไรที่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาโต้แย้งว่าอันที่จริงแล้วผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่น้อยและใส่ใจตั้งแต่การออกแบบแรกเริ่มเพื่อให้รถที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้มีความปลอดภัยมากที่สุด

กลับมาที่สถานการณ์ที่เราวาดภาพกันเอาไว้ข้างต้น โชคยังดีที่นักวิจัยทางด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และเคยทดลองแฮ็กยึดรถมาสำเร็จแล้วอย่าง Chris Valasek ยืนยันว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายขนาดนั้น ลำพังแค่จะแฮ็กรถให้ได้หนึ่งคันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ต้องพูดถึงการที่จะทำพร้อมๆ กันกับรถ 20% บนถนนเลย

เขาบอกว่ารถยนต์แต่ละคันมีระบบที่แตกต่างกัน หากจะแฮ็กให้ได้พร้อมๆ กัน ก็อาจจะต้องมาจากช่องโหว่ของบริษัทผู้ผลิตรถขนาดใหญ่เพียงรายเดียว แต่การที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็ยาก เพราะบริษัทรถยนต์จำนวนมากออกแบบฟังก์ชั่นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้แยกฟังก์ชั่นที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อระบบความปลอดภัยออกจากฟังก์ชั่นทั่วๆ ไป อย่างเช่นฟังก์ชั่นเพื่อความบันเทิง

หากแฮ็กเกอร์จะเจาะเข้ามาป่วนระบบความบันเทิงภายในรถก็คงจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเท่ากับการที่เจาะเข้ามาบังคับพวงมาลัยแทนเรา ซึ่งระบบที่มีผลต่อความปลอดภัยนั้นบริษัทรถยนต์ก็ไม่ได้ทำให้แฮ็กเข้าไปได้ง่ายๆ

 

อันที่จริงไม่ใช่แค่ทำให้ระบบจราจรพังไปทั้งเมืองได้ แต่ภัยจากการแฮ็กรถยนต์อาจจะรวมไปถึงการที่แฮ็กเกอร์เข้ามาควบคุมระบบและใช้รถยนต์คันนั้นๆ ในการก่อการร้าย อย่างการสั่งให้พุ่งตรงไปที่ฝูงชนจำนวนมากในรูปแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในฝรั่งเศส แตกต่างกันตรงที่ หากเป็นกรณีนี้ก็อาจจะไม่มีใครจำเป็นต้องอยู่หลังพวงมาลัยเลยก็ได้

นอกจากผู้ผลิตรถยนต์จะต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของรถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้มากที่สุดแล้ว ผู้ใช้งานอย่างเราก็ต้องเรียนรู้วิธีใช้รถประเภทนี้อย่างถูกต้องเหมือนกัน เช่น ควรศึกษาวิธีการเชื่อมต่อโทรศัพท์เข้ากับรถยนต์อย่างถูกต้อง หากไปเชื่อมต่อกับรถที่ไม่ใช่ของเรา เมื่อไม่ใช่รถแล้วก็จะต้องลบข้อมูลโทรศัพท์ออกจากรถคันนั้นเสมอ และที่สำคัญคือหมั่นดูแลและอัพเดตระบบให้สม่ำเสมอทั้งระบบของรถยนต์และระบบของโทรศัพท์

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ท้ายที่สุด สิ่งที่ค่ายรถยนต์ต้องนำกลับไปขบคิดต่อหลังจากได้เห็นงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือการที่จะต้องทำตัวเลือกให้มนุษย์สามารถเข้าควบคุมรถยนต์ได้ทุกเมื่อ อนาคตของรถอัตโนมัติไม่ควรเป็นห้องเคลื่อนที่ได้ที่มีแต่เก้าอี้เพื่อให้คนเข้าไปนั่งสบายๆ แต่ควรจะยังต้องเหลือพวงมาลัยและระบบขับแบบเดิมเอาไว้

ในวันที่เทคโนโลยีพัง อย่างน้อยตนก็ยังเป็นที่พึ่งแห่งตนต่อไปได้