วิเคราะห์ : ชะตากรรมนักปั่นเมืองไทยกับชีวิตบนท้องถนน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

อุบัติเหตุรถยนต์ชนจักรยานหน้าเทศบาลตำบลสันทราย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ทำให้ว่าที่ ร.ต.สุรพล ตาสิงห์ นักปั่นสองล้อเสียชีวิต

เป็นอีกเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดของคนรักการปั่นจักรยาน

ว่าที่ ร.ต.สุรพล เคยรอดชีวิตจากเหตุการณ์นักศึกษาเมาแล้วขับรถชนมาเมื่อ 4 ปีก่อน

ในครั้งนั้นเพื่อนนักปั่นร่วมก๊วนเสียชีวิต 3 คน

มีผู้บาดเจ็บ 2 คน 1 ในนั้นคือว่าที่ ร.ต.สุรพล

เมื่อรักษาจนหายดีแล้ว ว่าที่ ร.ต.สุรพลกลับมาปั่นจักรยานอีกแล้วก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

คนขับรถยนต์พุ่งชนว่าที่ ร.ต.สุรพล เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งตรวจวัดพบมีระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่ากฎหมายกำหนด

คุณวาสนา ตาสิงห์ ผู้เป็นภรรยา บอกว่า สามีชื่นชอบและรักการปั่นจักรยานมากเป็นชีวิตจิตใจ เห็นได้จากภาพถ่ายทุกภาพที่ปั่นจักรยานจะมีแต่รอยยิ้ม และออกจากบ้านไปปั่นจักรยานออกกำลังกายทุกวัน วันละเกือบร้อยกิโลเมตร

“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสามีเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ได้แล้ว แต่อยากฝากเตือนทั้งคนขับรถและคนปั่นจักรยานให้ระมัดระวัง ไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก” คุณวาสนาบอกผ่านสื่อ

ในฐานะคนปั่นจักรยานขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว “ตาสิงห์” ด้วย

 

นักปั่นบ้านเรามีโอกาสเสี่ยงอันตรายสูงมากในการขี่จักรยานบนท้องถนน

หลายๆ ครั้งที่นักปั่นจักรยานเจอรถเก๋ง รถเมล์ รถบรรทุกขับเบียด หรือบีบแตรไล่ให้พ้นทาง

ไม่ว่าจะเป็นเพราะคนขับรถยนต์ไร้วินัย ไม่เคารพกฎจราจร หรือมีอคติกับคนปั่นจักรยาน

แต่สะท้อนให้เห็นว่านักปั่นจักรยานมีความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทุกครั้งที่ปั่นบนถนนในเมืองไทย

วันนี้ทั่วโลกต่างยอมรับว่าจักรยานคือพาหนะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้โลกน่าอยู่

จักรยานมีราคาถูกกว่ารถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องเติมน้ำมันให้สิ้นเปลืองทรัพยากร

ไม่ปล่อยควันพิษให้เป็นอันตรายกับผู้คน

การปั่นจักรยานช่วยให้สุขภาพจิตดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง

ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ช่วยชาติประหยัด

รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงสนับสนุนการสร้างทางจักรยาน เชิญชวนให้คนปั่นจักรยานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

บางประเทศนั้นนอกจากมีไบก์เลนกว้างขวางเชื่อมโยงในทุกจุดตั้งแต่หมู่บ้าน ชุมชน สถานีรถไฟ รถบัส สนามบิน ท่าเรือ โรงเรียน ศูนย์การค้า ที่ทำการรัฐบาล ฯลฯ หากยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายให้กับนักปั่นในทุกรูปแบบ

บางประเทศสร้างอาคารที่จอดรถจักรยาน มีห้องอาบน้ำสาธารณะ ไฟสัญญาณสำหรับจักรยาน ที่แขวนและล็อกจักรยาน

รถบัสโดยสารก็มีที่แขวนจักรยาน รถไฟบนดินหรือใต้ดินก็มีโบกี้ให้นักจักรยานโดยเฉพาะ

เมื่ออยู่บนถนน คนขับขี่รถยนต์ทั่วโลกล้วนให้เกียรติและเคารพในสิทธินักปั่นสองล้อ

เมื่อเห็นจักรยานอยู่ข้างหน้า จะชะลอรถเว้นระยะห่าง หรือลดความเร็วและขอแซงผ่านอย่างช้าๆ ด้วยความระมัดระวัง

ผิดแผกแตกต่างกับคนขับรถยนต์ของบ้านเราที่เห็นคนปั่นเป็นเหมือนเหยื่ออันโอชะ

นี่เป็นเรื่องน่าคิดว่าการรักษาระเบียบวินัยหรือการเคารพกฎจราจรล้มเหลว เพราะอะไร

 

อุบัติเหตุบนท้องถนนประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก

บางปีนั้นเคยไต่ระดับเป็นที่ 2 ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่น่ายินดีเลย

เพราะมีทั้งการสูญเสีย การบาดเจ็บล้มตาย ปีละเป็นหมื่นคน

อุบัติเหตุเกิดบนถนนของไทยเป็นรายชั่วโมง ในรอบวันมีผู้เสียชีวิตหลายสิบ เจ็บเป็นพันคน

สำหรับผมมั่นใจว่าการเกิดอุบัติเหตุในบ้านเรานั้น สาเหตุสำคัญคือการไม่เคารพกฎจราจร

คนขับรถหรือขี่จักรยานไม่ผ่านการเรียนรู้กฎจราจร หรือรู้แล้วแต่ไม่รักษาระเบียบวินัย

เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กๆ เช่น การจอดรถในพื้นที่ห้ามจอด แต่มีคนจำนวนไม่น้อยฝ่าฝืนจอดหน้าตาเฉย ทั้งที่รู้เหตุผลว่าทำไมต้องกำหนดให้เป็นพื้นที่ห้ามจอดเพราะเบียดบังเส้นทางทำให้ทางแคบลงเกิดอันตรายกับรถคันอื่นๆ

ผมปั่นจักรยานบนถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้าบ่อยครั้ง เพราะถนนเพิ่งก่อสร้าง ทางโล่งกว้าง มีเลนจักรยานให้ด้วย

บริเวณเลนถนนติดกับขอบสะพานใกล้ๆ ซอยกรุงเทพกรีฑา 8 ถูกจับจองเป็นที่จอดรถอย่างถาวร มีทั้งรถบรรทุก รถเก๋ง

มีบางจุดเอายางรถยนต์หรือไม้มากั้นเป็นเขตหวงห้ามอีกต่างหาก เป็นการแสดงถึงความเห็นแก่ตัวอย่างชัดแจ้ง

ทางเท้าหรือเลนจักรยานก็เช่นกัน ในเมืองใหญ่ๆ กลายเป็นทางวางสินค้า รถเข็น และเป็นทางวิ่งของจักรยานยนต์

อีกเรื่องที่แสดงความไม่เคารพกฎจราจร ก็คือ การไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนข้ามไปก่อน ทั้งที่เป็นทางม้าลาย หรือมีไฟสัญญาณจราจรบอกชัดเจน

 

จากเรื่องเล็กๆ เหล่านี้เมื่อนำมาเชื่อมต่อกัน เราจะเห็นภาพจิตไร้สำนึกสาธารณะ

ถ้าเอาภาพนี้มาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นถึงความแตกต่างชัดเจนยิ่ง

คนข้ามถนนในทางข้ามของญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าปลอดภัย เพราะรถทุกคันชะลอและจอดเว้นระยะตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

การขับขี่บนถนนก็เช่นกัน การแซงซ้ายหรือปาดหน้า ขับรถเร็วเกินกำหนดแทบจะไม่มีให้เห็นเลย

ความมีจิตสำนึกสาธารณะและเคารพในกฎจราจรของชาวญี่ปุ่นได้สะท้อนออกมาเป็นสถิติ

กล่าวคือ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนของญี่ปุ่นต่ำมาก

สถิติปีล่าสุด 2561 มีผู้เสียชีวิตเพียง 162 คน

เป็นสถิติแตกต่างกับบ้านเราลิบลับ

เมื่อปีที่แล้วการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย มีผู้เสียชีวิต 22,491 คน

ฉะนั้น การรณรงค์เพื่อให้คนไทยในทุกระดับอายุรักษาวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายสมควรยกให้เป็นวาระสำคัญของประเทศ