เทศมองไทย : ค่าบาทกับอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารแห่งประเทศไทยทำเซอร์ไพรส์ออกมาจนเป็นข่าวดังให้เกาะติดกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงจาก 1.75 เปอร์เซ็นต์เป็น 1.50 เปอร์เซ็นต์ แบบนอกเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ทั่วไปทั้งไทยและเทศ ที่กะเก็งกันว่า กว่าจะมีการลดดอกเบี้ยจริงๆ อาจต้องรอถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินตอนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

จอห์นรีดแห่งไฟแนนเชียล ไทม์ส บอกว่า ผลของการตัดสินใจครั้งนี้ก็คือทำให้ตลาดหุ้นไทยคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ ธปท.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เหตุผลที่ปรากฏในถ้อยแถลงของแบงก์ชาติที่เป็นหลักก็คือ เป็นเพราะการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงถึง 4.1 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาและบรรยากาศ “ซึมเซา” ในแวดวงการค้าโลก

ธปท.ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้เป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบและความเสี่ยงจากสงครามการค้าและปัจจัยภายนอกอื่นๆ ให้ชัดเจน

รายงานของบลูมเบิร์กในวันเดียวกันชี้ให้เห็นว่า ธปท.ยืนกรานไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลไว้ในช่วงเวลานั้นเอาไว้ว่า เกรงว่าปัญหาหนี้ผู้บริโภคจะรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน

แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จากสาเหตุทางการค้า การส่งออกและภาวะแล้งที่รุนแรงมากขึ้น พร้อมๆ กันนั้นค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบในทางลบทั้งต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว 2 ภาคธุรกิจหลักของประเทศ

 

ข้อมูลของนักวิเคราะห์จากหลายๆ ค่ายที่นำเสนอผ่านซีเอสเอ็นบีซี แสดงให้เห็นว่า ค่าเงินบาทในปีนี้แข็งค่าขึ้นจากระดับเมื่อต้นปีแล้วกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเอาค่าเงินบาทในตอนนี้ไปเทียบกับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยิ่งสูงหนักขึ้นไปอีกคือถึง 8 เปอร์เซ็นต์

คำถามก็คือว่า ทำไมเงินบาทถึงแข็งเอาๆ อย่างนั้น บลูมเบิร์กให้เหตุผลเอาไว้ 2 ทาง ปัจจัยแรกที่ทำให้ค่าบาทแข็งโป๊กในเวลานี้ เกิดจากการที่โดยภาพรวมแล้วสถานะทางการเงินของประเทศมั่นคง มีเสถียรภาพอย่างยิ่ง ปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยก็มั่นคง

ปัจจัยที่สองในทัศนะของนักลงทุนที่บอกผ่านบลูมเบิร์กก็คือ ไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยรุนแรงจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกามากนัก อย่างน้อยก็ไม่มากเท่ากับประเทศอื่นๆ อย่างเช่นเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ทั้งๆ ที่มีทุนสำรองใกล้เคียงกันก็ตามที

สิ่งนี้สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน กระทั่งถูกถือว่าเป็นสกุลเงิน “เบสต์ เพอร์ฟอร์แมนซ์” ในเอเชีย

ตอนที่ค่าบาทแข็ง แม้สกุลเงินอื่นๆ จะแข็งค่าตามมาด้วย แต่ก็ไม่มากเท่า เมื่อถึงยามที่ถูกดันจากสภาพแวดล้อมให้อ่อนค่าลง ค่าบาทกลับลดลงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่เงินสกุลอื่นๆ วูบลงกันเป็นทิวแถว

ในแง่หนึ่ง ค่าบาทแข็งขึ้นส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นอย่างน้ำมันดิบ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ราคาถูกลง ช่วยการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อการบริโภคภายในประเทศอ่อนแอลง การลงทุนภายในก็ไม่กระเตื้อง

เนื่องจากค่าบาทที่แข็งโป๊กทำให้ราคาสินค้าที่ส่งออกไปขายในต่างแดนแพงมากกว่าราคาสินค้าเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

 

นักวิเคราะห์ของดีบีเอส ธนาคารในสิงคโปร์ เคยระบุเอาไว้ว่า ค่าบาทแข็งคือ “ข่าวร้าย” ของเศรษฐกิจไทย เพราะทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์ที่ค่าเงินบาทขยับสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าออกของไทยแพงขึ้นเมื่อคิดเป็นดอลลาร์ 0.3 เปอร์เซ็นต์

รอยเตอร์สชี้ให้เห็นไว้ว่า การส่งออกที่ผ่านมาของไทยในปีนี้กำลังทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สถิติของเดือนพฤษภาคมแสดงให้เห็นว่าการส่งออกของไทยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดลบ 5.79 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์อยู่มากทีเดียว

ถามว่า การลดอัตราดอกเบี้ย ช่วยทำให้ค่าบาทลดลงหรือไม่?

ประกาศ สักปาล นักวิเคราะห์ของไอเอ็นจี ธนาคารเพื่อการลงทุนของเนเธอร์แลนด์ บอกว่า มี แต่จำกัดอย่างยิ่ง

ในท่ามกลางความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในยามนี้ เสถียรภาพทำให้เงินบาทเป็นเสมือนสวรรค์ของนักลงทุนดีๆ นี่เอง

สภาพนี้ยังจะไม่เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ในระยะสั้นนับจากนี้ครับ