วิเคราะห์ : “อนาคตใหม่” คิกออฟแก้ รธน. ภารกิจรื้ออำนาจ “ดีไซน์มาเพื่อเรา”

หากอ่านกฎหมายและจำนนต่อสภาพปัจจุบัน ตัดความใฝ่ฝันและจินตนาการออกไป ต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

พิจารณาจากมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ จะเห็นล็อกที่ผู้ร่างเขียนไว้อย่างรัดกุม

คือทำให้ฝ่ายที่ต้องการแก้ไข จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.อย่างน้อย 84 คน ตลอดจนต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.พรรคเล็กพรรคน้อยที่ส่วนใหญ่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล ในฐานะพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธาน

แต่ดูเหมือนขวากหนามเหล่านี้จะไม่บั่นทอนความเชื่อมั่นของพรรคใหม่อายุ 1 ขวบกว่าอย่าง “อนาคตใหม่” ที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และเจตนารมณ์ที่มั่นคง แน่วแน่ กับการประกาศภารกิจ “แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” ไว้ตั้งแต่การประชุมจัดตั้งพรรคเมื่อ 27 พฤษภาคม 2561

จนเดินทางมาถึงวันแรกของการรณรงค์กับประชาชนในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มี ส.ส. 81 คน

โดยตั้งชื่อแคมเปญครั้งนี้ว่า “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน”

เริ่มต้นที่แรก ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

แม้จะมีอุปสรรคทั้งเรื่องสภาพอากาศ เพราะมีฝนตกตลอดวัน แต่บรรยากาศการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญยังเดินหน้าต่อไปไม่มีถอย

ประชาชนตลอดเส้นถนนคนเดินตั้งแต่ประตูท่าแพจนถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์แสดงท่าทีตอบรับ

หลายคนรับธงสีเขียวที่ได้รับแจกจากแกนนำพรรคมาประดับไว้ที่ร้านค้า

ขณะที่อีกหลายคนส่งเสียงให้กำลังใจทีมอนาคตใหม่

สลับไปกับการก่นบ่นสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในปัจจุบัน

แคมเปญครั้งนี้เป็นไปตามที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เคยให้สัมภาษณ์ตอกย้ำเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ว่า

สิ่งที่ยากที่สุดที่จะทำให้การแก้ไขกฎหมายสูงสุดประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว คือการสร้างฉันทามติ อันหมายถึงการสร้างความเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคมว่าประเทศจำเป็นต้องมีกติกาใหม่ในการอยู่ร่วมกัน เป็นกติกาที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

มิใช่กติกาที่เขียนเพื่อสืบทอดอำนาจของคนบางกลุ่มหรือแช่แข็งประเทศไว้กับยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นจากคนกลุ่มน้อยของสังคม

โดยขอยกตัวอย่างปรากฏการณ์ธงเขียวที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540

 

ตอนปี 2539 ที่มีกระแสธงเขียวปฏิรูปการเมือง นักการเมืองเวลานั้นเขาไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มันเกิดกระแสภาคประชาชนขึ้นมากดดันจนนักการเมืองยอมยกมือรับหมด

ดังนั้น ระหว่างที่กำลังรอให้เกิดฉันทามติใหม่ ถ้านั่งเฉยๆ ในสภาโดยไม่แตะรัฐธรรมนูญเลย เพราะรู้ว่าแตะไปก็แก้ไม่ได้ มันก็เสียเวลาโดยใช่เหตุ

ในเมื่ออาศัยแค่เสียง ส.ส. 100 คน ก็สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ แน่นอนว่าแก้ไม่ผ่านหรอก แต่มันควรเสนอ เผื่อจะมีประเด็นอะไรที่ง่ายที่สุดที่ประชาชนหรือพรรคการเมืองแทบทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน เช่น เรื่องอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากจะมีคนค้านก็แค่ ส.ว.เท่านั้น

รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้

 

ขณะที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุก่อนขึ้นเวทีคิกออฟรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคอนาคตใหม่ว่า พรรคอนาคตใหม่เสนอสัญลักษณ์ประจำแคมเปญเป็นรูปมือของประชาชนที่จับกันเพื่อหาฉันทามติร่วม

พร้อมแสดงความหวังว่าการขับเคลื่อนครั้งนี้จะทำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบสังคมที่ทุกคนอยากอยู่ร่วมกัน คนไทยเคยทำได้มาแล้วเมื่อปี 2540 ในรูปแบบรัฐธรรมนูญธงเขียว ยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม เพราะจะรณรงค์อย่างสันติ สร้างสรรค์ และสนุกสนาน เพื่อทำให้การเมืองกับประชาชนใกล้ชิดกัน

เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นได้จากฉันทามติของสังคมไทยอย่างน้อย 5 ชุด ประกอบด้วย

1. ประชาชนพอแล้วกับประชาธิปไตยครึ่งใบ

2.พอแล้วกับปัญหาคอร์รัปชั่น

3. ต้องการให้กองทัพกลับเข้ากรมกอง และต้องมีการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

4. ต้องการปฏิรูปการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์

และ 5. ต้องการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ขณะที่ข้อตกลงแบบใหม่ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องการไปให้ถึงนั้น “ธนาธร” ย้ำว่า ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 4 ข้อ คือ

1. ไม่ลอกเลียนแบบใครเพราะประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ และบริบทสังคมต่างจากประเทศอื่น จะนำเอารัฐธรรมนูญของต่างชาติมาประยุกต์ใช้ทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้

2. เกิดจากความต้องการของคนส่วนใหญ่

3. ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างฉันทามติ

และ 4. ข้อตกลงใหม่ตั้งอยู่บนบทเรียนและประสบการณ์ของสังคมไทย

“ผมไม่ได้เสนอให้ลืมบาดแผลหรือความอยุติธรรมที่ผ่านมา หรือเสนอให้คิดเหมือนกัน ผมเชื่อว่าระบอบการเมืองที่ดีคือระบอบที่ทำให้คนที่มีความเห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยฉันทามติใหม่ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ ประกอบด้วย 1.ประชาธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชน 2.มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระราชฐานะอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง 3.มีรัฐสภาที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง 4.มีนิติรัฐ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครอง มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ”

ธนาธรเสนอแนวทางฉันทามติแก้รัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม เพียง 2 วันให้หลังของการคิกออฟแก้รัฐธรรมนูญ พรรคอนาคตใหม่ก็ได้รับฟีดแบ็กจากอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ก่อการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ 2550 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน ที่ระบุว่าได้กำหนดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้ว โดยต้องดูก่อนว่าแก้ไขเพื่ออะไร แก้เพื่อใคร และประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเรื่องเร่งด่วนกว่านี้คือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้” ทั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ตลอดจนประชาชนที่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงต้องเผชิญการต่อสู้ทางความคิดอีกยาวนาน ที่ยังไม่รู้บทสรุปสุดท้ายว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกขนานนามว่า “ดีไซน์มาเพื่อเรา” จะถูกแตะต้องแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด

แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะลงเอยอย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้อาจทำให้การเคลื่อนไหวภาคประชาชนกลับมาเบ่งบานมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

หลังจากเหี่ยวเฉาแห้งตายมาตลอด 5 ปี