ต่างประเทศ : กำแพงภาษีของทรัมป์ ดาบสองคมที่เฉือนเนื้อตัวเอง

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นกำแพงภาษี 10 เปอร์เซ็นต์กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

ทำให้เวลานี้สินค้านำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมดจะต้องเผชิญกับกำแพงภาษี หลังจากทรัมป์ประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้วก่อนหน้านี้

การประกาศขึ้นกำแพงภาษีเพิ่มเติมทั้งๆ ที่การหารือทางการค้าระหว่างสองประเทศที่นครเซี่ยงไฮ้เพิ่งสิ้นสุดไปเพียง 1 วัน แน่นอนว่าจะส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสองชาติเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกเขม็งเกลียวมากขึ้น

แต่ประธานาธิบดีสหรัฐเองก็ยืนยันว่า นั่นเป็นหนึ่งในผลงานที่ทำให้สหรัฐสามารถดูดเงินจากจีนเข้าคลังได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

และถึงกับตั้งฉายาให้กับตัวเองว่า “มนุษย์กำแพงภาษี”

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินยืนยันว่า รัฐบาลจีนหรือแม้แต่บริษัทในจีนไม่ได้เป็นผู้จ่ายภาษีดังกล่าวโดยตรง กำแพงภาษีสินค้านำเข้านั้นแท้จริงแล้วบริษัทผู้นำเข้าที่ลงทะเบียนเอาไว้กับศุลกากรสหรัฐจะเป็นผู้แบกรับ และแน่นอนว่าบริษัทสหรัฐผู้นำเข้าจะผลักภาระต้นทุนทางภาษีดังกล่าวให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผู้ผลิต หรือผู้บริโภค ด้วยการขึ้นราคา

แน่นอนว่านั่นฉายภาพค่อนข้างชัดเจนว่าผู้รับภาระทางภาษีที่ทรัมป์ตั้งใจพุ่งเป้าไปที่จีนนั้น สุดท้ายภาระกลับตกอยู่ที่ผู้บริโภคในประเทศเองต่างหาก

นั่นเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใด หลังทรัมป์ประกาศขึ้นกำแพงภาษีรอบใหม่ บรรดาบริษัทร้านค้าปลีกในสหรัฐต่างโจมตีการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็น “การขึ้นภาษีธุรกิจอเมริกันและผู้บริโภครอบใหม่”

พร้อมกับคำเตือนที่ว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลต่อการจ้างงานในสหรัฐ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชาวอเมริกันที่จะเพิ่มสูงขึ้น

 

ระบบการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบโดยสำนักงานศุลกากรและปกป้องชายแดน (ซีบีพี) จะดำเนินการเก็บภาษีจากบริษัทผู้นำเข้าภายใน 10 วันหลังจากสินค้าผ่านพิธีทางศุลกากร

ข้อมูลจากซีบีพีเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2018 จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาสามารถเก็บภาษีนำเข้าได้ 23,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า ภาษีนำเข้าโดยรวมของสหรัฐในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นถึง 73 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขึ้นไปแตะที่ 33,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

คำถามสำคัญก็คือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐอเมริกานั้นมาจากผู้ส่งออกจากประเทศจีนใช่หรือไม่?

คำตอบก็คือ ใช่เพียงบางส่วน เนื่องจากผู้ส่งออกจีนจะแบกรับภาระภาษีทางอ้อมเท่านั้น

เช่น ผู้ส่งออกอาจช่วยลดราคาให้กับบริษัทนำเข้าสินค้าของสหรัฐเพื่อลดภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมๆ ไปกับความพยายามในการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางการค้า และส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอเมริกา

ขณะที่บริษัทส่งออกจีนเองก็อาจต้องรับผลกระทบหากบริษัทในสหรัฐตัดสินใจเปลี่ยนเป้าหมายไปยังบริษัทผู้ส่งออกจากชาติอื่นที่ไม่ได้ถูกตั้งกำแพงภาษีเช่นเดียวกับจีน

ขณะที่ผู้นำเข้าสหรัฐนั้น จำเป็นที่จะต้องจัดการกับภาระภาษีในหลายๆ ช่องทาง ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบแง่ลบต่อบริษัทในสหรัฐและผู้บริโภคมากกว่าบริษัทผู้ส่งออกในจีน

 

หนทางในการจัดการภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นของผู้นำเข้าในสหรัฐ หนึ่งในนั้นคือการลดสัดส่วนกำไรลง เช่น การลดต้นทุนลงด้วยการไม่ขึ้นค่าจ้าง การปรับลดตำแหน่งงาน หรือการผลักภาระภาษีไปยังผู้บริโภคหรือบริษัทรับซื้อด้วยการขึ้นราคา เป็นต้น

ภาษีนำเข้าสินค้าจีนและสินค้าอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ Carterpillar Inc บริษัทเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างสหรัฐ มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสล่าสุด และคาดหมายเอาไว้ว่าในปีนี้จะต้องจ่ายภาษีนำเข้ามากถึง 250 ถึง 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และแน่นอนว่า Carterpillar Inc ตัดสินใจที่จะรับมือด้วยการขึ้นราคาสินค้า

 

ด้าน Walmart Inc บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Macy”s Inc เครือข่ายร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐก็ออกประกาศเตือนผู้บริโภคให้เตรียมพร้อมรับมือกับราคาสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้น ผลจากกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

ผลการศึกษาของ Peterson Institute for International Economic พบด้วยว่า การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้สินค้าเหล็กมีราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าที่ต้องใช้เหล็กเพิ่มขึ้นมากถึง 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ผลการศึกษาร่วมกันจัดทำโดยธนาคารกลางแห่งรัฐนิวยอร์ก มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่า บริษัทและผู้บริโภคสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมมากถึงเดือนละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจีนและกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม

แน่นอนว่าบริษัทจีนที่นำเข้าสินค้าสหรัฐเองก็ต้องรับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากจีนตั้งกำแพงภาษีตอบโต้สหรัฐด้วยเช่นกัน

 

สงครามการค้าครั้งนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งสหรัฐและจีนเองแล้ว ยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน ผลจากห่วงโซอุปทานที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ตลาดการเงินได้รับผลกระทบ ขณะที่โรงงานผู้ผลิตต้องย้ายฐานผลิตออกจากจีน

Fitch Rating บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือประมาณการไว้ว่า การที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่มเติมนั้นจะส่งผลให้มูลค่าสินค้าบริการโดยรวมของเศรษฐกิจโลกลดลง 0.4 เปอร์เซ็นต์

ยังคงต้องจับตาต่อไปว่าดาบสองคมในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติในครั้งนี้จะสร้างบาดแผลให้กับสหรัฐ จีน รวมถึงเศรษฐกิจโลกมากเพียงใด