ถวายสัตย์ไม่ครบ : จุดเริ่มต้นของอวสานรัฐบาลประยุทธ์ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรีคือขั้นตอนทางกฎหมายที่รัฐบาลนี้กำลังทำราวกับเป็นพิธีกรรมธรรมดา แต่ที่จริงความสำคัญของการถวายสัตย์นั้นสูงจนประธานรัฐสภายอมรับว่าข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลถวายสัตย์ไม่ครบนั้นรุนแรงมาก

ทว่า รัฐบาลก็ไม่แสดงท่าทีสนใจเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว

นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เปิดประเด็นนี้ในวันแถลงนโยบายรัฐบาล วิธีที่รัฐบาลจัดการเรื่องนี้คือกลบเรื่องนี้ให้เงียบไปหมด

นายกฯ ซึ่งขยันพูดทุกเรื่องกลับเอาแต่ตอบว่าไม่มีอะไร ส่วนคุณวิษณุ เครืองาม ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการประดิษฐ์วาทกรรมก็เอาแต่พูดว่าไม่ตอบทุกกรณี

ในคำให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม คุณประยุทธ์ไปไกลถึงขั้นระบุว่าขอให้เรื่องนี้ “จบได้แล้ว” รวมทั้งยืนยันว่าข้อความที่ท่านพูดนั้นเป็น “ข้อความที่ครอบคลุมทั้งหมด ในการดูแลประชาชนคนไทย”

ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำความต้องการให้ทุกฝ่ายหยุดพูดเรื่องนี้สักที

ไม่มีใครรู้เท่านายกฯ และคณะรัฐมนตรีว่าในรัฐบาลได้เข้าพิธีกล่าวถวายสัตย์โดยเกิดเหตุ “ถวายสัตย์ไม่ครบ” หรือไม่

แต่วิธีที่คุณประยุทธ์อ้างว่าคำถวายสัตย์ของตัวเอง “ครอบคลุมการดูแลประชาชนคนไทย” ก็เหมือนเป็นการหาข้ออ้างเพื่อบ่ายเบี่ยงปัญหาถวายสัตย์ไม่ครบของรัฐบาล

สรุปให้สั้นที่สุด สาระสำคัญของประเด็น “ถวายสัตย์ไม่ครบ” คือการตั้งคำถามถึงการดำเนิน “กระบวนการทางกฎหมาย” เพื่อให้ความเป็นรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นสมบูรณ์ และอะไรที่เป็น “กระบวนการทางกฎหมาย” ก็หมายถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนทุกกรณี

คนที่ฟังภาษาไทยออกทุกคนรู้ว่าข้ออ้างของ พล.อ.ประยุทธ์เรื่องได้กล่าวถวายสัตย์ด้วย “ข้อความที่ครอบคลุมทั้งหมด” เป็นเล่ห์เหลี่ยมในการบิดภาษาเพื่อสื่อสารว่าไม่เป็นไรที่รัฐบาลก่อเหตุ “ถวายสัตย์ไม่ครบ” จนน่าสงสัยว่าพฤติกรรม “ถวายสัตย์ไม่ครบ” คงจะเกิดขึ้นจริงๆ

พูดก็พูดเถอะ คณะรัฐมนตรีที่ร่วมกล่าวคำถวายสัตย์กับ พล.อ.ประยุทธ์มีทั้งสิ้น 35 ราย และถ้าเหตุ “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ไม่มีมูล คงต้องมีรัฐมนตรีออกมายืนยันเรื่องนี้บ้างแน่ๆ ทว่า นับตั้งแต่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องนี้ในสภาเมื่อ 25 กรกฎาคม กลับไม่มีรัฐมนตรีพูดเรื่องนี้สักคนเดียว

รองนายกฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และรัฐมนตรีประชาธิปัตย์ไม่ยุ่งเรื่องนี้ไม่เป็นไร รองนายกฯ อนุทินและรัฐมนตรีภูมิใจไทยไม่ยุ่งเรื่องนี้ก็ไม่แปลก

แต่การที่รัฐมนตรีพลังประชารัฐทุกคนปิดปากเรื่องนี้นั้นผิดปกติแน่ เช่นเดียวกับความเงียบจากคุณประวิตรซึ่งอยู่กับระบอบประยุทธ์มาตลอดหกปี

พฤติกรรมของรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐบาลชี้ว่าการ “ถวายสัตย์ไม่ครบ” มีโอกาสเป็นเรื่องจริงมากกว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่มีมูล

มีผู้สันนิษฐานว่าคุณประยุทธ์อาจกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบเพราะสามสาเหตุด้วยกัน หนึ่งคือ ความจงใจไม่ปฏิบัติตัวตามข้อความที่ไม่ปฏิญาณ

สองคือ เป็นคนรุ่มร่ามอ่านหนังสือตกๆ หล่นๆ และสามคือ มีคนจงใจเขียนคำถวายสัตย์ผิดๆ แต่จะเป็นข้อไหนก็มีแต่คุณประยุทธ์ที่รู้ตัวเอง

ถ้าคุณประยุทธ์ถวายสัตย์ไม่ครบเพราะตัวเอง ความผิดพลาดนี้ก็ชวนให้สงสัยว่าคุณประยุทธ์ในวัยเยาว์คงไม่เก่งภาษาไทยอย่างที่เคยคุยไว้ แต่ถ้าคุณประยุทธ์ถวายสัตย์ไม่ครบเพราะถูกวางยา ข่าวการลงโทษผู้ร่างคำถวายสัตย์ผิดๆ ย่อมต้องปรากฏออกมาบ้าง ไม่ใช่ไม่มีเลยอย่างปัจจุบัน

หากคุณประยุทธ์ปฏิญาณตัวไม่ครบเพราะจงใจ ข้อความที่คุณประยุทธ์ไม่กล่าวคือการ “รักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ย่อมชี้ให้เห็นแนวโน้มทางการเมืองที่อันตรายมาก เพราะเท่ากับเรากำลังมีนายกฯ ที่ไม่ปฏิญาณว่าจะทำตามรัฐธรรมนูญ

คําปฏิญาณคือคำมั่นที่ผู้กล่าวคำนั้นประกาศว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร พิธีกล่าวคำปฏิญาณเป็นขั้นตอนทางกฎหมายที่มีมิติทางศีลธรรมกำกับให้ทำตามคำถวายสัตย์อย่างเคร่งครัด คำปฏิญาณจึงแสดงปณิธานของผู้พูดว่าจะดำรงตำแหน่งโดยรับผิดชอบต่อส่วนรวมระดับอุทิศจิตวิญญาณ

คนบางกลุ่มมองตรงกับที่รัฐบาลอยากให้คนไทยคิดว่าการถวายสัตย์เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ที่จริงการถวายสัตย์ของไทยเทียบได้กับพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของผู้นำประเทศอื่นๆ ซึ่งหากทำไม่ครบย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะทางกฎหมายและความน่าเชื่อถือทางศีลธรรมของผู้นำ

ตัวอย่างของเหตุการณ์ “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ซึ่งในต่างประเทศคือการ “กล่าวคำสาบานตนผิด” ที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโอบามาสาบานตนในพิธีเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในปี 2013 โดยตกหล่นคำว่า Faithfully หรือการปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีด้วยความซื่อสัตย์และภักดี

แม้อเมริกาจะสมัยใหม่กว่าไทย การกล่าวคำสาบานผิดจุดชนวนให้เกิดคำถามว่าโอบามาไม่ได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมายโดยครบถ้วนจนอาจดำรงตำแหน่งโดยมิชอบ

และในที่สุดวิธีที่อเมริกาทำคือให้ประมุขของประเทศสาบานตัวใหม่ตามข้อความในรัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์

หนึ่งในข้อถกเถียงอีกข้อที่เกิดขึ้นในอเมริกาคือการกระทำต่างๆ ของประธานาธิบดีโอบามาในช่วงกล่าวคำสาบานผิดจะเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ด้วยการที่โอบามาเข้าพิธีสาบานตนใหม่ทันทีที่รู้ว่ากล่าวคำสาบานผิด การกระทำที่เกิดหลังจากสาบานผิดจึงมีไม่มากนักจนลุล่วงไปโดยดี

ในกรณีของอเมริกา โอบามากล่าวคำสาบานตามประธานศาลสูงสุด ตัวโอบามาจึงไม่ผิดที่กล่าวผิดจนยอมรับการสาบานตัวใหม่ได้ไม่ยาก ยิ่งกว่านั้นคือท่าทีโอบามาขณะกล่าวคำสาบานครั้งแรกนั้นแสดงออกให้เห็นว่ารู้เรื่องที่ประธานศาลกล่าวผิดด้วย ปัญหายากๆ จึงจบแบบไม่มีอะไร

ในกรณีของไทย คุณประยุทธ์คือคนที่นำคณะรัฐมนตรีปฏิญาณผิด การแก้ปัญหาจึงยาก เพราะเท่ากับต้องยอมรับว่านายกฯ ทำผิดรัฐธรรมนูญไปด้วย มิหนำซ้ำคณะรัฐมนตรีก็ยังดำเนินนโยบายต่างๆ หลังจากที่มีผู้ทักท้วงแล้วว่านายกฯ กระทำผิด ปัญหาทั้งหมดจึงยุ่งยากเป็นทวีคูณ

เพื่อที่จะปกป้องว่านายกฯ ที่ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ผิดรัฐธรรมนูญ วิธีที่รัฐบาลนี้ทำกำลังทำให้รัฐธรรมนูญและพิธีถวายสัตย์เป็นพิธีกรรมที่ไร้ความหมาย และจากนี้จะเกิดบรรทัดฐานว่าการถวายสัตย์โดยไม่ปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องทำได้ทันที

จริงอยู่ การถวายสัตย์ไม่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย แต่รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เกิดหลังรัฐประหารตรงๆ ล้วนบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ด้วยข้อความว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” อย่างต่อเนื่อง

ในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับหลัง พ.ศ.2492 เป็นต้นมา ข้อความที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล่าวปฏิญาณล้วนปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492, 2511, 2517, 2521, 2534, 2540, 2550 และ 2560 ส่วนรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญหลังรัฐประหารล้วนไม่ปรากฏข้อความนี้เลย

รัฐประหารในประเทศไทยทุกครั้งจบด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ จากนั้นหัวหน้าคณะรัฐประหารก็จะเขียนธรรมนูญชั่วคราวเพื่อตั้งตัวเองและพวกพ้องเป็นคณะรัฐมนตรีทั้งหมด

รัฐบาลที่เกิดจากการฉีกรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้อย่างแน่นอน

ด้วยพฤติกรรมซึ่งส่อว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะกล่าวถวายสัตย์ผิดรัฐธรรมนูญ วิธีการที่รัฐบาลชุดนี้ปกป้องคุณประยุทธ์กำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “รัฐธรรมนูญถาวร” กับ “ธรรมนูญชั่วคราว” เลือนหายไปหมด

เมื่อการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเป็น “ทางเลือก” ไม่ใช่ “หน้าที่” เมื่อนั้นรัฐธรรมนูญก็กลายเป็น “ทางเลือกทางการเมือง” (Political Choice) ไม่ใช่ “พันธะทางกฎหมาย” (Legal Obligation) ซึ่งเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญไม่เหลือความเป็นรัฐธรรมนูญอีกต่อไป

ด้วยสภาพที่ผู้นำซึ่งผิดรัฐธรรมนูญกลับบริหารประเทศโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลกำลังทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 หมดสภาพกฎหมายสูงสุดในความเป็นจริง ส่วน พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่จะใช้อำนาจรัฐเหนือรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ตลอดเวลา

คุณประยุทธ์กล่าวถวายสัตย์ครบหรือไม่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างที่รัฐบาลอยากให้คนไทยคิด

เพราะการปล่อยให้เรื่องนี้เป็นแบบนี้คือการปล่อยให้คนเพียงคนเดียวอยู่เหนือสังคมทั้งหมด

สังคมที่เดินหน้าบนเส้นทางนี้มีจุดจบคือหายนะ

และในที่สุดระบอบของประเทศจะพินาศในระยะยาว