ต่างประเทศอินโดจีน : เมืองที่กำลังจม

จาการ์ตา เป็นหนึ่งใน “เมกะซิตี้” ที่กำลังจม จมลงไปแล้ว แล้วก็จมอีก จมลงต่อเนื่อง

เฮรี แอนเดรียส ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งบันดุง บอกว่า จาการ์ตาทั้งเมืองจมลงในระดับความเร็ว 10 เซนติเมตรต่อปี

แต่มีบางพื้นที่ อย่างเช่น บริเวณอ่าวจาการ์ตา ทางตอนเหนือของเมืองหลวงของอินโดนีเซียทรุดตัวลงเร็วกว่านั้นมาก พื้นที่บริเวณนั้นบางส่วนจมอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้วระหว่าง 2 ถึง 4 เมตร

และกำลังจมลงเร็วมากถึง 20 เซนติเมตรต่อปี!

เฮรีบอกว่า ถ้าการทรุดตัวยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอย่างนี้ ถึงปี 2050 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า พื้นที่ 95 เปอร์เซ็นต์ตอนเหนือของจาการ์ตาจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด

และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หมายความ ณ เวลานั้น พื้นที่มากถึง 1 ใน 3 ของจาการ์ตาจะอยู่ใต้น้ำใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

 

สาเหตุนั้นมีมากมายหลายประการ ตั้งแต่ปฐมเหตุที่เกิดจากการที่จาการ์ตาเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเลนนุ่ม มีแม่น้ำ 13 สายตัดผ่าน แต่ละสายล้วน “เน่าหนัก” ทั้งสิ้น

เรื่อยไปจนถึงสาเหตุหลักที่ทำให้การทรุดตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือ การสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้แบบไม่บันยะบันยัง รวมทั้งการขยายตัวของเมืองแบบไม่หยุดหย่อน และชนิดที่มีก็เหมือนไม่มีการวางผังเมืองอีกต่างหาก

สุดท้ายก็คือเรื่องของนักการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่ทำให้ปัญหาการบริหารจัดการผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะหวังผลส่วนตัวมากกว่าผลส่วนรวม

ที่น่าสนใจก็คือ ในบรรดาสาเหตุเหล่านี้ ยังไม่มีภาวะโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นหมายถึงว่า 20 เซนติเมตรต่อปีที่ว่า ยังไม่เกี่ยวกับการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน

ถ้ารวมปัญหาภาวะโลกร้อนเข้าไปด้วย ไม่แน่ใจนักว่าจะเหลือกรุงจาการ์ตา “แห้งๆ” อยู่สักครึ่งหนึ่งหรือเปล่า

 

เฮรีเป็นคนเตือนเรื่องนี้เอาไว้นานนักหนาแล้ว กระนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียก็เพิ่งลงมือเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงๆ จังๆ เมื่อ 10 ปีก่อน

พอลงมือทำกันที ก็คิดโครงการเสียใหญ่โต มูลค่ามหาศาล รวมแล้วถึง 42,000 ล้านดอลลาร์

โครงการที่ว่านี้ตั้งเป้าจะสร้าง “เกาะเทียม” ขึ้นมา 17 เกาะให้ทำหน้าที่เป็นเหมือนเขื่อนธรรมชาติบริเวณส่วนกลางของอ่าว อีกสองด้านซ้าย-ขวา จะสร้างกำแพงยักษ์สูงราว 10 เมตรเป็นแนวกั้นน้ำทะเล

เริ่มต้นเมื่อปี 2009 จนถึงตอนนี้ 10 ปีแล้วโครงการยังไปไม่ถึงไหน เถียงกันในประเด็นทางการเมืองเรื่องต้นทุนเป็นหลัก เรื่องการกลัวว่าจะสูญเสียการประมงในบริเวณเป็นรอง

จนประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ต้องออกมาเตือนว่า โครงการที่เคยเป็นโครงการธรรมดา ตอนนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนไปแล้วเพราะเวลากระชั้นเข้ามาทุกที

เฮรี แอนเดรียส ก็บอกว่า ลงมือทำกันเสียทีเถอะ ลดขนาดลงมาก็ได้ เอาแค่กำแพงป้องกันพื้นที่ส่วนที่อ่อนไหวที่สุดก่อนราว 20 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือค่อยว่ากัน ไม่ต้องหาทางทำรวดเดียว 60 กิโลเมตร

ที่เหลือชะลอเอาไว้ให้เถียงกันในทางการเมืองให้สะเด็ดน้ำก่อนก็ได้

วิโดโด นอกจากจะเร่งมือสร้างเขื่อนยักษ์กันน้ำทะลักท่วมจาการ์ตา ยังเตรียมย้ายเมืองหลวงออกจากจาการ์ตา ออกจากเกาะชวา ไปหาที่ใหม่บนเกาะใหม่ สร้างเมืองหลวงที่เป็นศูนย์ราชการ หัวใจของการบริหารขึ้นที่นั่น

ปล่อยจาการ์ตาให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไป

เหตุผลที่ต้องทำ เป็นเพราะจาการ์ตาเป็นเมืองที่แออัดมากที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่บนเกาะชวาอันเป็นเกาะที่แออัดมากที่สุดของประเทศ

ประชากรเกาะชวาทั้งเกาะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 57 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอินโดนีเซียกว่า 250 ล้านคน

วิโดโดยอมรับว่าการผลักดันครั้งนี้คงถูกต่อต้านทางการเมืองอย่างหนัก แต่ยืนยันว่าตนไม่สนใจ

เพราะถึงอย่างไรนี่ก็เป็นวาระที่สอง วาระสุดท้าย ยังไงก็ลงรับเลือกตั้งต่อไปไม่ได้แล้วนั่นเอง