ฉัตรสุมาลย์ : เป็นพระต้องเย็บผ้าเป็น

พระที่ว่านี้หมายรวมพระภิกษุและภิกษุณี เรามีหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่าพระอานนท์พุทธอนุชาเป็นผู้เย็บและซ่อมจีวรถวายพระพุทธเจ้า

เป็นภาพที่งดงามจริงๆ

เรื่องนี้เกิดหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว สามเดือนหลังจากนั้น ได้มีการประชุมสงฆ์ครั้งแรก ว่ากันว่า มีพระอรหันต์มาร่วมประชุมตั้ง 500 รูป

เรารู้จักกันว่าเป็นปฐมสังคายนา คือการสังคายนาครั้งแรก

สังคายนา โดยศัพท์แปลว่า สวดพร้อมกัน คือเมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วก็สวดพร้อมกัน เพื่อเป็นการยืนยันว่า เรื่องนี้สงฆ์เห็นชอบที่จะสืบทอดคำสอนไปในแนวนี้ ประมาณนั้น

ทีนี้ตอนก่อนที่จะเริ่มประชุม ก็มีการปรับอาบัติพระภิกษุที่เข้าร่วม เนื่องจากถือเป็นสังฆกรรม พระภิกษุที่เข้าร่วมต้องบริสุทธิ์ จึงจะทำให้สังฆกรรมบริสุทธิ์

พระภิกษุที่ถูกปรับอาบัติในเรื่องนี้ คือ พระอานนท์ ทั้งที่ท่านเพิ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นการปรับอาบัติย้อนหลังกว่า 40 ปี (เอ๊ะ ปรับอาบัติย้อนหลังทำได้หรือเปล่า ต้องถามพระคุณเจ้า)

มีพระภิกษุกล่าวตำหนิว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพนั้น ได้เห็นพระอานนท์เย็บจีวรของพระพุทธเจ้าโดยใช้เท้าเหยียบ

เราเห็นบันทึกตรงนี้ชัดเจนว่า พระอานนท์เป็นผู้ถวายการเย็บและซ่อมจีวรแก่พระพุทธองค์

เออ แล้วพระอานนท์อาบัติจริงหรือไม่ ทรงอธิบายว่า ท่านไม่มีคนช่วยจับ ท่านก็เลยเอาเท้าช่วย

ผู้เขียนเคยเห็นพระภิกษุอายุมากๆ ที่พยายามเย็บจีวรขาดของท่านโดยการเอาหัวแม่เท้าหนีบผ้าแล้วเย็บเหมือนกัน

พระอานนท์ท่านแสนจะเป็นสุภาพบุรุษ ท่านไม่เห็นว่าท่านทำผิด แต่หากว่าพระสงฆ์เห็นว่าท่านควรแสดงอาบัติท่านก็ยินยอม

เฮ้อ!

ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็น วันนี้เราจะคุยกันเรื่องเย็บผ้า

 

เป็นพระต้องเย็บผ้านะ ต้องรู้จักเย็บผ้าเอง ก็สมัยพุทธกาลนั้น ท่านอยู่ป่า ไม่มีญาติโยมดูแลเหมือนในสมัยปัจจุบัน

เวลาเราไปซื้ออัฏฐบริขาร แปลว่า ของใช้ของพระ 8 อย่าง นอกจากไตรจีวรแล้วก็ต้องมีบาตร เปิดดูในบาตรก็จะมีหม้อกรองน้ำ เข็มเย็บผ้า พร้อมด้าย มีดโกน หินลับมีดโกน

เข็มเย็บผ้าก็เพื่อให้พระท่านได้เย็บจีวร ซ่อมจีวร เหมือนกับที่พระอานนท์ซ่อมจีวรถวายพระพุทธเจ้านั่นเอง

เรื่องการเย็บผ้าไม่เกี่ยวกับว่าต้องเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น พระภิกษุท่านอยู่ป่านะ จะหาโยมผู้หญิงที่ไหนที่จะตามเข้าไปเย็บจีวรถวาย

เรื่องการเย็บผ้า ซ่อมผ้า ผู้เป็นสมณะควรทำเองเป็น ทำเองได้

ตอนที่ท่านธัมมนันทาบวชใหม่ๆ มีแม่ชีจากมาเลเซียมาปฏิบัติธรรม มาเข้าพรรษาอยู่ด้วย 10 คน ท่านก็มีชั่วโมงที่สอนการเย็บผ้า ตั้งแต่ เนา สอย ด้นถอยหลัง ถักรังดุม ชุน ปะ ฯลฯ ผู้หญิงจากมาเลเซียกลุ่มนี้รับไม่ได้ ว่าไม่ใช่เรื่องที่จะมาเสียเวลา พวกเธอตั้งหน้าจะไปพระนิพพานอย่างเดียว

เออ ไปทั้งผ้าขาดๆ อย่างนั้นน่ะนะ

 

เมื่อคนที่เข้ามาสู่พุทธศาสนาใหม่ โดยไม่มีความรู้จักมักคุ้นกับบริบทของพระพุทธศาสนาก็จะมีความคิดเห็นประมาณนี้

อ่านเรื่องราวของพุทธศาสนามาอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่ได้ปะติดปะต่อกัน ก็จะไม่เห็นความละเมียดละไมที่พระพุทธองค์ทรงวางวิถีให้ชาวพุทธได้ปฏิบัติ

โลกในสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป แม้ในช่วงชีวิตของผู้เขียนเองก็เปลี่ยนไปมาก สมัยนี้ใส่เสื้อผ้าไม่ค่อยจะถึงโอกาสได้ปะได้ชุน เพราะไม่ทันได้ใส่ให้เก่าขาด เบื่อเสียก่อน เสื้อผ้าก็หาได้ง่าย สำเร็จรูป ไม่ได้ต้องจ้างเขาตัดเย็บเหมือนเมื่อก่อน

คนเราก็หยาบขึ้น เพราะโดยทั่วไปแล้ว เสื้อผ้าก็ถูกกำหนดตามแฟชั่น ตามบริษัทที่เขาตัดมาขาย ขาดความละเมียดละไมในความเป็นตัวตนลงไปเยอะ

ก่อนจะทิ้งเสื้อผ่าที่เก่าขาด เราต้องตัดกระดุมไว้ก่อน จะได้ใช้กับเสื้อตัวต่อไป วิธีการอย่างนี้ เด็กรุ่นใหม่ถามว่า “ตัดไว้ทำไมอ่ะ” เพราะเขาก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี

โลกของพระก็เป็นไปตามวิถีโลกเหมือนกัน พระภิกษุก็ไม่รู้จักที่จะต้องเย็บต้องปะ เพราะญาติโยมซื้อใหม่ถวายเสมอ

บิดาของผู้เขียน ชื่อ ก่อเกียรติ ษัฏเสน ท่านเคยเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดตรัง 3 สมัย จากนั้น ท่านออกบวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุติ ถือเคร่งมาก ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิต 18 ปีอยู่ในสมณเพศ เมื่อไปเยี่ยมท่าน เคยเห็นท่านนั่งเย็บผ้าจีวรด้วยตัวเอง จนพวกเราเข้าไปขอทำให้ถวายท่าน

อีกครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนเคยเห็นพระภิกษุเจ้าอาวาสปะผ้าจีวร ก็คราวที่เกิดสึนามิ ผู้เขียนมีโอกาสลงไปเยี่ยมผู้ประสบภัยที่พังงา ข้ามไปที่เกาะพระทอง วัดนั้น โดนพายุเต็มๆ เจ้าอาวาสเป็นชาวเล ออกบวชเป็นพระภิกษุ ท่านเล่าว่า เมื่อสึนามิมา ท่านถึง “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ” จริงๆ กล่าวคือ ท่านได้ปีนขึ้นไปกอดคอพระประธานในโบสถ์ เพื่อหนีน้ำ ในขณะที่พระลูกวัดหนีตายโดยกอดอยู่บนยอดมะพร้าวข้างโบสถ์

ท่านเจ้าอาวาสชาวเลรูปนี้ เอาผ้าจีวรที่ท่านใช้มาให้ดู มีรอยปะสัก 30 แห่งได้ ฝีมือท่านเองทั้งนั้น

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสพระภิกษุในบทบาทเดิมๆ ที่เราเคยอ่านในบริบทพระไตรปิฎก ปัจจุบัน ตามวัดที่ห่างไกลก็อาจจะยังมีพระภิกษุที่ท่านยังปฏิบัติเช่นนั้น

 

จีวรผืนแรกที่ท่านธัมมนันทาใช้ เนื้อผ้าเหลือน้อยมาก เวลาซ่อมต้องเอาผ้ามาปะเพื่อให้มีเนื้อผ้าพอที่จะเย็บได้

เด็กสาววัยรุ่นมองด้วยสายตาฉงนฉงาย เลียบเคียงเข้ามาถามท่านว่าทำไมต้องซ่อม จีวรมันเก่าขนาดนั้นแล้ว ท่านว่า

“ให้ผู้ถวายเขาได้บุญเต็มที่”

เมื่อหมดสภาพจีวรจริงๆ ก็คงทำอย่างที่พระอานนท์เถระเจ้าเคยอธิบายถวายพระเจ้าอุเทน ว่า เมื่อหมดจากสภาพของจีวร ก็เอาไปดาษฝ้า หมดจากสภาพนั้น ก็เอามาเช็ดพื้นกุฏิ จนในท้ายที่สุด เอาไปโขลกกับดินเหนียวฉาบฝากุฏิ

ความคิดเรื่องรีไซเคิล ปรากฏชัดตั้งแต่ครั้งพุทธกาล

การเย็บ ปะ ชุน ซ่อมจีวร ก็เป็นการถนอมรักษาให้อายุการใช้งานยืนยาวนั่นเอง

การถนอมรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาระดับโลกในปัจจุบันก็เริ่มมาตั้งแต่การที่พระพุทธองค์ให้พระสงฆ์รู้จักที่จะเย็บ ปะ ซ่อม ชุน จีวรของตนเอง เป็นไอเดียที่ไม่เคยล้าสมัย และในตัวคอนเซ็ปต์ ก็ยังล้ำสมัยด้วยซ้ำไป

บรรดาหลวงพี่พระภิกษุที่ซ่อมจีวรของตนเอง นอกจากจะทำตามที่พระพุทธองค์สอนแล้ว ยังทันสมัยมากนะเจ้าคะ