ทราย เจริญปุระ : HATELOVE และ ความตาย

มีอะไรหลายต่อหลายอย่าง ที่ดูสวยงาม ดูดี ดูง่าย ดูเข้าใจชีวิต เมื่อมันปรากฏตัวอยู่ในรูปประโยคหรือหน้ากระดาษ

ไม่ได้อยู่ในชีวิตจริง

โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้อยู่ในชีวิตของเรา

 

“มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

“ความสัมพันธ์ของคนรุ่นเรา (35+) กับพ่อแม่ของตัวเอง เราเป็นวัยที่มองเห็นพ่อแม่เป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้ว เป็นปัจเจกที่ดื้อด้าน จัดการยาก พร้อมป่วย พร้อมดราม่า บางทีก็รัก บางทีก็เกลียด เป็น HateLove ของจริง แล้วของพวกนี้เอาไปเล่าให้ใครฟังก็ไม่ได้ สังคมพร้อมตราหน้าความอกตัญญูใส่ทันที เราถึงอยากเล่าเป็นหนัง เป็นความรู้สึกที่วัยกลางคนต้องเจอ มันมีประเด็นของความรักคนอื่น รักตัวเอง รักคนที่เรารัก และการเปลี่ยนแปลงของตัวตนที่น่าจะโดนใจ”

“–หากทำหนัง ต้องไปอ่านประสบการณ์ของผู้ดูแลที่มีพ่อแม่ป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งเป็นโรคเรื้อรัง และอยากจะฝากคนทำหนังไม่ใช่เพียงแค่ระบาย แต่นำเสนอทางออกด้วยว่าต้องการให้เกิดอะไรในสังคมที่ผู้สูงอายุกำลังครองประเทศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

 

1.ข้อความในเครื่องหมายคำพูดด้านบนสุดนั้น เป็นรายละเอียดของสิ่งที่เรียกอย่างย่นย่อที่สุดว่า ม.12 เป็นสิทธิในการขอรับหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาล ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ส่งเสริมและพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิการตายตามธรรมชาติตามมาตรา 12 นี้มาเรื่อยๆ

เพราะชีวิตคนนั้นไม่ได้มีความหมายแค่การ “อยู่ดี”

การ “ตายดี” นั้นทั้งสร้างความหมายใหม่และมีความหมายในตัวเองต่อผู้กำลังจะจากไปและคนที่ยังอยู่ข้างหลัง

พ่อเคยบอกความต้องการแก่ฉัน ฉันเคยปฏิเสธการรักษาตามเจตจำนงของพ่อมาแล้ว

และแน่นอน-ด้วยการตัดสินใจเช่นนั้น-ฉันถูกด่าเจ็บแสบ ถูกสร้างอี-เมลในรูปแบบบัตรสนเท่ห์ส่งเวียนกันไปว่าฉันนั้นอกตัญญู ไม่ดูแลพ่อให้ดีมาแล้ว จากคนที่ไม่แม้แต่จะมาเยี่ยมพ่อเช่นกัน

ถามว่าเจ็บปวดไหม–ในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ได้แข็งแกร่งอะไรนัก–ก็คงจะต้องยอมรับว่าเจ็บอยู่บ้าง แต่ฉันก็จะรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่านี้ หากสนใจความต้องการของคนอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนร่วมใดในชีวิตมากกว่าความต้องการและศักดิ์ศรีของพ่อตัวเอง

 

2.ฉันคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน เจ้าของประโยคในเครื่องหมายคำพูดอันถัดลงมาอยู่บ่อยๆ ถึงความ “เต็มมือ” ในการสร้างข้อตกลงกับแม่ของเราทั้งคู่ ที่ต่างก็มีความยากและความเยอะตรงทั้งปริมาณและความหมายที่ใกล้เคียงกัน ทุกบ้านจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า คงไม่ล่ะมั้ง แล้วคนอื่นเขาจัดการกันยังไง ฉันไม่รู้เหมือนกันเธอ ฉันจะไปถามเอากับใครได้ นอกจากมานั่งปรับทุกข์กันอยู่อย่างนี้

แน่นอนว่าในเมื่อพ่อแม่ที่น่ารักมีอยู่จริงในโลก พ่อแม่ร้ายๆ ยากๆ ก็มีอยู่จริงไม่ต่างกัน แต่ดูเหมือนทุกคนจะพร้อมใจกันเชื่อว่า เมื่อได้เป็นพ่อแม่แล้วนั้น เหตุผลของพวกเขาจะน่าเชื่อถือกว่า บริสุทธิ์ใจกว่า ให้อภัยได้มากกว่า และต้องเข้าใจได้มากกว่า

ทั้งที่ทุกคนบนโลกไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม, พวกเราล้วนเป็นมนุษย์

ฉันยังเคยพูดเล่นๆ กับเพื่อน ว่าคนที่ไม่มีลูกอย่างเรานี่ สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ เราไม่มีทางสร้างบุญคุณกับใครได้ยืดยาวเลย เราจะถูกพิจารณาถูกผิดไปตามแต่สิ่งที่เราทำบ้าง ไม่ได้ทำบ้างแต่จะไม่มีคนมาคอยแก้ให้ว่า”เอาน่า อย่างน้อยเขาก็เป็นพ่อ/แม่เรานะ”

เราจะไม่มีวันมีจุดที่แตะ “อย่างน้อย” นั้นเลย
3.”ข้อสอบสำคัญชื่อ “ความตาย”” เป็นหนังสือที่เล่าถึงเรื่องราวหลายๆ ด้านของสัจธรรมหนึ่งในชีวิต จุดจบที่เราทุกคนต่างต้องมีเหมือนกัน แต่อาจแตกต่างกันไปตามวิธีและอาการ

คุณอรสมเล่าถึงเรื่องตั้งแต่ราคาของความตาย เล่าถึงหมอซึ่งปกติอยู่ในฐานะผู้รักษาแต่กลับมาป่วยเสียเอง หากเลือกได้เราจะตายแบบไหน ตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลรับผิดชอบ

ข้อความในเครื่องหมายคำพูดอันที่ 3 ที่ฉันยกขึ้นมานั้นเป็นความคิดเห็นหนึ่งจากผู้สนใจเรื่องการสร้างภาพยนตร์ที่เล่าถึงชีวิตวัยกลางคนและพ่อแม่

ไม่รู้สิ–สำหรับฉันนั้นมันไม่มีทางออกที่ดีจะนำเสนอได้หรอก ชีวิตไม่ใช่คณิตศาสตร์ที่มีสูตรกำหนดให้ความอุ่นใจในวิธีการ แต่เป็นเรื่องของความเป็นไปได้และไม่น่าจะเป็นร้อยๆ พันๆ หนทาง ที่ไม่มีวันจะซ้ำกัน

บางทีเราก็แค่อยากระบาย และการจะหาที่ระบายนั้นยังแสนยากเย็นเข็ญใจ เราได้แค่หรี่เสียงกระซิบกระซาบ มองหน้ากันอย่างทุกข์ระทมในขณะที่ใบเสร็จค่าใช้จ่ายกองสูงขึ้น ความถูกต้อง ความน่าจะเป็น ความรัก ความเป็นจริงปะทะกันอย่างรุนแรงต่อหน้าเรา

และซากอันล่มสลายของการปะทะนั้น ปิดทางออกของบางคนไว้จนมืดมิดไร้ทิศทาง


“ข้อสอบสำคัญชื่อ “ความตาย”” โดย อรสม สุทธิสาคร จัดพิมพ์โดย สำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนพฤศจิกายน, 2559