บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /ยังเต็มไปด้วย ‘แรงแค้น’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ยังเต็มไปด้วย ‘แรงแค้น’

 

จบไปแล้วสำหรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ซึ่งก็นับว่าเป็นการแถลงนโยบายที่หลายคนรอลุ้นว่าบรรยากาศจะออกมาในรูปแบบไหน

และดูเหมือนจุดโฟกัสใหญ่จะอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บัดนี้เป็นนายกรัฐมนตรีในระบบปกติ ไม่มีกฎหมายพิเศษอย่างมาตรา 44 มาเป็นเกราะป้องกัน

จะสามารถทนแรงเสียดสียั่วยุอารมณ์จากฝ่ายค้านได้หรือไม่

รัฐบาลได้ดักคอฝ่ายค้านเอาไว้ล่วงหน้าว่า ขอให้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเอาเข้าจริงบรรยากาศก็เกือบจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะเจือด้วย “ความแค้น-แรงแค้น” อยู่ไม่น้อย

ความแค้น-แรงแค้นดังกล่าวเป็นที่คาดหมายล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากคู่ปรับโดยตรงของรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งเน้นโจมตีไปยังคุณสมบัติและความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อดิสเครดิต

การมุ่งโจมตีประเด็นนี้ แน่นอนว่าต้องการยั่วโทสะ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะรู้ว่าจุดเดือดต่ำ เป้าประสงค์คือการทำให้สาธารณชนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นคนเดิมที่อารมณ์เสียง่ายและติดการพูดจาแบบทหาร เห็นคนอื่นอยู่ใต้บังคับบัญชาตลอด

อีกประเด็นหนึ่งที่เชื่อว่าฝ่ายค้านน่าจะอยากเห็นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์เอาแต่หลบลี้หนีหน้า ไม่ยอมอยู่ฟังการอภิปรายจากสมาชิกรัฐสภาหลังอ่านนโยบายเสร็จ เพราะทนไม่ได้ที่จะถูกยั่วโทสะและเสียดสี

แต่กลับผิดคาดเพราะปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ปักหลักสู้ ตอบโต้ทุกเม็ด นั่งฟังการอภิปรายตลอด 2 วัน และจดประเด็นไว้ตลอด

ยกเว้นมีเพียงช่วงเดียวที่มีภารกิจสำคัญต้องไปพบกับประธานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่นายกฯ ขอปลีกตัวไป

บางคนสรุปเอาไว้ว่า บรรยากาศประชุมรัฐสภาครั้งนี้ มีทั้งโหด มัน ฮา ซึ่งบทสรุปเช่นนี้มาจากสไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก กล่าวคือ นายกฯ มีท่าทีดุดัน ขึงขังเสียงดังเวลาพูด และตอบคำถามแบบถึงลูกถึงคน ไม่ยอมเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายค้านชกอยู่ฝ่ายเดียว แรงมาก็แรงไป

นอกจากนั้น ก็มีแฝงมุขตลกเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศไปในตัว

 

สําหรับการประเมินหรือให้คะแนนการแถลงนโยบายครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าไปถามฝ่ายไหน

ถ้าไปถามฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะบอกว่ารัฐบาลสอบตก โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีกิริยาไม่เหมาะสม ในขณะที่หลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ใส่ใจการอภิปรายของสมาชิกและอยู่รับฟังเกือบตลอด

เรื่องบุคลิกหรือสไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ มีทั้งคนที่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่และไม่ใหญ่ แล้วแต่ว่าคนคนนั้นจะสนใจเนื้อหาสาระหรือสนใจแค่รูปแบบภายนอก

คนที่ชินแล้วและไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็จะรู้สึกว่าเป็นแค่บุคลิกประจำตัว เช่น เผลอพูดเสียงดัง ก็จะไม่ตีความว่าเป็นการใช้อำนาจ เห็นคนอื่นเป็นลูกน้อง คนที่คิดแบบนี้เห็นว่าการที่นายกฯ เอาใจใส่รับฟังเนื้อหาที่สมาชิกอภิปรายและตอบคำถามเกือบทั้งหมด สามารถชดเชยข้อด้อยเรื่องบุคลิกท่าทีไปได้บ้าง

นอกจากนี้ก็เห็นว่า ในเมื่อเจอฝ่ายค้านน้ำเน่าแบบเก่าบางคนเช่นนี้ ก็สมน้ำสมเนื้อแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตอบโต้แบบไม่เกรงใจ

แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบก็จะตีความว่าการพูดเสียงดัง ชี้ไม้ชี้มือ ออกท่าออกทางเป็นลักษณะของเผด็จการที่เคยชินกับการออกคำสั่ง คนกลุ่มนี้เลือกที่จะมองว่าบุคลิกท่าทีของคนเป็นนายกฯ สำคัญกว่าเนื้อหาสาระที่นายกฯ นำมาชี้แจงหรือตอบโต้

 

บรรยากาศ “น้ำเน่า” ในสภาที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในสภานั้น ไม่ได้เกิดจาก ส.ส.ซีกรัฐบาลที่ถูกเรียกว่าองครักษ์พิทักษ์นายกฯ เท่านั้น เพราะดูไปแล้ว “น้ำเน่า” ที่กลิ่นแรงกว่า กลับเป็นผลงานของฝ่ายค้านบางคน (ที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย) ซึ่งยังมีลักษณะเสียดสี หลอกด่าแล้วถอนคำพูด อันเป็นลักษณะของนักการเมืองแบบเก่า

เช่น กรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่ใช้วาจาดูถูกคนอื่นก่อน โดยกล่าวพาดพิงคนในซีกรัฐบาล ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ที่ลุกขึ้นมาประท้วงว่าเป็นพวกตัวประกอบ 5 บาท 10 บาท ทำให้เกิดการปะทะคารมกับนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ที่ลุกขึ้นมาตอบโต้นายยุทธพงศ์ว่า ถ้าตนจะดูแคลนนายยุทธพงศ์ว่าเป็น ส.ส.ขี้ข้าโจรบ้าง จะรู้สึกอย่างไร

จากนั้นนายยุทธพงศ์โต้กลับว่า ตัวเองมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากการเลียรองเท้าทหาร ในที่สุดประธานที่ประชุมสั่งให้ทั้งสองฝ่ายถอนคำพูด ซึ่งนายยุทธพงศ์ยอมถอนแบบศรีธนญชัย ไม่จริงใจและหลอกด่าซ้ำสอง โดยพูดว่าขอถอนเป็น “ตัวประกอบ 500 บาท”

แต่นายกิตติศักดิ์ไม่ถอนคำพูดและเดินออกจากห้องประชุมโดยไม่รอให้ประธานเชิญออก

 

ฝ่ายเชียร์พรรคเพื่อไทยบางคนบอกว่าซูฮกนายยุทธพงศ์เรื่องที่ด่า ส.ว.ว่าเลียรองเท้าทหาร พร้อมกับยกตำแหน่งให้เป็น “ม้ามืด” ของสภา ซึ่งก็น่าตกใจที่ฝ่ายอ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยไปยกย่องคนที่เหยียดหยามคนอื่น เพราะว่านั่นคือการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้การเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้งมาวัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อันที่จริงถ้าจะคิดแบบแฟร์ๆ การพิทักษ์นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสมัยรัฐบาลนี้ หากย้อนไปดู รัฐบาลก่อนหน้านี้ในเครือข่ายทักษิณมีความเข้มข้นในการทำตัวเป็นผู้พิทักษ์นายกฯ ของตัวเองมากกว่านี้หลายเท่า นายยุทธพงศ์เองก็รู้แก่ใจดี

หากพรรคอื่นมองเข้าไปยังพรรคเพื่อไทยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือก่อนหน้านั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ถูกมองในแบบเดียวกัน คือเป็นพวกตัวประกอบที่คอยพิทักษ์นาย

การแถลงนโยบายครั้งนี้ อย่างน้อยก็เกิดการเปรียบเทียบระหว่างนายกฯ ที่ถูกหาว่ามาจากฝ่ายเผด็จการกับอดีตนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

กล่าวคือ นายกฯ เผด็จการดูเหมือนจะเอาใจใส่ ใช้เวลาอยู่รับฟังการอภิปรายแสดงความคิดเห็นของสมาชิกมากกว่าอดีตนายกฯ บางคนที่มาจากการเลือกตั้ง

และยังตอบคำถามเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่รอให้รัฐมนตรีช่วยตอบ และไม่ต้องพึ่งองครักษ์ใดๆ สะท้อนว่าทำการบ้านมาพอสมควร

อีกประการหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญคือ นายกฯ เผด็จการ ยังไม่เคยพูดแบ่งฝักฝ่ายหรือเลือกปฏิบัติให้ประชาชนเจ็บใจ แต่อดีตนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเคยพูดว่า จังหวัดไหนไม่เลือกพรรคของเรา ก็รอการพัฒนาทีหลัง รองบประมาณทีหลัง