เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ศิลปะภาคพิเศษ ของคนพิเศษ

ระหว่างนี้มีงานศิลปะเด็กที่มีความต้องการพิเศษจากญี่ปุ่นจัดแสดงอยู่ชั้นแปด ห้องนิทรรศการใหญ่ของหอศิลป์ กทม. มุมสี่แยกปทุมวัน ที่กรุงเทพฯ

เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียกเด็กพิเศษผู้มีคุณลักษณะต่างไปจากเด็กปกติสามัญทั่วไป

ความพิเศษของเด็กเหล่านี้ เช่น สมาธิสั้น หรือหมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องเดียว ไม่สนใจใคร หาไม่ก็มีข้อจำกัดด้วยศักยภาพทางกาย ทางใจ เป็นต้น

งานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนญี่ปุ่นจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินสองประเทศ ไทยและญี่ปุ่น ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ถึงเดือนกันยายนปีนี้

มีเวลาอยากให้แวะไปดูนะ จะได้รู้ถึงความพิเศษที่มีอยู่ในมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง

อย่างเช่น การนำวัสดุแผ่นพรุนที่ใช้ห่อหุ้มของ มีหลุมรูเล็กๆ นั้นมาจุดสีด้วยปากกาเมจิกหลากสีเป็นลวดลาย ทรวดทรงซับซ้อนอย่างเป็นระเบียบด้วยจุดหลุมเล็กๆ ที่มีพราวอยู่เต็มแผ่นนั้นโดยไม่เว้นเลยสักจุด ไม่ใช่เพียงแผ่น หากทั้งผืนม้วนที่คลี่แผ่ยาวโยงจากพื้นจรดเพดานสูงแหงนคอตั้งบ่าแล้วคลี่ลงอีกด้านมากองอยู่กับพื้นอย่างน่าอัศจรรย์

นึกไม่ออกว่าต้องใช้สมาธิ ใช้เวลาสักเท่าไหร่จึงจะเนรมิตงานได้งดงามปานนี้

ต้องใช้คำว่าเนรมิต เพราะไมน่าเชื่อว่าทั้งหมดนี้สำเร็จด้วยน้ำมือของคนคนเดียว

หรืออย่างเช่น การนำเอาเศษพลาสติกสีเป็นเส้นเล็กๆ ที่เราเห็นมาม้วนมัดปากถุงหลากสีนั้น ถูกนำมาม้วนมัดเป็นตุ๊กตาหุ่นยนต์ตัวกระจิริดในหลากอิริยาบถมากมายเหลือประมาณ นี่ก็…เออแน่ะ ทำได้ไง

ศักยภาพปานใดจึงจะบันดาลได้ปานนี้

นี่แหละงานวิเศษของคนพิเศษแท้จริง

งานเหล่านี้มีค่านัก ด้วยมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังอันบอกเล่าได้ก็แต่ด้วยงานศิลปะเพียงเท่านั้น

ผู้สร้างสรรค์งานเหล่านี้ไม่อาจอธิบายด้วยภาษาอื่นใดได้เลย งานที่ปรากฏจึงไม่ใช่แค่งานศิลปะเพียงรูปลักษณ์ หากทั้งหมดนี้คือความรู้สึกนึกคิดอันมีอยู่ในมนุษย์ ในความเป็นคนที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน

หากถูกละเลย ปล่อยให้มันผ่านไป หรือถูกฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกใครๆ ไม่เว้นแม้ตัวเราเอง

มีแต่ผู้พิเศษนี้เท่านั้น ที่มีโอกาสได้บอกเล่า ได้ระบายมันออกมาผ่านงานศิลปะ

ไม่ใช่แค่คุณค่าของงานศิลปะ หากมันคือคุณค่าของความเป็นคน ที่มีทิพยธาตุของความเป็นมนุษย์บริสุทธิ์แท้

เช่นนี้แหละจึงเรียกว่า “เป็นความต้องการพิเศษ” ของผู้ที่ต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดทั้งปวง ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจ

ต้องขอบคุณผู้นำคนสำคัญคือคุณโรสซาลินา อเล็กซานเดอร์ สาวไทยผู้ร่วมสร้างบ้านสายรุ้ง หรือเรนโบว์รูม ให้กับผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษในไทย กระทั่งขยายไปสัมพันธ์กับองค์กรกิจกรรมเดียวกันนี้ในญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องยาวนานด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ กระทั่งมีเครือข่ายประจำในทุกเมืองทั่วประเทศ

วันงานซึ่งจัดต่อเนื่องถึงวันเสาร์ 20 กรกฎาคมนี้นั้น นอกจากมีอภิปรายร่วมระหว่างไทย-ญี่ปุ่นแล้วยังมีกิจกรรมการแสดงทั้งไทยและญี่ปุ่นด้วย

ทางไทยนำเอาการแสดงการเล่นอังกะลุงอันน่าทึ่ง คือนอกจากเด็กๆ พิเศษบนเวทีถืออังกะลุงคนละชิ้นในมือแล้วเขายังแจกอังกะลุงให้ผู้ชมทั้งห้องถือคนละชิ้นด้วย ที่ฐานอังกะลุงมีเลขกำกับแทนเสียงไว้ เช่น เลขหนึ่งแทนเสียงโด สองเร ไปจนแปดแทนเสียงโดสูง

จากนั้นผู้นำวงจะทำสัญญาณมือให้ทุกคนได้รู้และจำไว้ เช่น กำมือหมายถึงเลขหนึ่ง เป็นต้น พอผู้นำหรือผู้กำกับวงทำมือที่หมายถึงเลขใด ใครถือเลขนั้นก็เขย่าอังกะลุงในมือตนตาม เพียงเท่านี้เสียงเพลง “บุหรงกากาตูวา” (นกกระตั้ว) ก็กระหึ่มไปทั้งห้อง ไพเราะและสนุกสนานทั่วหน้ากัน

ของญี่ปุ่นเขาแสดงการตีกลองหลากหลาย ทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่

จำเพาะกลุ่มเล็กสามคนบนเวทีเป็นแบบฉบับญี่ปุ่นที่กระหึ่มโหมระงมตีด้วยท่าทีเข้มแข็งองอาจ ชวนให้ฮึกเหิมดีนัก

วงใหญ่มีกีตาร์ร่วมด้วย ยกมาแสดงบนลานหน้าหอศิลปนีhให้ได้ดูได้เต้นได้ขยับตาม ทั้งผู้ผ่านทางและบนราวสะพานข้ามแยกผ่านสถานีรถไฟฟ้าช่วงนั้นให้ตื่นตาตื่นใจ ปลุกอารมณ์สนุกร่วมไปทั้งละแวกย่าน

หอศิลป์ กทม. น่าจะจัดให้มีอย่างนี้ทุกวันเสาร์ได้ก็จะดียิ่ง ไม่มีของต่างชาติก็ของไทยเราเองที่มีอยู่ทุกเมืองทุกภาคนี่แหละ

ไม่น่าจะยากเกินกำลังของคณะผู้บริหารหอศิลป์ กทม.ชุดใหม่ไฟแรงนะ

นอกจากปลุกชีวิตชีวาให้กับมุมเมืองใหม่ สร้างสีสันและเสน่ห์ให้กับเมืองด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับงานศิลปวัฒนธรรม ที่ทุกภาคส่วนมีสิทธิสร้างกิจกรรมแล้วยังเป็นหน้าที่ที่ภาครัฐ “ต้องทำ” ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหมวดห้า ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” โดยตรงด้วย

ขอเชิญไปชมงานศิลปะนี้ที่หอศิลป์ กทม. ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนกันยายนได้เลย

เพื่อจะได้รู้ว่ายังมีสิ่งดีงามที่เราไม่เคยได้รู้อยู่ในความเป็นมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ และก็ยังมีสิ่งที่ยังขาดอยู่อันควรเติมเต็มให้กับคนทั้งหลาย และสำคัญสุดคือ

ในตัวเรานี่เองด้วย