การศึกษา / ควบรวม ‘ร.ร.ขนาดเล็ก’ โจทย์ใหญ่รัฐมนตรี ศธ.มือใหม่

การศึกษา

 

ควบรวม ‘ร.ร.ขนาดเล็ก’

โจทย์ใหญ่รัฐมนตรี ศธ.มือใหม่

 

กลับมาเป็นประเด็นร้อนๆ อีกครั้งในแวดวงการศึกษา หลังจากนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกมาเปิดเผยถึงปัญหา “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต ที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเดือนธันวาคม 2561 พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน จำนวน 2,845 โรง นักเรียนต่ำกว่า 120 คน จำนวน 14,796 โรง โรงเรียนพื้นที่สูง 1,190 โรงเรียน และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เกาะแก่ง หรือห่างไกล 123 โรง รวมมีโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด 18,954 โรง

โดยอัตราโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการเกิดประชากรที่ลดลง ส่งผลให้จำนวนเด็กลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ และมักได้รับการจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพอ

ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่สามารถกระจายไปสู่ห้องเรียนได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจจะต้องใช้เวลาเกือบ 30 ปีในการแก้ไขปัญหา!!

ซึ่งหากต้องใช้เวลานานขนาดนั้น อาจจะไม่สามารถพัฒนาการศึกษาได้ทันประเทศเพื่อนบ้าน!!

แนวทางแก้ไขปัญหาโดยการ “ควบรวม” ที่นายเอกชัยเสนอนั้น คือให้ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน จำนวน 2,845 โรงก่อน โดยต้องมีครูครบทุกระดับชั้น สื่อการเรียนการสอน และอาคารสถานที่พร้อม

“เชื่อว่าการควบรวมจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพมากกว่าเดิม และเกณฑ์การควบรวมจะมีอยู่หลายเกณฑ์ ไม่ใช่นำเกณฑ์เดียวเข้ามาใช้ในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ” นายเอกชัยกล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอควบรวมโรงเรียนเล็กไม่ได้เพิ่งมีเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อต้นปี 2562 ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ได้เสนอให้โรงเรียนขนาดเล็กควบรวมเพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น โดยเสนอให้ สพฐ.ควบรวมโรงเรียนจาก 30,506 โรง เหลือ 17,766 โรง ห้องเรียนจาก 344,009 ห้อง เหลือ 259,561 ห้อง

 

หลายๆ ฝ่าย ทั้งข้าราชการและนักวิชาการ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

อย่างอดีตเสมา 1 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า หากจะดำเนินการ ต้องมีแผนที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำทันที แต่เรื่องนี้มีการพูดถึงเป็นประจำทุกปี พยายามทำมานานกว่า 30 ปี แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งต้องกลับไปถามว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ

เมื่อมาถึงยุคของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบัน ที่เน้นนโยบาย 2 เรื่องหลัก คือ การศึกษาต้องมีคุณภาพ และ ศธ.จะต้องมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ จึงเป็นเหตุให้การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กกลับมาเป็นประเด็นให้พูดถึงอีกครั้งหนึ่ง

นายณัฏฐพลกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า นโยบายการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก จะเน้นคุณภาพการจัดการศึกษา โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการนำข้อมูล แผนผังพื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศพิจารณาเป็นรายจังหวัดและอำเภอ เพื่อดูความเหมาะสม

“ส่วนตัวคงไม่สามารถตอบได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการควบรวม ตอนนี้อยู่ในช่วงศึกษาแนวทาง แต่ต้องขอเวลา แต่โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการสร้างสถานศึกษาให้มีคุณภาพเต็มที่ นั่นคือจุดประสงค์หลัก ถ้าทำให้สถานศึกษามีเท่าเดิม แต่มีคุณภาพเท่ากันหมด ก็สามารถคงไว้ได้”

เรียกว่าเจ้ากระทรวงเองก็ไม่กล้าฟันธงเรื่องนี้ ยังแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

ไม่พ้นที่นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก ย้ำว่าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก เพราะปัจจุบันจำนวนเด็กน้อยลง

“เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้แต่ละ สพท.จัดทำแผนการแก้ปัญหามาเป็นรายจังหวัด เสนอให้ สพฐ.พิจารณาภายในวันที่ 30 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม สพฐ.มีแนวทางแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเป็นภาพรวมให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ นำไปปรับใช้ ซึ่งไม่ใช่การควบรวมอย่างเดียว เพราะต้องคำนึงถึงบริบทพื้นที่ด้วย”

 

ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยการควบรวม เท่ากับว่า สพฐ.ไม่เคยประเมินตัวเอง แต่ไปตั้งเป้าว่าเด็กลดลง ต้องยุบโรงเรียน ควบรวมโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา วิธีการที่ดีคือสร้างคุณภาพให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเห็นว่าโรงเรียนมีคุณภาพ และไว้ใจที่จะส่งลูกหลานมาเรียน

ส่วนตัวแทนองค์กรครูอย่างนายไพฑูรย์ อักษรครบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนนารากอรพิมพ์ ประธานเครือข่ายครูโคราช ออกมาค้านว่า ส่วนตัวเห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กควรจะคงอยู่คู่กับชุมชน เพราะจากการควบรวมที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าดีขึ้น การแก้ปัญหาควรเพิ่มการสนับสนุน เพิ่มคุณภาพ ลดภาระงาน รวมถึงให้ความมั่นคงกับบุคลากร เช่น ตำแหน่งนักการภารโรง อาจเปิดโอกาสให้บรรจุเป็นข้าราชการ เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีความมั่นคงในอาชีพ

นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานกรรมการอbสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้ากับโรงเรียนแม่เหล็กนั้น ถ้าเรื่องนี้ถือเป็นคำตอบเดียวในการแก้ปัญหา มองว่าจะเป็นโทษมากกว่าคุณ

ด้าน น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กต้องคำนึงถึงนักเรียนและผู้ปกครอง ให้เดินทางได้สะดวก ต้องไม่กระทบกับตำแหน่ง หรือวิทยฐานะของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้งต้องคืนทรัพยากรทางการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดเล็กที่ควบรวมด้วย

“เมื่อยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว มีข้อเสนอในการรักษาโรงเรียนขนาดเล็กให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป โดยมี 2 ทางด้วยกันคือ ให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาดูแล และสร้างเป็นโรงเรียนพัฒนาผู้สูงอายุ หรือให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปดูแลทำประโยชน์ให้กับชุมชน โดยเปิดสอนอาชีพให้กับคนในชุมชน” น.ท.สุมิตรระบุ

ปัญหาการยุบ หรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ถือเป็นปัญหา “ท้าทาย” ศธ.มาตลอดหลายสิบปี

นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่นายณัฏฐพลจะต้องคิดวิเคราะห์ถึง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ให้รอบด้าน

อีกทั้งจะถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเสมา 1 ในฐานะ “นักบริหาร” และ “นักธุรกิจ” ที่ประสบความสำเร็จ ก่อนเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัว…

    และในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการ ศธ.” นายณัฏฐพลจะแก้โจทย์นี้ได้หรือไม่??