ประชาชน คิดยังไง ? “นักการเมืองตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล”

สาระ “นักการเมือง”

โครงสร้างอำนาจของประเทศถูกออกแบบให้บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรมีอิทธิพอต่อความเป็นไปของประเทศโดยรวมน้อยลง

อำนาจเป็นขององค์กรที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาโดยกฎหมายที่เขียนขึ้นโดยกลุ่มคนที่เห็นดีเห็นงามกับความเชื่อที่ว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครองอย่างเท่าเทียม

การเลือกตั้งจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกลดค่าลงไป ขณะที่การแต่งตั้งกลับเพิ่มบทบาทเข้ามากำหนดความเป็นไปของประเทศมากขึ้น

คำถามที่เกิดขึ้นคือว่า ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารได้สร้างกลไกความเท่าเทียมขึ้นมาอีกมิติหนึ่ง นอกเหนือจากมิติทางกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นทางการเช่นกฎหมาย

เป็นมิติแห่งอำนาจที่ผ่านการสื่อสารในสังคมออนไลน์

ทุกคนมีความเท่าเทียมที่จะสื่อสารข้อมูลและความคิดของตน แต่อีกด้านหนึ่งย่อมหมายถึงความเท่าเทียมที่จะถูกเห็นด้วย หรือตอบโต้ได้เท่าๆ กัน

แม้จะพยายามปิดกั้นการแสดงออกของคนส่วนใหญ่ผ่านกลไกอำนาจที่เป็นทางการ แต่การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นผ่านโลกออกไลน์ที่กระจายไปได้กว้างขวางเสียยิ่งกว่าการแสดงความคิดผ่านสถาบันอย่างแลกเปลี่ยนอย่างรัฐสภาเป็นเรื่องยังไม่มีใครทำได้

และนี่คือสภาวะที่กำลังพิสูจน์ว่าการปิดกั้นความคิดความเห็น เป็นเรื่องที่มีแต่จะล้มเหลวในยุคสมัยเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงความคิดของคนบางคน หรือมากที่สุดก็แค่คนบางกลุ่ม

ยังมีคนอีกไม่น้อยที่มองว่า แม้โลกออนไลน์จะเปิดให้แสดงความคิดความเห็นได้อย่างกว้างขวางแต่การจะทำให้ความคิดความเห็นเป็นที่ยอมรับและสามารถชี้นำความเป็นไปของประเทศได้ ยังเป็นเรื่องยาก

เสรีภาพที่จะเชื่อ มีเท่ากับเสรีภาพที่จะไม่เชื่อ และเมื่อความเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติส่วนตัวไม่น้อยไปกว่าเหตุผลที่ได้รับการถ่ายทอดจากภายนอก

ดังนั้น ความเท่าเทียมที่หวังว่าโลกออนไลน์จะเปิดทางให้ จึงมีทัศนะส่วนตัวเป็นอุปสรรคใหญ่พอสมควร

ผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “นักการเมืองแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล” ดูจะพิสูจน์ความเห็นดังกล่าวไม่น้อย

เมื่อถามว่า “ท่านมีความรู้สึกอย่างไรกับนักการเมืองที่ชอบแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล เช่น facebook twitter Instagram เป็นต้น” ที่ตอบว่าน่าเบื่อ เมื่อไรจะเลิกสักที มีมากถึงร้อยละ 37.53 ที่เห็นว่าเป็นการพยายามเอาชนะกันทางการเมืองต่อสาธารณะ ร้อยละ 19.16 ขณะที่ตอบว่าเป็นการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมือง มีร้อยละ 17.36

เมื่อถามว่า “ท่านให้ความสนใจแค่ไหนกับการแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันของนักการเมืองผ่านสื่อโซเชียล” ร้อยละ 38.16 ตอบว่าไม่ให้ความสนใจ ร้อยละ 29.24 ไม่สนใจเลย ร้อยละ 24.78 ค่อนข้างให้ความสนใจ ร้อยละ 7.04 ให้ความสนใจมาก ร้อยละ 0.78 ไม่ตอบ

เมื่อถามว่า “ท่านมีความเห็นว่านักการเมืองควรแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันผ่านช่องทางใด” ร้อยละ 66.07 ตอบว่าควรตอบโต้กันอย่างเป็นทางการในสภา ร้อยละ 22.67 บอกว่าควรตอบโต้กันผ่านสื่อกระแสหลัก เช่น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 16.34 ให้ไปตอบโต้กันซึ่งหน้า ร้อยละ 12.90 ให้ไปตอบโต้ผ่านเวทีสาธารณะ เช่น งานสัมมนา เวทีปราศรัย

มีแค่ร้อยละ 9.07 ที่เห็นว่าควรตอบโต้กันผ่านสื่อโซเชียล และยังมีส่วนหนึ่งที่เจาะจงให้ไปตอบโต้ผ่านเว็บไซต์สำหรับนักการเมืองมาแสดงความคิดเห็น

จากคำตอบดังกล่าว สะท้อนว่าเอาเข้าจริงแม้จะรู้เห็นอยู่ตำตาว่า เวทีรัฐสภาจำกัดสิทธินักการเมือง โดยเฉพาะที่มาจากการเลือกตั้งให้เหลือพลังน้อยกว่าเดิม

แต่ประชาชนทั่วไปอยากจะช่วยจำกัดไม่ให้นักการเมืองมาแสดงบทบาทในช่องทางอื่น

สภาพที่เป็นเช่นนี้ ทางหนึ่งอาจสะท้อนว่าประชาชนต้องการจำกัดบทบาทนักการเมืองไว้แค่ในสภา แต่อีกมุมหนึ่งคือผู้คนไม่ค่อยตระหนักถึงอำนาจที่สูญเสียไปของตัวแทนประชาชน ความคิดเห็นของนักการเมืองยังถูกมองในทางที่ตอบโต้กันในเรื่องไร้สาระ

มุมมองเช่นนี้สะท้อนว่า นักการเมืองจะต้องทำงานกันอย่างหนักอีกนาน กว่าภาพลักษณ์จะกระเตื้องมาในทางที่ดีในความรู้สึกของประชาชน