เศรษฐกิจ / จับตา ‘บิ๊กตู่’ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ประสบการณ์ 5 ปี…รู้จริงหรือท่องจำ!! พล.อ.ประยุทธ์ขอเวลาไม่นาน…ได้รู้กัน

เศรษฐกิจ

 

จับตา ‘บิ๊กตู่’ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ประสบการณ์ 5 ปี…รู้จริงหรือท่องจำ!!

พล.อ.ประยุทธ์ขอเวลาไม่นาน…ได้รู้กัน

 

นั่งเป็นหัวหน้าคุมทีมเศรษฐกิจด้วยตนเอง สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แต่ไม่ทันได้โชว์ฝีมือก็ถูกเตะสกัดจากหลายขาหลายแข้งเลยทีเดียว โดยเฉพาะฟากการเมือง

จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาตอบโต้ด้วยตนเองว่า มีประสบการณ์มากพอเพราะนั่งทำงานมา 5 ปี รู้ว่าอะไรคือปัญหา อุปสรรค จะเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้ บรรดาองครักษ์พิทักษ์นายกฯ ต่างออกมาตอบโต้

หนึ่งในนั้นมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งคำถามกลับว่า ใครวิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีไม่เหมาะสม

และยังยอมรับว่างานจะเดินไม่ได้ถ้านายกรัฐมนตรีไม่สนับสนุน

 

ประเด็นนี้ สอบถามภาคเอกชนมองตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจที่เพิ่งจัดตั้งนั้น ถือว่าเหมาะสมแล้ว ในมุม ส.อ.ท.มองว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นการรวมตัวของพรรคร่วม 19 พรรคการเมือง จึงมีความแปลกตา

ต้องยอมรับข้อนี้ ทำให้สิ่งที่หลายฝ่ายรวมทั้งเอกชนเป็นกังวล เป็นห่วงอย่างมาก คือ เอกภาพในการทำงาน โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่ผสมถึง 4 พรรคการเมือง คือ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงเป็นบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดที่สามารถสั่งการพรรคร่วมให้การดำเนินงานของรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน

หากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งดังกล่าวเท่ากับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ควบทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเท่ากับนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ควบทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การทำงานอาจเกิดปัญหา สั่งการยาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของแต่ละพรรคก็ต้องรายงานพรรคตัวเองเป็นหลัก อาจเกิดปัญหาเรื่องกระบวนการติดตามให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงเหมาะสมที่สุดที่นั่งเป็นหัวหน้าทีม เป็นประธานการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องเร่งประชุมเพื่อผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ

 

เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนยังระบุว่า สิ่งที่ทีมเศรษฐกิจควรเร่งดำเนินการแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ ปัญหาด้านกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซาโดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนฐานรากในต่างจังหวัด ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ อาจทำในรูปของการดูแลราคาสินค้าเกษตร แต่รัฐบาลเองต้องทำให้นโยบายเกิดเร็วควบคู่กับการคุมค่าใช้จ่ายรัฐที่เหมาะสม

ต่อมาคือการแก้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยระยะสั้นต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดน้ำแม้จะเดินหน้าปลูกพืชไปแล้ว ไม่เช่นนั้นจะยิ่งซ้ำเติมปัญหารายได้ กำลังซื้อของประชาชน ส่วนระยะกลางและยาว รัฐบาลต้องวางแผนแก้ปัญหา เพราะเป็นเรื่องทราบดีอยู่แล้วว่าแต่ละปีจะเกิดปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม เรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ปัญหาด้านความเชื่อมั่นก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ เพราะกระทบต่อการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะการผลักดันให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประสบความสำเร็จโดยเร็ว ในด้านความเชื่อมั่นยังรวมถึงการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นหลายจุดในช่วง 2 วันที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องความปรองดองของคนในชาติ

แค่เริ่มต้นก็เหนื่อยแล้วสำหรับรัฐบาล “ตู่ 2”

 

แต่สิ่งที่ท้าทายและหลายฝ่ายจับจ้องมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นส่วนผสมจาก 4 พรรคหลักว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตท่ามกลางปัจจัยลบสารพัดอย่างไร

หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.6% ขณะที่ส่งออกโต 2.2% โดยประเมินช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ดูจากสถานการณ์ล่าสุดมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขหลักทั้ง 2 ตัวจะปรับลดลงอีก ตามหน่วยงานอื่นๆ ที่ปรับลดตัวเลขไปก่อนหน้านี้

อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตมากกว่า 3% ขณะที่ส่งออกไม่น่าถึงขนาดติดลบ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโต 3.3% ขณะที่ส่งออกอยู่ที่ 0% รวมทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ปรับลดจีดีพีปีนี้ เติบโต 2.9-3.3% ขณะที่การส่งออกคาดติดลบ 1-1%

ทั้งหมดเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง สงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีนที่ดุเดือดตอบโต้กันไปมา ลามไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เริ่มใช้แนวทางเดียวกัน กอปรกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนภาคเอกชนออกมาเรียกร้อง ขอนัดพบธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหารือผลกระทบและมาตรการดูแลค่าเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย

นอกจากนี้ สาเหตุกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวยังยึดโยงกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น น้ำภาคเกษตรไม่พอใช้ กระทบต่อรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการลงทุนชะลอตัว โครงการอีอีซี ที่ 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญยังไม่มีการลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่แม้จะได้ผู้ชนะประมูลแล้วแต่ยังติดปัญหาสิ่งกีดขวางเส้นทาง ทำให้การลงนามเลื่อนเป็นเดือนนี้

“ในภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวจากสงครามการค้า ขณะที่การจัดงบประมาณประจำปี 2563 ล่าช้าออกไป รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นโดยเรียงลำดับความสำคัญ และต้องคำนึงถึงการเติบโตในระยะยาว ทั้งด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างเศรษฐกิจ”

นี่คือเสียงเรียกร้องจาก กกร.

 

ก่อนการประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรกเริ่มขึ้น ล่าสุดกระทรวงการคลังกำลังเร่งจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับทุกพรรค เป็นแพ็กเกจใหญ่ เพื่อเสนอ ครม.เศรษฐกิจ และ ครม.ชุดใหม่ อนุมัติภายในเดือนสิงหาคมนี้

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้หาถึงการหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยนายสมคิดได้ให้นโยบายกับกระทรวงการคลังในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจออกมารองรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทั้งเรื่องการลงทุนภาครัฐที่กระทบจากแผนใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 2563 และภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่กระทบกับเศรษฐกิจไทย เบื้องต้นทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง และธนาคารของรัฐทุกแห่ง ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระเร่งด่วน

“ในการคิดค้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งจะต้องเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและตรงเป้าที่สุด เรียกว่า หากเป็นยา ก็ต้องเป็นยาที่แรง หรือหากเป็นวัคซีนก็ต้องทำให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงสุด โดยมาตรการทั้งหมดนี้จะต้องถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์”

   หน้าตามาตรการจะดูดี โดนใจชาวบ้านแค่ไหน รออีกนิด “บิ๊กตู่” จะพิสูจน์ฝีมือ เหมือนบทเพลงที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยแต่งไว้ “ขอเวลาอีกไม่นาน…”