กรองกระแส / พันธมิตร แนวร่วม จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ และรัฐธรรมนูญใหม่

กรองกระแส

 

พันธมิตร แนวร่วม

จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่

และรัฐธรรมนูญใหม่

 

พลันที่แคมเปญ “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ได้รับการเปิดตัว ณ พุทธสถาน เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม โดยการขับเคลื่อนนำร่องผ่านพรรคอนาคตใหม่

สัญญาณแห่งความร้อนแรงทางการเมืองก็เริ่มปรากฏ

สัมผัสได้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ต้องดูว่าแก้เพื่ออะไร แก้เพื่อใคร และประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเรื่องเร่งด่วนกว่านี้คือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น”

สัมผัสได้จากท่าทีของเครือข่ายแห่งรัฐประหารที่บ้างก็มีการยกป้ายขึ้นสูงเด่นว่า “ถามประชาชน 16 ล้านแล้วหรือยัง”

แจ่มชัดว่ามิได้ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กระนั้น ความแหลมคมเป็นอย่างยิ่งก็คือ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอที่หนักแน่นและจริงจังอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และ 1 ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคพลังประชารัฐ

หากที่สำคัญอย่างที่สุดก็คือ ได้รับการบรรจุเอาไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ความหมายของคำว่า “เร่งด่วน” กำลังจะได้รับการพิสูจน์

 

รัฐธรรมนูญใหม่

นโยบายรัฐบาล

 

แท้จริงแล้ว การขับเคลื่อน “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านอันมีพรรคอนาคตใหม่นำร่อง ก็คือการขานรับ 1 ทิศทางและแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ 1 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะให้ความสนใจต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนก่อน

อันเท่ากับจะยังไม่หยิบยกเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณา

ขณะที่มีเสียงจากพรรคเพื่อไทย “ยืนยันว่าเราต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลเพราะเป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภา”

ความหมายก็หมายความว่า รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนได้ในฐานะอันเป็นฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันรัฐสภาก็สามารถดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญได้เพราะว่าเป็นเรื่องของ ส.ส. เป็นเรื่องของ ส.ว.

เท่ากับรัฐสภาสามารถเดินหน้าในเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” ไปได้ ขณะที่รัฐบาลก็สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ” ไปได้เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

 

จินตนาการใหม่

รัฐธรรมนูญใหม่

 

ถามว่าเหตุใดในการเสวนา จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ อันพรรคอนาคตใหม่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม จึงมีองค์ประกอบร่วมสำคัญ 4 ส่วน

1 นักการเมือง 1 องค์กรอิสระ 1 ปัญญาชน นักวิชาการ 1 ภาคประชาสังคม

นักการเมืองนั้นมิได้มีแต่ ส.ส.หรือแกนนำจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ตรงกันข้าม เน้นเป็นการเฉพาะไปยังนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองที่เคยเคลื่อนไหวผ่านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. และนักการเมืองและนักวิชาการที่เคยเป็นองค์กรอิสระ รวมถึงการให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษไปยังองค์กรพัฒนาเอกชน

นั่นก็เพราะตระหนักว่าปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันสัมพันธ์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันมีส่วนผลักดันให้เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 และสัมพันธ์กับ กปปส.อันมีส่วนผลักดันให้เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557

และยิ่งนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งทำให้ความคิดและกระบวนการตัดสินใจของพวกเขามีความสัมพันธ์

สัมพันธ์และทรงความหมายยิ่งในการสร้างพันธมิตรแห่งแนวร่วมทางการเมือง

ยุทธศาสตร์ก็คือ การระดมและเสาะหาข้อตกลงใหม่จากภาคส่วนต่างๆ ทางสังคมเพื่อนำไปสู่จินตนาการใหม่และรัฐธรรมนูญใหม่

 

ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี

พันธมิตรในแนวร่วม

 

ความต้องการโดยพื้นฐานคือความต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันเป็นผลพวงแห่งรัฐประหาร อันเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ

ยุทธิวิธีก็คือ จะต้องระดมและสร้างแนวร่วมอันกว้างขวางและไพศาล

ด้านหนึ่ง เคลื่อนไหวผ่านหนทางรัฐสภา อาศัยเวทีรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการผลักดันและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง การขับเคลื่อนทางรัฐสภาจะเปล่งพลานุภาพได้อย่างมีลักษณะกัมมันตะ จำเป็นต้องอาศัยพลังและการประสานร่วมมือจากมวลมหาประชาชนอย่างเป็นจริง จิตหนึ่งใจเดียวเพื่อก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ให้จงได้

   การประสานระหว่างพลังของมวลมหาประชาชนกับการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็น