วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /เริ่มฉบับแรก ฉบับที่สอง สาม สี่ พร้อม!

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์        

เริ่มฉบับแรก ฉบับที่สอง สาม สี่ พร้อม!

กําลังใจและแรงกายของคนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือ คือผู้อ่าน ยิ่งมีผู้อ่านมาก มีผู้อุดหนุนมาก และมีผู้ลงแจ้งความโฆษณามาก “เรา” ยิ่งมีแรงมีกำลังที่จะทำหนังสือให้ดี และเสาะหาผู้เขียน นักประพันธ์ที่ท่านชื่นชมชื่นชอบและต้องการอ่านมานำเสนอให้ท่านมากขึ้น

มติชนสุดสัปดาห์เล่มสองมิได้รอคำตอบจาก “ผู้อ่าน” เข้ามาก่อน แล้วจึงผลิตฉบับต่อไป หากแต่หลังจากเริ่มต้นคิด เริ่มต้นวางแผนมติชนสุดสัปดาห์จะนำเสนอเนื้อหาสาระอย่างไรและอะไรให้ผู้อ่าน ผู้เขียนนักประพันธ์ในฉบับแรกจึงมีต้นฉบับรอสำหรับฉบับที่สองที่สามต่อเนื่องในแฟ้มต้นฉบับพร้อมแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาว “คนดีศรีอยุธยา” ที่เสนีย์ เสาวพงศ์ เริ่มเจียระไนจาก – อารัมภกถา – ข้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กา มี แก้ไขในเท่านี้ มีมิดีอย่าตรีชา – จาก มูลบทบรรพกิจ

และ…

 

ขณะนั้น แต่บรรดาประชาชนทั้งหลายซึ่งหนีพม่าเหลืออยู่นั้น ต่างก็คุมสมัครพรรคพวกครอบครัวอยู่เป็นพวกเป็นเหล่า ผู้ใดที่มีฝีมือเข้มแข็งก็ตั้งตัวเป็นนายชุมนุม ซ่องสุมคุ้มครองผู้คนครอบครัวเป็นอันมาก ตั้งชุมนุมอยู่แห่งหนึ่ง แต่ชุมนุมตั้งอยู่ดังนี้มีในจังหวัดแขวงกรุงและแขวงหัวเมืองและสวน และหัวเมืองอื่นฝ่ายเหนือใต้เป็นอันมากหลายแห่งหลายตำบล ขัดสนด้วยข้าวปลาอาหารและเกลือไม่มีจะกิน ต่างรบพุ่งชิงอาหารกัน ชุมนุมนี้ยกไปตีชุมนุมนั้น ชุมนุมนั้นไปตีชุมนุมโน้น ต่อๆ กันไป…

นั้นมาจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา

และบทเพลง “แม่ศรีเมือง”

 

“โอสาวเอยสำอาง            แสนเสนาะเอยคือเพลง

เจ้าเอวบางลู่ลม                        ยามบรรเลงด้วยอาวุธ

งามน่าชมพริ้วกาย                       มือน้องนุชมั่นคง

ร่ายรำถวายชัยชนะ                      ดุจพญาหงส์กรายกร

ส่ำศัตรูจะพังทลาย                       เหล่าดัสกรวอดวาย

แม่ศรีเมืองเยื้องกราย        แม่ศรีเมืองอยุธยา

สอบดาบสะพายพร้อมเพรียง          กู้เกียรติมากลับคืน

แซ่ซ้องเสียงอวยชัย                      ให้ยั่งยืนชั่วกัปกัลป์

ยามเจ้าไปยุทธนา                        ทั่วขอบขัณฑ์เขตคาม

เจ้าแก้วตาของทวยชน                  ให้สมนามแม่ศรีเมือง เอย

 

แล้วขึ้นต้นเรื่องด้วยคำถามว่า

“เอ็งพวกใคร?”

“ท่านผู้ใหญ่ที่เคารพ ข้ามีด้วยกัน 3 คนเท่านี้ ไม่ได้เป็นพวกใครที่ไหน”

“เป็นพี่น้องกันหรือ?”

“ถึงไม่ได้คลานตามกันมาจากท้องแม่เดียวกันก็รักนับถือกันเหมือนพี่น้อง”

“นั่นสิ กูดูรูปร่างหน้าตามันไม่มีเค้าเหมือนกันเลย แล้วเอ็งชื่อเสียงเรียงใดกันมั่ง”

“คนนี้ชื่อโต เป็นพี่ ข้าชื่อน้อย เป็นคนกลาง แล้วคนนี้ชื่อเล็ก”

“พวกเอ็งทำมาหากินอะไรกัน”

“ยังไม่ได้ทำมาหากินอะไรหรอก ท่านผู้ใหญ่ ตั้งใจจะไปเที่ยวตามหาญาติที่พลัดพรากจากกัน พบแล้วก็จะตั้งหลักตั้งตัวกันต่อไป”

“ข้าสงสัยว่าเอ็งจะเป็นพวกโจร พวกหัวขโมยเสียละมากกว่า ทำไมพวกเอ็งมาทางนี้”

“กำลังจะล่องไปทางใต้เพื่อสืบหาญาติ คนของท่านผู้ใหญ่คุมตัวพวกข้ามาแต่หัวคุ้งโน้น”

“นั่นแหละ เอ็งมาทางนี้ก็ต้องผ่านบ้านข้าอยู่วันยังค่ำ”

“บ้านท่านผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ริมคลอง จึงมองไม่เห็น ธรรมดาคลองย่อมเป็นของกลางที่ใครๆ ก็ใช้ได้ ข้าจะผ่านไปอย่างเงียบๆ โดยสุจริต”

“ยามนี้มันก็ต้องระมัดระวัง ไม่รู้ว่าใครเป็นพวกใคร ไว้ใจใครไม่ได้ทั้งนั้น ข้าก็ต้องระวังถิ่นของข้าเหมือนกัน แล้วก็เดี๋ยวนี้มีใครอยู่ริมคลองริมแม่น้ำกันมั่ง ที่เคยอยู่ก็ถอนเสาเรือนย้ายเข้าไปข้างในลึกๆ ข้าศึกก็ยังอยู่ โจรก็แยะ… เฮ้ย! ในเรือมันมีอะไรบ้างวะ”

“ค้นดูทั่วแล้ว นาย ในเรือมันมีผ้าห่มเก่าๆ 3 ผืน หม้อใบหนึ่ง กระบอกไม้ไผ่ 3 กระบอก ข้าวตากครึ่งกระบุงแล้วก็เกลือค่อนกระปุก”

“ไม่มีอาวุธ?”

“ไม่มี นาย”

“พวกเอ็งมีอะไรดีหรือวะ ถึงได้กล้าไม่มีอาวุธแม้แต่พร้าสักเล่ม”

“คนไร้สมบัติย่อมไม่กลัวโจร คนอ่อนน้อมย่อมไม่มีใครข่มเหง”

“เอ็งเชื่อยังงั้นหรือ ไอ้หนูเอ๋ย ยังเด็กนัก เมื่อเอ็งโตกว่านี้สักหน่อยเอ็งจะรู้ว่า คนมันเบียดเบียนกันอยู่ทุกวัน เวลานี้มันปล้นกันแม้เพียงเกลือสักไห คนมันข่มเหงเพราะมันรู้ว่าคนไม่สู้ หรือเห็นว่าสู้ไม่ได้ คนยิ่งถ่อมยิ่งถูกถีบง่าย”

“ท่านผู้ใหญ่พูดเป็นคติ ขอน้อมรับคำของท่านไว้เตือนใจ” …

 

เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้เขียนเรื่องยาวมานักต่อนัก ขึ้นต้น “เรื่องยาว” – “คนดีศรีอยุธยา” ไว้อย่างนั้น ทั้งยังมีคำนำเรื่องเพิ่มอีกด้วยว่า “จักเลี้ยงชีพเคร่าครีครอ อยู่เท่าเพียงพอ ชีพิตก็ยากยังฉงน”

ใช่เพียงเท่านั้น มติชนสุดสัปดาห์ฉบับปฐมฤกษ์ ยังมีนักเขียน “รุ่นเดอะ” เจญ เจตนธรรม ผู้เขียนท้าทายมนุษยธรรมในคอลัมน์ “ชีวิตที่เหลืออยู่” โปรยเรื่องแรกว่า “ศีลธรรมเป็นเพียงกล่าวอ้างโก้หรูที่ว่างเปล่า มนุษยธรรมก็ไม่ต่างอะไรกับแพรผืนงามที่คลุมหัวใจอันโสโครก”

คอลัมน์ของ “สหจร” หนึ่งใน “มหา” ผู้เจนจบเปรียญนอกคัมภีร์หลายประโยค ประเดิมด้วยเรื่อง “ยัดเยียดศีลธรรมให้เด็กมากเกินไป” มาพร้อม “หมอเพชร โหราเฟื่อง” – เดินตามดาวของผู้คนทั้ง 12 ราศี

ที่ขาดมิได คือเกร็ดจากนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ปรมาจารย์ในวงการหนังสือพิมพ์ “สุภา ศิริมานนท์” ผู้ยืนยันว่า “หนังสือพิมพ์เป็นตำราของประชาชน และเป็นตำราที่ถูกที่สุด เพียงแค่อ่านหนังสือออกก็เรียนรู้ได้”