คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เมื่อข้าพเจ้าทดลองวาดภาพพระบฏ (ทังกา)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านเล่าเรื่องอะไรที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวอยู่บ้าง ซึ่งที่จริงผมก็มักเล่าเสมออยู่แล้ว (ฮา)

แต่คราวนี้เนื่องจากยังอินอยู่ในบรรยากาศของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานและเรื่องศิลปะศาสนา

จึงอยากขอโอกาสเล่าเรื่องการวาดภาพ “พระบฏ” ของตนเอง

หวังใจว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

“ภาพพระบฏ” เป็นการวาดภาพพระพุทธะ หรือพุทธประวัติ หรือชาดกต่างๆ ลงบนผืนผ้าใบ สำหรับใช้แขวนในศาสนสถานหรือใช้ในพิธีกรรม

ผมเข้าใจว่า ไม่ว่าในนิกายไหนก็ล้วนมีภาพพระบฏทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าภาพพระบฏในเมืองไทยจะหาค่อนข้างยาก เนื่องจากสร้างจากวัสดุที่ไม่คงทนจึงเสื่อมสลายไปเกือบหมด

และความนิยมสร้างภาพพระบฏน้อยกว่าพระพุทธรูปไปแล้ว

 

คําว่า บฏ มาจากคำบาลีว่า ปฏ แปลว่าผ้าหรือผ้าทอ ซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับการวาด

ภาพพระบฏที่มีชื่อเสียงที่สุดในปัจจุบันของบ้านเรา คือภาพพระบฏที่ใช้แขวนในพิธีเลี้ยงดง หรือการเซ่นไหว้ผีปู่แสะย่าแสะที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมเข้าใจว่าเป็นสมบัติเก่าแก่ของวัดพระธาตุดอยคำ

นอกนั้นประเพณีการใช้ภาพพระบฏในพิธีกรรมของบ้านเราแทบไม่ปรากฏแล้ว

ในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน พระบฏเป็นพุทธศิลป์สำคัญสืบทอดมาจากอินเดีย และส่งอิทธิพลไปยังดินแดนที่พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานแพร่ไปถึงไม่ว่าจะทิเบต เนปาล ภูฏาน จีน ฯลฯ จนกระทั่งพัฒนามามีเอกลักษณ์ของตนเองต่างกับพุทธศิลป์จีน

ทิเบตเรียกภาพพระบฏว่า ทังกา (Thankga) : ซึ่งแปลว่า ธง (Thank) ภาพวาด (Ka) ทำนอง “ตุงภาพ” อาจเพราะใช้แขวนเหมือนธง

 

ในประเพณีฝ่ายวัชรยานนั้น สถานภาพของทังกาเท่ากับ “พระพุทธรูป” องค์หนึ่งเลยทีเดียว นอกจากภาพวาดของพระพุทธะ พระโพธิสัตว์ทั้งบุรุษสตรี ไม่ว่าจะในปางสันติหรือพิโรธ ยังมีการวาด พระฑากินี พระวิทยาธร พระธรรมบาล ครูบาอาจารย์ที่เป็นมนุษย์ เหล่าทวยเทพ หรือมณฑลและสัญลักษณ์ต่างๆ

ทังกาใช้เทคนิควาดลงบนผ้าใบเป็นหลัก ในสมัยโบราณต้องใช้แร่และหินสีชนิดต่างๆ มาบดเพื่อทำสี ในปัจจุบันใช้สีวิทยาศาสตร์ และนอกจากนั้นยังมีเทคนิคการปักซึ่งไม่เป็นที่นิยมเท่าใด

ทังกามีขนาดตั้งแต่เล็กๆ ที่สามารถม้วนและพกพาไปไหนต่อไหนได้ ไปจนใหญ่โตเท่าตึกหลายๆ ชั้น ประเภทหลังนี้มักจะกางออกให้ประชาชนสักการะเฉพาะในเทศกาลสำคัญปีละไม่กี่ครั้งเท่านั้น

นอกจากจะอยู่ในฐานะสิ่งสักการะเหมือนพระพุทธรูปแล้ว ทังกายังถือเป็น “มณฑล” รูปแบบหนึ่ง เพราะมีองค์ประกอบต่างๆ ของมณฑล เช่น พระพุทธะที่เป็นประธานหลัก พระโพธิสัตว์บริวารที่เกี่ยวข้องกัน คุรุ พระอาทิตย์พระจันทร์ ฯลฯ คือใช้สำหรับการทำสมาธิภาวนาได้ด้วย

พระระดับสูงในทิเบตโดยมากจึงมักเรียนวาดภาพทังกากัน เพราะช่วยให้จดจำรายละเอียดต่างๆ ของพระพุทธะที่ตนเองทำสมาธิถึงได้ (ที่เรียกว่าพระยีตัม)

องค์กรรมาปะที่สิบเจ็ด (ออกเย็น ทรินเลย์ ดอร์เจ) ผู้เป็นประมุขของนิกายกาจูร์องค์ปัจจุบัน มีฝีมือในการวาดทังกามาก นับเป็นงานที่มีชื่อเสียงอย่างหนึ่งของพระองค์

 

ชาวพุทธวัชรยานให้ความสำคัญกับสามสิ่งของพระพุทธะเป็นพิเศษ คือ ใจ มีตัวแทนเป็นพระสถูปหรือเจดีย์ (เพราะใจเป็นสิ่งนามธรรม) วาจา มีตัวแทนเป็นพระธรรมคัมภีร์ต่างๆ และกาย มีตัวแทนเป็นพระพุทธรูปหรือทังกา

ผมสนใจพุทธศิลป์มานาน แต่ก็ไม่เคยได้เรียนศิลปะอย่างจริงๆ จังๆ จนเมื่อวัชรสิทธาเปิดคอร์ส “วาดพุทธะ” ซึ่งก็คือการสอนวาดทังกาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้ที่ผมเคารพคุ้นเคยเป็นผู้สอน ผมจึงสมัครไปเรียนพร้อมภรรยา

อาจารย์ศุภโชคหรือพี่ดอนสอนพวกเราอย่างใจเย็น และเน้นให้ลงมือปฏิบัติให้ลุล่วงในสองวัน เราเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้น สิ่งที่อาจารย์พี่ดอนเน้นย้ำมากคือ ตามประเพณีแล้วรูปเหล่านี้ให้ความสำคัญกับ “สัดส่วน” เป็นพิเศษ ขั้นตอนแรกเราจึงต้องตีตารางลงบนผ้าใบตามลำดับแล้วจึงค่อยๆ ร่างแบบ ลงสี แล้วตัดเส้นเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ในคอร์สเบื้องต้นเน้นวาดพระพุทธะซึ่งเราคุ้นเคยกันดี เมื่อต้องการจะไปต่อจึงค่อยเรียนวาดพระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธในระดับสัมโภคกายซึ่งมีรายละเอียดและยากกว่า

ซึ่งรายละเอียดของรูปเหล่านี้ว่าองค์ไหนสีไหน ถืออะไรทำท่าไหน มีระบุอยู่ในคัมภีร์สันสกฤตชื่อ “สาธนมาลา”

 

รูปแรกผมวาดพระพุทธศากยมุนี แล้วจู่ๆ ก็พยายามเปลี่ยนให้เป็นพระอมิตาภะตามความชอบของตัวเอง คือเปลี่ยนสีกายท่านให้เป็นสีแดงแต่ไม่ได้แก้มุทราหรือท่ามือ จึงเป็นภาพที่ออกจะประดักประเดิดอยู่หน่อยๆ ใครว่าสวยไม่สวยผมไม่รู้ รู้แต่ผมมีกำลังใจให้ตัวเองมาก (ฮา)

จบคอร์สนั้นผมมาฝึกหัดต่อ ภาพถัดมาผมตั้งใจวาดพระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช ด้วยความระลึกถึง โดยกะจะเอาไว้ถวายหากท่านมาเมืองไทย

เมื่อวาดเสร็จได้นำไปถวายท่าน ดูท่านออกจะขำๆ ที่เห็นภาพนั้น ส่วนฉบับก๊อบปี้ผมเก็บไว้กราบไหว้เอง

ภาพที่สามคือภาพพระศากยมุนีที่ภรรยาวาดในคอร์สเดียวกันแต่ไม่เสร็จ ผมจึงวาดต่อจนเสร็จและเก็บไว้ที่หิ้งของห้องภรรยา

ทั้งสามภาพวาดบนผ้าใบที่ติดลงบนแผ่นกระดาน ซึ่งอาจารย์ท่านว่าวาดสะดวกแก่ผู้หัดใหม่เพราะมันไม่ยวบยาบตามแรงมือ ใช้สีอะครีลิก แต่ความที่เส้นใยผ้าใบไม่เรียบจึงเป็นอุปสรรคแก่ผมพอควร

รูปที่สี่ ผมได้รับผ้าใบชนิดเรียบสวยขนาด 30 คูณ 40 เซนติเมตรมาจากวิจักขณ์เพื่อนรัก และลองใช้สีอะครีลิกโทนไทยแบบด้าน ซึ่งอาจารย์แนะนำว่าจะเหมือนอย่างประเพณีและวาดสะดวกมากกว่า

ผมทิ้งอุปกรณ์ไว้นานจนทราบข่าวว่าพระอาจารย์กุงกาจะมาเมืองไทยในปีนี้จึงได้เริ่มต้นวาด ด้วยหมายใจว่าหากเสร็จทันจะได้ขอให้ท่านอธิษฐานจิตให้

 

คราวนี้ผมเลือกวาดพระอวโลกิเตศวร ในปาง “ษฑักษรีโลเกศวร” หรือปางแห่งมนต์หกพยางค์ (โอมฺ มณีปทฺเม หุมฺ) ซึ่งชาวทิเบตนิยมนับถือเป็นพิเศษ มีพระกายขาว มีสี่กร ทรงประคำ ดอกบัว และแก้วจินดามณี

ที่เลือกพระองค์นี้เพราะมีความผูกพันทางจิตใจเป็นพิเศษครับ ถ้าเสร็จจะได้มีไว้สักการะเอง รวมทั้งยังได้ฝึกทั้งจิตใจบวกฝีมือไปในคราวเดียวกัน

คราวนี้ผมตั้งใจกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา คือไม่ได้เร่งรีบอะไร และพยายามทำตามประเพณี เช่น ก่อนวาดจะภาวนาและสวดมนต์ถึง จบด้วยการอุทิศกุศล

พี่ดอนเล่าว่า ในทิเบตนั้น จิตรกรจะตื่นแต่เช้าชำระกาย แล้วจึงทำสมาธิตั้งนิมิตถึงภาพที่จะวาด แล้วค่อยลงมือวาดเพราะถือกันว่าภาพนั้นผู้คนจะนำไปสักการะจึงต้องให้ความเคารพ

นอกจากนี้ เมื่อวาดเสร็จพระลามะจะทำพิธีพุทธาภิเษกแล้วอาจเขียนมนต์แห่งกายวาจาใจแห่งพุทธะไว้ด้านหลัง ก็เป็นอันว่าภาพนั้นใช้สักการบูชาได้

 

ผมเริ่มด้วยการวาดแกนกลางภาพและตีตารางด้วยดินสอเพื่อให้ได้สัดส่วนตามประเพณี จากนั้นจึงค่อยร่างภาพและลบส่วนที่เป็นตารางออก ระหว่างนั้นก็คอยหาข้อมูลเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ

กว่าจะร่างเสร็จก็หลายอาทิตย์ครับ ขั้นต่อมาคือการลงสี ซึ่งเริ่มจากฉากหลังไล่มาที่องค์ประกอบข้างนอก เช่น พระอมิตาภะด้านบน เมฆ (ผมไม่วาดทิวทัศน์ใดๆ เลย) พระอาทิตย์พระจันทร์ ดอกบัว แล้วจึงค่อยๆ วาดมาถึงรัศมีรอบๆ แล้วก็ลงสีเสื้อผ้า เครื่องประดับ ร่างกาย จากนั้นตัดเส้นองค์ประกอบทั้งหมด และวาดใบหน้า โดยมีดวงตาเป็นสิ่งสุดท้าย

ที่ยากคือการไล่น้ำหนักและตัดเส้นนี่แหละครับ โดยเฉพาะมือสมัครเล่นอย่างผม รูปนี้จึงใช้เวลาทั้งหมดไปเกือบๆ สองเดือน

บางครั้งเนิ่นช้าเพราะมัวชื่นชมฝีมือตัวเอง บางครั้งคิดไม่ตกว่าจะไปต่อยังไง บางครั้งพลาดต้องแก้ใหม่ แต่ไม่รู้เพราะอะไร ผมอ่อนไหวกับงานนี้มาก ช่วงใกล้เสร็จนั้นมีวันหนึ่งผมร้องไห้ออกมาอย่างมากมาย ถึงกับสะอึกสะอื้นอยู่คนเดียวในห้อง

ผมคิดว่าสองเดือนที่จมอยู่กับภาพนี้ ราวกับได้เห็นเส้นทางการปฏิบัติของเรา มีทั้งความลังเลสับสน มีทั้งความชื่นชมตนเองเกินพอดี มีความผิดพลาด มีความสงบนิ่งลึก ฯลฯ แต่กระนั้นก็ย้ำเตือนว่า หากเราไม่หยุดเดินสักวันหนึ่งเราก็จะถึงเป้าหมาย

ภาพนี้ราวกับผมได้สื่อสารกับคุณค่าบางอย่างที่อยู่ในใจตนเอง เมื่อตระหนักว่า พระโลเกศวรตรงหน้าคือคุณลักษณะที่ผมและใครๆ ล้วนมีอยู่ในหัวใจ ผุดพรายขึ้นจากความว่างเปล่าแห่งศูนยตา ปรากฏเป็นรูปอันมากด้วยสีสันและความกรุณา

ท้ายที่สุด รูปนี้ก็เสร็จทันให้พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช อธิษฐานจิตให้ด้วยความเมตตา

แม้จะมีอหังการเจือปนอยู่บ้าง แต่ผมก็หวังว่ากุศลจากงานชิ้นนี้จะมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

ตลอดจนผู้อ่านทุกท่าน