เทคโนโลยีเดินเรือข้ามคาบสมุทร ในอ่าวเบงกอล หลัง พ.ศ.1000 นำ “อุษาคเนย์” ออกจาก “สุวรรณภูมิ” ในปรัมปราคติ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ดูเหมือนว่า ในช่วงก่อน พ.ศ.1000 ใครต่อใครที่อยู่ภายนอกโลกของอุษาคเนย์นั้น จะเรียกภูมิภาคของเราไปในทิศทางเดียวกันว่า “แผ่นดินทอง”

ซึ่งก็มีคำเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภาษา แถมยังมีเรื่องเล่าผูกโยงในเชิงปกรณัมเสียมาก

ตัวอย่างสำคัญก็คือ ชื่อ “สุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นคำสันสกฤต ใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกของชมพูทวีป มีพยานอยู่ในชาดก หรือเอกสารเก่าแก่ทั้งของอินเดียและลังกาจำนวนมาก

และก็ไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่า ดินแดนทางทิศตะวันออกของชมพูทวีปที่ว่า หมายถึงพื้นที่อีกฟากข้างหนึ่งของอ่าวเบงกอล ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า “อุษาคเนย์” นี่แหละ

(ส่วนจะจำเพาะเจาะจงว่าหมายถึงดินแดนตรงไหนในอุษาคเนย์หรือเปล่านั้น ไม่ใช่ประเด็นที่ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการจะถกเถียงถึง)

 

ร่องรอยสำคัญที่ทำให้ชาวชมพูทวีปเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” คือ “แผ่นดินทอง” มีอยู่ในชาดกของพระพุทธศาสนาอย่างพระมหาชนก ที่อ้างว่า ผู้ที่สามารถมาทำการค้ายังสุวรรณภูมิได้กลับไป จะกลายเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย

จึงไม่แปลกอะไรที่ดินแดนแห่งนี้จะถูกเรียกว่าสุวรรณภูมิ ไม่ว่าภูมิภาคของเราจะเต็มไปด้วยทองอย่างชื่อหรือเปล่าก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเสียหน่อย?

ในทำนองคล้ายๆ กัน จีนก็เรียกพื้นที่บริเวณอุษาคเนย์ปัจจุบันว่า “จินหลิน” คำนี้ก็มีความหมายไม่ต่างไปจากสุวรรณภูมิในภาษาสันสกฤต เพราะถอดความออกมาได้ไม่ต่างกันว่า “แผ่นดินทอง” แต่ไม่ได้มีเรื่องราวในเชิงปกรณัมมากำกับอย่างชัดเจนนัก

พวกฝรั่งก็เรียกดินแดนแห่งนี้ไม่ต่างไปจากแขกพราหมณ์ หรือเจ๊กจีน จดหมายเหตุฝรั่งชิ้นเก่าแก่สุดที่อ้างถึงดินแดนที่มีชื่อตรงกับสุวรรณภูมิคือตำราภูมิศาสตร์ “Cosmographia” (Cosmography) เขียนโดยปอมโปนิอุส เมลา (Pomponius Mela) นักภูมิศาสตร์ชาวโรมันเชื้อสายสเปนตอนใต้ เมื่อราว พ.ศ.586 ระบุไว้ว่า “Chryse” หรือ “แผ่นดินทอง” ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอินเดีย

แถมพวกฝรั่งเองก็มีทัศนะต่อแผ่นดินทองไม่ต่างไปจากพวกพราหมณ์อินเดีย คือเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง หนังสือ Antiquitates Judaicae (Antiquities of the Jews) ของฟลาวิอุส โจเซฟุส (Flavius Josephus) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน ที่เขียนขึ้นราว พ.ศ.636-637 ถึงกับอ้างว่า “แผ่นดินทอง” ก็คือ “Ophir” เมืองแห่งขุมทรัพย์บรรณาการของกษัตริย์โซโลมอนตามข้อความในพระคัมภีร์ (Bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ส่วนพันธสัญญาเดิม (Old Testament) เลยทีเดียว

เรื่องราวของแผ่นดินทองยังมีลักษณะที่ถูกทำให้โรแมนติกในโลกตะวันตกอยู่อีก ดังเช่น เอกสารที่ชื่อว่า Periplus Maris Erythraei (Periplus of The Erythrean Sea คือบันทึกการเดินเรือในทะเลเอรีเธรียน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ทะเลแดง” แต่ทะเลแดงในความหมายของกรีกยุคโน้น ได้หมายรวมถึงอ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดียเอาไว้ด้วย) ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ในช่วงราว พ.ศ.600 ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า “แผ่นดินทองเป็นดินแดนแห่งสุดท้ายที่มีผู้คนอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกไกลสุดของโลก ณ บริเวณที่ตะวันขึ้น”

ดังนั้น ถ้าใครในยุคโน้นจะเชื่อว่า ที่แผ่นดินทองตรงขอบโลกทางทิศที่ตะวันขึ้น มีขุมทรัพย์ของกษัตริย์โซโลมอนอยู่ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่พิลึกอะไรนัก

 

แน่นอนว่า อุษาคเนย์ไม่ใช่ดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกสุดของโลกหรอกนะครับ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ยังจำกัดอยู่ในสมัยนั้น ทำให้พวกฝรั่งเข้าใจผิดอะไรอยู่หลายอย่าง อย่างเช่นใน Cosmographia ของเมลา ก็ยังเข้าใจว่า สุวรรณภูมิเป็น “เกาะ” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Periplus Maris Erythraei ก็ยังเป็นหลักฐานข้างฝ่ายโลกตะวันตก ที่ให้ภาพของอุษาคเนย์ที่น่าสนใจที่สุดในแง่ของภาพชีวิตที่ถูกบรรยายเอาไว้ในเอกสารชิ้นนี้

ในเอกสารชิ้นดังกล่าวได้อ้างว่า อย่างน้อยตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ.500 เป็นต้นมา ในเขตมหาสมุทรอินเดีย จากช่องแคบโมซัมบิก (ช่องแคบระหว่างประเทศโมซัมบิก ในแอฟริกาตะวันออก กับเกาะมาดากัสการ์) ถึงอุษาคเนย์ ได้เกิดมี “ชุมชนชาวน้ำ” ที่มีกลุ่มอาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ

อันประกอบไปด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงประเภทต่างๆ และอาชีพอื่นที่สัมพันธ์กับการประมง กะลาสีเรือ ช่างฝีมือ พ่อค้า เจ้าของเรือ

แต่ละชุมชนเลี้ยงตัวเองได้ ขณะที่พ่อค้าจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มภาคีหรือสมาคมพ่อค้า การรวมตัวของบรรดาสมาชิกสมาคมดังกล่าวล้วนแต่ตัดข้ามพรมแดนของชุมชน แต่กลับยึดโยงให้อาณาบริเวณต่างน่านน้ำติดต่อถึงกัน

เมื่อเกิดการค้าขึ้นก็ต้องมีบริเวณแหล่งตรงกลางสำหรับเป็นที่แลกเปลี่ยนชุมชนหรือเป็นเมืองท่า สำหรับในอินเดีย ร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีล้วนแสดงให้เห็นว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนในมหาสมุทรอินเดียเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลชายฝั่ง โดยเฉพาะทะเลด้านตะวันตกของอินเดีย

 

ควรเข้าใจด้วยนะครับว่า ในพื้นทะเลที่โปร่งโล่ง ความเข้าใจเรื่องลมมรสุมประจำฤดูกาลเป็นเรื่องที่สำคัญเอามากๆ ใน Periplus Maris Erythraei ยังได้อ้างด้วยว่า ในช่วงปลายศตวรรษของ พ.ศ.500 ชาวโรมันเชื้อสายกรีกคนหนึ่งชื่อ ฮิบปาลุส (Hippalus) ได้ค้นพบกระแสลมมรสุมที่พัดตรงไปมาระหว่าง ทะเลแดง กับชมพูทวีป ในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน ลมมรสุมที่ว่าภายหลังเรียกชื่อว่า “ลมมรสุมฮิบปาลุส” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

การค้นพบดังกล่าวก่อให้เกิดการเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทร เป็นผลให้การค้าโลกขยายตัวขนานใหญ่ พ่อค้าสามารถเดินทางค้าขายระยะไกลได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เส้นทางการค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ เส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันตก และชมพูทวีป

ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ พ่อค้ายุคแรกๆ ที่เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตก จึงมักจะเป็นชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ชาวอาหรับ และชนพื้นเมืองแห่งคาบสมุทรอาระเบีย ชาวพื้นเมืองแอฟริกาตะวันออก กลุ่มคนเหล่านี้ได้เดินทางทำการค้าขายต่อเนื่องมายังโลก ทางทิศตะวันออกที่ไกลออกไปคือ สุวรรณภูมิ

หลักฐานว่าหากต้องการเดินเรือจากฝั่งตะวันออกของชมพูทวีปไปยังสุวรรณภูมิ จะต้องโดยสารเรือแล่นเลียบชายฝั่งไป โดยจะต้องไปเปลี่ยนขึ้นเรือที่แหลมทางตอนใต้สุดของชมพูทวีป ดินแดนในปริมณฑลอำนาจของพวก “ทมิฬ”

ข้อมูลใน Periplus Maris Erythraei ยังสอดคล้องกับหลักฐานในหนังสือ “ฮั่นซู” จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันนัก กล่าวถึงการเดินเรือไปอินเดียว่า ออกเรือจาก “เมืองเหอผู่” ในมณฑลกวางตุ้ง เลียบชายฝั่งเวียดนามเข้าอ่าวไทย แล้วขึ้นบกออกเดินไปต่อเรือที่อีกฟากหนึ่งในทะเลอันดามัน

ดังนั้น บรรดา “ชาวน้ำ” ที่ถูกอ้างอยู่ใน Periplus Maris Erythraei จึงย่อมมีบทบาทสำคัญในการเดินเรือมาสู่ “สุวรรณภูมิ” หรือ “อุษาคเนย์” ในช่วงก่อน พ.ศ.1000 เพราะการเดินทางมายังภูมิภาคแห่งนี้ เป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่งนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ในยุคหลัง พ.ศ.1000 การเดินเรือในพื้นที่อ่าวเบงกอล ก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะมีหลักฐานว่า ไม่ใช่การเดินเรือเลียบชายฝั่งเหมือนก่อนหน้า แต่เป็นการเดินเลยตัดข้ามคาบสมุทร ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์เรื่องลมมรสุม

ก็อย่างเดียวกันกับการพบลมมรสุมฮิบปาลุส นั่นแหละครับ

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ผมค้นได้เกี่ยวกับการเดินเรือตัดข้ามคาบสมุทรในอ่าวเบงกอล อยู่ในบันทึกของหลวงจีนอี้จิง

โดยเมื่อ พ.ศ.1216 อี้จิงจึงได้เดินทางต่อไปยังชมพูทวีป คืออินเดีย ระหว่างทางท่านได้บันทึกว่าได้แวะพักที่ “เกาะคนเปลือย” ซึ่งก็คือหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่กลางอ่าวเบงกอล ก่อนจะมุ่งตรงไปยังเมืองตามรลิปติ (อ่านว่า ตาม-ระ-ลิ-ปะ-ติ) อันเป็นเมืองท่าสำคัญที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา ในประเทศอินเดีย

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เรือของหลวงจีนรูปนี้ไม่ต้องเสียเวลาไปเดินเลียบชายฝั่งเหมือนยุคก่อนหน้า แต่ได้เดินตัดข้ามคาบสมุทร โดยมีหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นจุดแวะพักเติมน้ำท่า และเสบียง แหล่งสำคัญ

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีการค้นพบลมมรสุมที่ใช้สำหรับการเดินเรือตัดข้ามคาบสมุทรในอ่าวเบงกอลเมื่อไหร่แน่ แต่เทคโนโลยีการเดินเรือตัดข้ามคาบสมุทรนี้ สัมพันธ์อยู่กับช่วงเวลาที่ศาสนาและวัฒนธรรมจากชมพูทวีปแพร่กระจายเข้ามาในอุษาคเนย์ในช่วงหลัง พ.ศ.1000 ไม่ต่างไปจากที่เทคโนโลยี และสินค้าต่างๆ จากโลกตะวันตกได้แพร่หลายเข้ามาในอินเดียมากขึ้นหลังพบลมมรสุมฮิบปาลุสในช่วงหลัง พ.ศ.500

ดังนั้น เทคโนโลยีการเดินเรือข้ามคาบสมุทรในอ่าวเบงกอล จึงสัมพันธ์อยู่กับการเข้ามาของตัวอักษร ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ จากอินเดีย ในภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมกับที่ได้นำเอาภูมิภาคอุษาคเนย์ออกจากความเป็นสุวรรณภูมิ ในปรัมปราคติ