การบริหารคนในแบบของ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’

“เจ้าสัว”

ผมเองเป็นคนไม่ค่อยจะได้ลางานครับ

หน้าที่รับผิดชอบที่บริษัทก็หนักหนาเอาการ

แถมตัวเองเป็นคนไม่ได้รีบร้อนอยากไปเที่ยว เดินทาง

งานอดิเรกที่รักมากที่สุด ส่วนตัว

ก็คือ การอ่านหนังสืออยู่บ้าน

นานๆ ทีจะพาครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตัดสินใจหยุดงานหนึ่งวัน เพื่อที่จะเดินทางไปที่ “เขาใหญ่”

ไม่ได้ไปพักผ่อนแต่อย่างใด

แต่ไปพบบุคคลท่านหนึ่ง

ผู้ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นนักธุรกิจในตำนานของเมืองไทยแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบัน หรืออนาคต

คุณธนินท์ เจียรวนนท์

ประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์

หรือที่เราเรียกกันว่ากลุ่มซีพีนั่นเอง

บุคคลที่เป็นต้นแบบของคำว่า “เจ้าสัว”

มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทย

และหนึ่งในร้อยของโลก

กับมุมมองทางธุรกิจที่หาอ่านไม่ได้จากที่ไหน

องค์กรในเมืองไทยหลายๆ แห่ง

กำลังจะต้องปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างซีพีก็เช่นเดียวกัน

คุณธนินท์พูดติดตลกให้พวกเราฟังว่า

หลายคนบอกว่า คนเรายังไงก็ต้องกิน ซีพีไม่มีวันลำบากแน่ๆ

แต่คุณธนินท์กลับรู้สึกกลัว หวาดระแวงเล็กๆ เสมอ

ถ้าคนเรากลายเป็นกิน “เนื้อเทียม” กันได้

รสชาติเหมือนเนื้อ ได้คุณค่าทางอาหารเหมือนเนื้อ

แต่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

เชื่อเหลือเกินว่า อาหารอย่างไก่ซีพีก็จะลำบากได้ไม่แพ้กัน

ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ “แอนดี้ โกรฟ”

อดีตซีอีโอของบริษัทอินเทล

ที่ว่า “คนที่หวาดระแวงเท่านั้น ที่จะอยู่รอด (Only the paranoid survive)”

เป็นคำพูดติดปากของผู้บริหารในประเทศอเมริกาทีเดียว

คุณธนินท์พูดแสดงให้เห็นสิ่งเดียวกัน

เวลาที่ดี ก็ไม่ควรจะนิ่งนอนใจ

ต้องศึกษาหาข้อมูล เตรียมรับมือกับวันที่ไม่ดี

พอเมื่อวันที่ไม่ดีเกิดขึ้น

เราจะเตรียมพร้อมรับมือได้ดีกว่าคู่แข่ง

ตอนนั้นคู่แข่งจะหายไปจากตลาด

เป็นโอกาสให้บริษัทของเราได้เติบโตแบบก้าวกระโดดอีกครั้งหนึ่ง

เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ

และมีวิสัยทัศน์ยิ่ง

ถ้าคุณอยากจะอยู่รอดและเติบโต

จง “หวาดระแวง” อยู่เสมอ

สถานที่ที่เราได้ไปพบคุณธนินท์นั้น

คือ “ศูนย์ฝึกอบรมผู้นำของซีพี”

ที่ใช้เงินลงทุนไปกว่าเจ็ดพันล้านบาท

คุณธนินท์เชื่อเรื่องการพัฒนาศักยภาพคนมาก

จึงตัดสินใจสร้างสถาบันนี้ขึ้นมา

ตอนเริ่มก็มีคนค้านเยอะ

แต่คุณธนินท์เชื่อ และคิดว่า สิ่งนี้ต้องตัดสินใจเอง

ให้คนอื่นตัดสินใจไม่ได้

เพราะคนไม่กล้าว่าคุณธนินท์

พอถามว่า มีแนวคิดในการดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงานที่ซีพีอย่างไร

คุณธนินท์ตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า

คนเก่งๆ ที่มีศักยภาพนั้น ต้องการสามอย่าง

หนึ่ง อำนาจ หรืออิสระในการตัดสินใจ

ถ้ากล้าจ้างเขามาแล้ว ก็ต้องเชื่อใจเขา ให้ได้ทำงานใหญ่ๆ

สอง เกียรติ คือต้องมีตำแหน่งที่เหมาะสม

ทำให้เขารู้สึกมีเกียรติ มีหน้ามีตาในสังคม ภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กรแห่งนี้

สาม เงิน

อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่สำหรับคนเก่งๆ สิ่งนี้ไม่เคยอยู่อันแรก

แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีไม่ได้

คนเก่งก็ต้องกิน ต้องใช้ มีครอบครัว

ต้องไม่ละเลยเรื่องค่าเหนื่อยที่เหมาะสม

คุณธนินท์ใช้วิธีการนี้ชวนคุณ “ก่อศักดิ์” เข้ามาทำงานด้วย

คุณก่อศักดิ์ คือขุนพลข้างกาย ที่บุกเบิกการทำ “เซเว่น อีเลฟเว่น” มากับคุณธนินท์

คุณธนินท์ตอนนั้นทำงานเป็นหัวหน้าแผนกจัดซื้อ

เมื่อเจอกับคุณก่อศักดิ์ เขาได้บอกคุณก่อศักดิ์เลยว่า

ถ้าคุณมาทำงาน หลังจากหกเดือน

ผมจะให้คุณมาแทนผมเลย

คือยกตำแหน่งปัจจุบันของตัวเองให้คุณก่อศักดิ์ไปเลย

สิ่งนี้ทำให้คุณก่อศักดิ์สนใจ

ให้อำนาจตัดสินใจ ไม่ต้องมานั่งอยู่ใต้ร่มเงาของใคร

สิ่งนี้แหละ คือจุดเริ่มต้นของการบริหารคนเก่ง

ซึ่งหลายๆ องค์กรพูดกันเยอะ แต่ก็ไม่สามารถทำได้

เพราะผู้บริหารยังติดอยู่ว่า ตัวเองจะต้องมีความสำคัญ

ถ้าจะให้ฉันรับผิดชอบ ฉันก็จะต้องตัดสินใจ

ซึ่งเป็นแนวคิดที่เหมือนจะสมเหตุสมผล แต่อาจจะไม่ทันยุคสมัย

เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของบริษัทอเมซอนดอตคอม (Amazon.com) เคยบอกไว้

ผู้บริหารระดับสูง แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ถ้าลูกน้องตัดสินใจร่วมกันไปแล้ว

ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ

จะรับผิดชอบกับแค่สิ่งที่ตัวเองตัดสินใจไม่ได้

เพราะโลกหมุนเร็ว ถ้าเราเอาทุกอย่างมาตัดสินใจ

องค์กรก็จะเดินได้ช้า พนักงานก็จะไม่กล้าคิด กล้ารับผิดชอบงาน

สามอย่างที่หัวหน้าทุกคนต้องให้กับบุคลากรที่มีคุณภาพ

อำนาจ เกียรติ และเงินตรา

มีให้ครบ อย่าให้ขาด

แต่ถ้าไม่ใช่ ก็รีบเปลี่ยนคนซะ อย่าทู่ซี้

นี่แหละคือการบริหารคนในแบบของธนินท์ เจียรวนนท์

ที่เราท่าน ธุรกิจน้อยใหญ่ ยังไม่ควรเชื่อ

แต่นำไปทดลองด้วยตัวเองเถิด

อาจจะเกิดผล