วาจาแห่งความเกลียดชัง! ต้นทางการฆ่าและสงคราม | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“พวกเผด็จการฝ่ายขวามีแนวโน้มที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่นด้วยการลงโทษ… [และ]พวกเขาสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการลงโทษประหารชีวิต”

Bob Altemeyer

Enemies of Freedom : Understanding Right-Wing Authoritarianism (1988)

หากลองพิจารณาปัญหาความรุนแรงภายในที่นำพารัฐก้าวสู่สถานะของสงครามนั้น ล้วนมีจุดเริ่มต้นที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

กล่าวคือ เกิดความขัดแย้งภายในที่ไม่มีจุดจบ หรือมีสภาวะความขัดแย้งที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งเช่นนี้ลดทอนความเข้มข้นลง

แต่กลับมีสภาวะในแบบที่มีการ “เติมเชื้อ” ใส่กองไฟแห่งความขัดแย้งไม่หยุดหย่อน

เงื่อนไขเช่นนี้เป็นอันตรายต่อสถานะของตัวรัฐเองเป็นอย่างยิ่ง

ฉะนั้น รัฐที่มีสภาวะความขัดแย้งภายในและทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่องนั้น สามารถทำนายได้ไม่ยากว่ารัฐนั้นกำลังเดินหน้าสู่เงื่อนไขของ “สงครามกลางเมือง”

หรืออย่างน้อยความขัดแย้งเช่นนี้อาจจบลงด้วย “ความรุนแรงขนาดใหญ่” และโอกาสที่จะหลีกหนีจากความรุนแรงในตัวเองเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะมี “เชื้อเพลิง” ถูกโยนเข้ากองไฟตลอดเวลา

และสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่ภาวะ “รัฐล้มเหลว” (failed state)

เพราะในภาวะเช่นนั้น รัฐบาลไม่สามารถดำรงสถานะของความเป็นรัฐได้ หรือไม่มีอำนาจรัฐในการควบคุมความรุนแรง จนทำให้เกิดสงคราม ความอดอยาก และการอพยพของผู้ลี้ภัยสงคราม จนต้องใช้กำลังจากภายนอกเข้าแทรกแซง

และในท่ามกลางความขัดแย้งที่มีความเกลียดชังอย่างรุนแรงเป็นพื้นฐานนั้น ใช่ว่ากองกำลังรักษาสันติภาพจากภายนอกจะควบคุมสถานการณ์ได้

ข้อเตือนใจจากรวันดา

ถ้าต้องนึกถึงตัวแบบของ “รัฐล้มเหลว” แล้ว รวันดาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้

ความขัดแย้งเริ่มต้นจากปัญหาความแตกต่างระหว่างชนสองกลุ่ม

ชาวฮูตูที่มีจำนวนราวร้อยละ 85 เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ส่วนชาวทุตซีเป็นชนกลุ่มน้อย

ในด้านหนึ่งเราอาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ อันเป็นผลจากความขัดแย้งของชนสองกลุ่ม

หรือในอีกด้านอาจจะมองว่าเป็นปัญหาของชนกลุ่มน้อยที่ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองจากการปกครองของรัฐบาลของชนกลุ่มใหญ่ ด้วยการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นในชื่อของ “แนวร่วมผู้รักชาติรวันดา” (The Rwanda Patriotic Front-RPF) ซึ่งกำลังพลหลักมาจากผู้อพยพชาวทุตซีที่ลี้ภัยอยู่ในยูกันดา และเปิดการสู้รบเข้าไปในรวันดาอย่างต่อเนื่อง

โดยเชื่อว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเท่านั้นจะเป็นหนทางที่จะช่วยพิทักษ์ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาได้

สงครามขยายตัวมากขึ้นหลังจากเครื่องบินของประธานาธิบดีฮับยาริมานาถูกยิงตกในเดือนเมษายน 2537 ทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต ซึ่งรวมทั้งประธานาธิบดีทายามิราของบุรุนดีด้วย ทั้งสองเป็นชาวฮูตู

การเสียชีวิตครั้งนี้ทำให้กลุ่มสุดโต่งของชาวฮูตูกล่าวหาว่ากลุ่มติดอาวุธชาวทุตซีเป็นผู้ยิงเครื่องบินดังกล่าว

ในขณะที่กลุ่มนี้ก็กล่าวหาว่ากลุ่มของชาวฮูตูเป็นผู้ก่อเหตุเองเพื่อสร้างสถานการณ์

แม้จะไม่ชัดเจนว่าใครยิงเครื่องบินลำดังกล่าว แต่ความขัดแย้งถูกยกระดับขึ้นด้วยการปลุกระดมทันที

ขณะเดียวกันการสร้างความเกลียดชังก็ถูกนำมาขยายผลเพื่อสร้าง “ความชิงชัง” ระหว่างคนสองกลุ่มให้รุนแรงมากขึ้น

และไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องมือได้ดีเท่ากับการใช้ “วาจาแห่งความเกลียดชัง” (hate speech) เป็นวิถีของการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม

และทั้งใช้เป็นเครื่อง “ชี้เป้า” ในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม

เช่น การประกาศรายชื่อเป้าหมายคนสำคัญของฝ่ายตรงข้ามออกอากาศ และทั้งยังมีการเชิญชวนให้ผู้ฟังรายการเข้าร่วมการล่าสังหารนี้ด้วย

ซึ่งพบว่าในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2537 นั้น มีคนถูกสังหารมากกว่า 8 แสนคน

เมื่อความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้นเริ่มขับเคลื่อนความรุนแรงได้อย่างเต็มที่แล้ว สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าก็คือการ “ฆ่า”…

ทีมล่าสังหารของทั้งสองฝ่ายเริ่มออกปฏิบัติการ

การสังหารเกิดขึ้นในวงกว้างจากระดับท้องถิ่นขึ้นไปถึงระดับชาติ และยังเกิดการฆ่ากันเองในชุมชน ในครอบครัว และแม้กระทั่งในโบสถ์

ซึ่งคาดการณ์ว่ามีผู้ถูกสังหารจากการปลุกระดมให้เกลียดชังกันครั้งนี้ราว 5 ล้านคน

และการสร้างความเกลียดชังที่นำไปสู่การสังหารหมู่ครั้งนี้ให้คำตอบประการสำคัญว่า แม้ปฏิบัติการรักษาสันติภาพที่ใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนั้นก็ไม่สามารถหยุดยั้งการฆ่าที่เกิดขึ้นได้แต่อย่างใด

เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อว่า การดำรงอยู่ของอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคาม จึงต้องทำลายภัยคุกคามนี้ด้วยการสังหารฝ่ายตรงข้าม

การสังหารหมู่ที่เริ่มต้นด้วยการสร้างความเกลียดชังที่รวันดาอาจจะจบลงแล้ว แม้จะไม่จบอย่างสมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นบทเรียนที่เตือนใจถึงการสร้าง “วาจาแห่งความเกลียดชัง”

ที่สุดท้ายแล้วคือการพาประเทศเดินหน้าสู่การฆ่าหมู่ และกลายเป็นกรณีสังหารหมู่ครั้งใหญ่ของโลกยุคปัจจุบัน

(ผู้สนใจอาจอ่านเพิ่มเติมได้จากรายงานของสำนักข่าว BBC และ New York Times)

มีแต่ความขัดแย้ง แต่ไม่มีปรองดอง

สําหรับผู้คนในประเทศไทยแล้ว การสังหารหมู่ที่รวันดาเป็นเรื่องไกลตัวอย่างมาก และเชื่อว่าเหตุเช่นนี้จะไม่เกิดในไทย

โดยละเลยข้อสรุปประการสำคัญว่า การปลุกระดมด้วยการใช้วาจาแห่งความเกลียดชังนั้นคือจุดเริ่มต้นของความรุนแรง ซึ่งเกิดกรณีคล้ายคลึงกันในบอสเนียในช่วงปี 2535-2537 และปัจจุบันก็เห็นได้จากกรณีในรัฐยะไข่ เป็นต้น

น่าสนใจว่าการเมืองไทยนับจากรัฐประหาร 2549 กำลังเดินไปบนถนนสายนี้ใช่หรือไม่ เพราะแม้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 แล้ว สัญญาณของความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลงแต่อย่างใด

จนล่าสุดมีการรุมทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในกรณีของ “จ่านิว”

หรือก่อนหน้านี้ ได้มีการทำร้ายนักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามไม่แตกต่างกัน

นอกเหนือจากการทำร้ายดังเช่นที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว สัญญาณความขัดแย้งที่ไม่มีจุดจบของไทยเห็นได้ชัดจาก “สื่อสังคมออนไลน์” หรือบรรดาสื่อใหม่ในรูปแบบของ “สื่อโซเชียล” ที่การส่งสารในลักษณะของ “วาจาแห่งความเกลียดชัง” ทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย

ดังจะเห็นได้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งมีการใช้การสื่อสารทางการเมืองในลักษณะของการไล่ล่า

หรือมีการชี้เป้าให้เกิดการทำร้ายด้วยการโพสต์รูปของบุคคลเป้าหมาย เป็นต้น

แม้ในด้านหนึ่งจะเคยมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า รัฐประหาร 2557 จะเป็นเครื่องมือของการสร้างความปรองดอง หรือเป็นหนทางของการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น กลายเป็นเพียงเรื่องชวนหัวทางการเมืองที่หาสาระไม่ได้

ดังจะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้ว สังคมไทยได้มาสคอตชื่อ “น้องเกี่ยวก้อย” ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยกระทรวงกลาโหมเพื่อใช้รณรงค์ในฐานะ “ทูตปรองดอง” และตุ๊กตานี้ก็หายไป ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ขับเคลื่อนในที่สาธารณะอีกแต่อย่างใด

ในที่สุดแล้ว ทั้งการขับเคลื่อนเรื่องปรองดองและตุ๊กตาตัวนี้ก็หายไปพร้อมกัน

อันสะท้อนให้เห็นว่าคณะรัฐประหารไม่มีทิศทางความคิดในการสร้างความปรองดอง

และไม่มีความพยายามที่จะควบคุม “การสื่อสารเพื่อความเกลียดชัง” แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผู้นำทหารได้เปิดตัวเป็น “คู่ขัดแย้ง” ในทางการเมืองเสียเอง ไม่ยอมที่จะสร้างบทให้กองทัพเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” เพื่อเป็นโอกาสที่จะพาสังคมไทยกลับคืนสู่ความเป็นปกติ และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจัดระเบียบการเมือง ผู้นำทหารได้ตัดสินใจทำตัวเป็น “คู่แข่ง” ทางการเมือง มากกว่าจะยอมเล่นบทเป็น “กรรมการ”

ซึ่งในเงื่อนไขเช่นนี้ ความขัดแย้งที่สะสมมาจากรัฐประหาร 2549 กลับยิ่งสะสมมากขึ้นด้วยรัฐประหาร 2557

และโดยเฉพาะหลังจากการล้อมปราบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลครั้งใหญ่ในปี 2553 แล้ว การสื่อสารทางการเมืองเพื่อการสร้างความเกลียดชังมีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น ไม่ว่าจะมองในทางทฤษฎีหรือปฏิบัติ ความเชื่อว่ารัฐประหารจะเป็นเส้นทางสู่การปรองดองจึงไม่มีทางที่จะเป็นความจริงได้เลย เพราะสุดท้ายแล้วกองทัพผูกพันตัวเองอยู่กับกระแสอนุรักษนิยมสุดขั้ว จนไม่อาจที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางการเมืองของตนได้

หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า เมื่อกองทัพกลายเป็นฐานกำลังหลักของปีกขวาจัดไทยแล้ว โอกาสที่ทหารจะเป็น “คนกลาง” ในความขัดแย้งทางการเมืองของไทย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

และในขณะเดียวกันก็น่ากังวลถึงการส่งสารในลักษณะขวาจัดของผู้นำกองทัพอีกด้วย

อำนาจในมือของฝ่ายขวา

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การเมืองไทยในยุคใดสมัยใดก็ยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอำนาจชนชั้นนำปีกขวา ที่ในระยะหลังมีความคิดในลักษณะที่เป็น “ขวาจัด” มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในสายทหารหรือพลเรือนในกลุ่มนี้ ล้วนมีทิศทางการเมืองในแบบ “ต่อต้านประชาธิปไตย”

หรือที่เรียกด้วยสำนวนของการเมืองในละตินอเมริกาว่า ชนชั้นนำไทยเหล่านี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ที่มีความชัดเจนในการต่อเมืองที่เป็นกระแสประชาธิปไตย

คนเหล่านี้ดำรงตนเป็น “เครือข่าย” อยู่ในโครงสร้างส่วนบนของ “พีระมิดแห่งอำนาจ” ของฝ่ายขวา

ส่วนฐานล่างของพีระมิดฝ่ายขวาก็คือบรรดามวลชนฝ่ายขวา ที่พร้อมจะรับ “วาทกรรมขวาจัด” เป็นแนวทางการต่อสู้

และที่สำคัญก็คือ มวลชนเหล่านี้พร้อมที่จะเปิดเผยตัวตน โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อสงวนทางความคิดว่า สิ่งที่แสดงออกทั้งการพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นจะมีผลกระทบในทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่

เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าการแสดงออกด้วยวาจาหรือข้อเขียนอย่างสุดโต่งของฝ่ายขวาจัดนั้น ไม่เคยถูกห้ามหรือถูกควบคุมแต่อย่างใด

หรือหากมีการกระทำผิดในทางกฎหมาย พวกเขาก็มั่นใจเสมอว่าจะไม่ถูกลงโทษอย่างใดด้วย เพราะสถาบันที่รักษากฎหมายก็อยู่ภายใต้วาทกรรมขวาจัดเช่นเดียวกันนั่นเอง

ในสภาวะเช่นนี้จึงน่าสนใจอย่างมากด้วยที่มวลชนเหล่านี้มีลักษณะเป็นชนชั้นกลาง และเลือกที่จะมีบทบาททางการเมืองแบบขวาจัด จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัย

คือการกำเนิดของกลุ่ม “ชนชั้นกลางขวาจัด”

และเห็นชัดว่าคนกลุ่มนี้เป็นพลังสนับสนุนหลักของการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557

ซึ่งน่าเสียดายว่าชนชั้นกลางไทยปัจจุบันไม่สามารถแสดงบทบาทเป็น “ผู้นำประชาธิปไตย” เช่นที่เป็นความคาดหวังในทางทฤษฎี หรือไม่สามารถที่จะเป็น “ปัจจัยผลักดัน” ให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยเดินหน้าเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตย

กลับกลายเป็นเพียงกลุ่มการเมืองที่เป็นฐานรองรับการเคลื่อนไหวของกระแสขวาจัด

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเห็นชนชั้นกลางไทยในสาขาอาชีพต่างๆ ที่ผ่านมาจะโพสต์ข้อความสนับสนุนรัฐประหาร… ต่อต้านประชาธิปไตย

ดังนั้น เมื่อเกิดการทำร้ายนักเคลื่อนไหวในปีกประชาธิปไตยแล้ว คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้วาทกรรมขวาจัดอย่างเหนียวแน่น ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่เข้าร่วมการทำร้าย “เหยื่อทางการเมือง” อย่างไม่รีรอ

ด้วยการใช้ “วาจาแห่งความเกลียดชัง” เป็นเครื่องมือ

ซึ่งก็เป็นการสร้างความรุนแรงทางการเมืองในรูปแบบหนึ่งของยุคปัจจุบัน

และปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงออกเช่นนี้คือการเติมเชื้อไฟแห่งความรุนแรง

ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้ ผลที่จะตามมาคือการพาประเทศเข้าสู่ “วงจรความรุนแรงใหญ่” ในอนาคต

บทเรียนการฆ่าจากความเกลียดชังในบอสเนียและรวันดายังเป็นข้อเตือนใจที่ดีเสมอ

เส้นทางแห่งความเกลียดชัง

ครั้งหนึ่งในสังคมไทย “วาจาแห่งความเกลียดชัง” เคยทำหน้าที่ขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การสังหารครั้งใหญ่ในปี 2519 เหตุครั้งนั้นเกือบพาประเทศสู่ “สงครามกลางเมือง” มาแล้ว จนสุดท้ายผู้มีอำนาจในสังคมตัดสินใจที่จะถอดชนวนความขัดแย้ง และหันกลับสู่การสร้างความปรองดองเป็นทิศทางหลัก อันทำให้สามารถนำพาสังคมกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ สังคมไทยยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์จึงสะท้อนถึงเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างมาก (เมื่อเปรียบเทียบกับสภาวะสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน)

แต่ดูเหมือนวันนี้ผู้คนส่วนหนึ่งลืมบทเรียนในอดีต และกำลังพาประเทศกลับเข้าสู่ “วงจรความรุนแรง” อีกครั้ง โดยมีการทำร้ายและวาจาแห่งความเกลียดชังเป็นดัง “เชื้อเพลิง” ที่สุมให้ไฟแห่งความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น

จนอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยไร้เสถียรภาพอย่างมาก (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน)

ฤๅวันนี้ไทยติดอยู่ใน “เขาวงกตแห่งความเกลียดชัง” จนหาทางออกมาไม่ได้แล้ว!