คุยกับ “มะเดี่ยว ชูเกียรติ” “ระบบอุปถัมภ์” และ “ดาราไทย” ทำไม “คนบันเทิง” เห็นคนไม่เท่ากัน?

“กรณีที่คนบันเทิงออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองแล้วถูกสังคมแบน เพราะมีทัศนคติที่ไม่นึกถึงประชาชน เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนได้ชัดเจนมากว่าต่างจาก 10 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง

“ในอดีตการแสดงทัศนคติทางการเมืองของผู้ที่ฝักใฝ่ทางประชาธิปไตย (ที่มองเห็นคุณค่าของชีวิตคนมากกว่าอำนาจหรือการแก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหาร) ก็จะถูกสังคมมองว่าเป็น “ควายแดง” และถูกคนบันเทิงกีดกัน ถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือถูกเขียนข่าวเสียๆ หายๆ

“ส่วนตัวเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ณ ปัจจุบัน คุณไม่สามารถที่จะไปเป่านกหวีดและพูดได้เต็มที่ว่าสนับสนุนลุงตู่อีกต่อไป เหตุการณ์มันพลิกไปอย่างมาก”

นี่คือคำยืนยันจาก “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งตอบคำถามกรณีคนบันเทิงกับการแสดงออกทางการเมืองยุคปัจจุบัน ที่แปรผันไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

มะเดี่ยวบอกเล่าเพิ่มเติม ในฐานะที่ตัวเองมีโอกาสอยู่ในเหตุการณ์ที่ทีมงาน-โปรดิวเซอร์ของหนังไทยเรื่องหนึ่งกำลังต้องเร่งจัดการกับวิกฤตว่าด้วยดาราและการแสดงทัศนะทางการเมืองพอดี

“ผู้บริหาร (ค่ายหนัง) ที่เป็นคนเกาหลีเขาก็ถามเราว่า ทำไมคนไทยถึงแสดงออกมาในรูปแบบนี้ ก็มีคนอธิบายว่าคนเขาโกรธดาราเรื่องที่ไปโพสต์โปรรัฐบาล และมีทัศนะบางอย่างต่อความรู้สึกของประชาชน

“แต่คนเกาหลีเขาก็ถามว่า แล้วทำไมคนไทยไม่ไปประท้วงรัฐบาล? ทำไมถึงมาทำกับดารา? ส่งผลธุรกิจเกิดความเสียหาย คือเราเองก็มองว่าเขาก็ไม่ผิดนะที่จะตั้งคำถามแบบนี้ แต่ก็ตอบไปว่าสงสัยคนไทยยังโกรธไม่พอ อะไรทำนองนี้”

แม้ในสถานการณ์ร่วมสมัย ดาราทุกวันนี้จะสามารถสูญเสียสถานภาพ “ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง” ไปได้เพียงชั่วข้ามคืน จากการแสดงความเห็น (ทางการเมือง) เพียงชั่วครู่ แล้วประเด็นถูกขยายจนลุกลามใหญ่โตทั่วโลกออนไลน์

ทว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน นักแสดงจำนวนมากต่างพร้อมใจกันออกไป “เป่านกหวีด” โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

มะเดี่ยวอธิบายประเด็นดังกล่าว โดยทบทวนอดีตให้ฟังว่า แต่ก่อนคนบันเทิงอยู่ได้ด้วย “การอุปถัมภ์” โดยเฉพาะ “การอุปถัมภ์จากชนชั้นนำ”

ขยายความง่ายๆ คือ ช่องทีวีสมัยก่อนก็ต้องขอสัมปทานจากรัฐ ถามว่าใครมีอำนาจรัฐที่ช่องต้องไปสวามิภักดิ์เพื่อให้ได้นั่นได้นี่มา?

พอมาถึงตัวดาราที่ต้องอยู่กับช่อง เขาก็ต้องภักดีต่อช่อง นี่เป็นเหตุใหญ่ว่า ทำไมคนที่มีอำนาจหรือรุ่นเก่าๆ ใหญ่ๆ ในวงการมายา จะมีความคิดการเมืองอีกแบบหนึ่ง

เจ้าของผลงาน “รักแห่งสยาม” เสริมว่า ที่สำคัญ ในโลกของวงการบันเทิง คนข้างในนั้นมักมองไม่เห็นสิ่งที่ไกลออกไปเท่าไหร่ เพราะพวกดาราจะมองเห็นแต่สิ่งที่ห้อมล้อมตัวเขา คือการมีผู้ใหญ่ที่คอยอุปถัมภ์ มีแฟนคลับที่คอยค้ำจุน

การมีชื่อเสียง มีอภิสิทธิ์ มีคนรู้จักเยอะแยะ และได้รับการเอาอกเอาใจ ได้ปิดกั้นไม่ให้คนบันเทิงจำนวนมากรับรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจและสังคมภายนอก

“เรียกว่าความเข้าใจของพวกเขาถูกจำกัดเหมือนกัน บางคนอาจจะมองว่า ถ้าบ้านเมืองกลับไปวุ่นวาย จะมีคนออกมาประท้วง ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ดารา ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ได้รับผลกระทบทั้งนั้น

“แต่ทุกวันนี้ที่พวกคุณคิดว่ามันสงบก็เพราะว่ามีปืนมาจ่อหัวเราอยู่ มันมีรถทหารที่พร้อมจะมาจอดหน้าบ้านเรา ฉะนั้น ทำให้บางคนต้องสยบยอม เพื่อความอยู่รอด”

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ชื่อเสียงของคนดังกลับมาจากอินเตอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ ยูทูบเบอร์ดังๆ สามารถแจ้งเกิดโดยไม่ต้องเป็นดารา ส่วนดาราก็หันไปเปิดช่องยูทูบ ความโด่งดังยังถูกวัดกันที่ยอดฟอลโลว์อินสตาแกรม

แน่นอน ในโลกใบใหม่เช่นนี้ ถ้าคนดังรายไหนแสดงออก “ไม่เหมาะสม” (ตามบรรทัดฐานของบริบทปัจจุบัน) แฟนๆ ก็จะเลิกติดตาม และยอดฟอลโลว์ก็จะลดฮวบลงทันที

มะเดี่ยวยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธ หากมีประชาชนคนทั่วไปมองว่าพวกดาราไม่เคยสัมผัสกับความลำบากยากเข็ญแบบคนหาเช้ากินค่ำ

“ยิ่งมีคน (ดารา) มาพูดหรือแสดงออกดูถูกประชาชน มันก็ไม่แฟร์ เหมือน (ประชาชน) ถูกตัดสินว่าใช้ชีวิตไม่ดีเอง ไม่ขยัน ถึงได้จนไงอะไรทำนองนี้ คนก็คงโกรธ”

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้กำกับฯ ดังก็ชี้ให้เห็นความเหนื่อยยากของอาชีพดารา เป็นความเหนื่อยที่วางอยู่บนต้นทุนที่สูงและเปราะบางมาก

“ถ้าชื่อเสียงมันพังไปแล้ว มันเอากลับมายากมากเลย แม้ว่าคนไทยจะลืมง่าย แต่ก็ขุดง่ายด้วย ลองคิดดูว่าคนที่เคยมีประเด็นในวันนี้ พอในวันข้างหน้า มีงานอะไร เขาก็ยังจะถูกขุดเรื่องเก่าๆ ขึ้นมาอีก

“สิ่งใดที่อยู่ในอินเตอร์เน็ต มันจะคงอยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล เราเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเรามีประสบการณ์เรื่องทำนองนี้มาก่อน

“ฉะนั้น การที่เราเป็นคนของประชาชน เราทำงานบันเทิง คนที่มีบุญคุณคือประชาชน ที่ให้การสนับสนุนเรา เราก็ต้องเห็นเขาเป็นมนุษย์เหมือนกัน”

มะเดี่ยวยืนยันว่าคนบันเทิงไม่ได้เป็น “สลิ่ม” หรือ “ฝักใฝ่เผด็จการ” ไปหมดเสียทุกราย

เขาเปิดเผยว่า เวลาเจอเพื่อนร่วมวงการที่มองเห็น “คนไม่เท่ากัน” ก็รู้สึกว่าน่าโมโห แต่ต้องอดทนอดกลั้นเอาไว้

“เพราะในทางกลับกัน เขาก็อาจจะต้องอดทนอดกลั้นกับเราด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับฯ ที่ทำงานในวงการมายามาเกือบยี่สิบปี ไม่เคยประสบปัญหาถึงขั้นต้องเลือกหรือไม่เลือกจะทำงานกับใคร

“อยากให้ลองย้อนคิดดูว่า ถ้าเกิดคนไม่ยอมมาทำงานกับเรา เพราะความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน เราก็คงรู้สึกไม่ดีเหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องงานจึงไม่เกี่ยวกัน”

มะเดี่ยวเล่าว่า เมื่อก่อนเขาเคยอยากจะทำหนังที่เล่าประเด็นการเมืองแบบตรงๆ แต่ก็ต้องบอกว่าไม่มีเงินทำ เพราะไม่ค่อยมีใครอยากลงทุนทำหนังการเมืองล้วนๆ

“ลงทุนทีเป็น 10 ล้าน แล้วไม่มีคนไปดู บางทีก็ต้องคิดว่า เราต้องแยกให้ออกว่า ถ้าคนอยากเสพการเมืองเขาอ่านข่าวเอา แต่คนเดินเข้าโรงหนังจ่ายตังค์ไป เขาต้องการความบันเทิง เราจะว่าคนดูก็ไม่ได้ ตัวเลขมันฟ้อง”

จากประเด็นภาพยนตร์และการเมือง คนทำหนังผู้มีรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เชื่อมโยงประเด็นสนทนาไปสู่หัวข้อเศรษฐกิจ

เขาตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้เวลาเราอ่านข่าวแล้วมีคนบอกว่าเศรษฐกิจ “ดี” คำว่า “ดี” นั้นคือ “ดี” ของใคร? เพราะประชาชนคนชั้นกลางไปจนถึงระดับฐานรากล้วนมีหนี้สินมหาศาล

“พอเราทำงานวงการบันเทิง ก็ต้องตระหนักว่าความบันเทิงเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนจะซื้อเพื่อบริโภค ภาพชัดสุดคือในการทำละครทีวี แม้ว่าจะดูฟรี แต่ช่องก็ต้องหาทุน หารายได้จากการขายโฆษณา

“ยิ่งช่องมีเยอะขึ้น แต่ผู้ผลิตสินค้าที่จะมีกำลังซื้อโฆษณาช่องต่างๆ เขาก็มีรายได้เท่าเดิมหรือลดลง แถมวันนี้ยังมีทั้งสตรีมมิ่ง ทั้งอินเตอร์เน็ต มีอะไรสารพัด ทำให้ทุนในการผลิตมันก็น้อยลง ส่งผลไปถึงคุณภาพของงานก็ตกลงไป

“นี่เป็นปัญหางูกินหางที่เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจและสารพัดทิศทางของวงการบันเทิง”

ในฐานะคนวัย 30 ปลายๆ มะเดี่ยวคุยให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่จำนวนมากว่า เท่าที่สัมผัสคนกลุ่มนี้ เห็นได้ชัดว่าเด็กๆ ทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร เขามีความตื่นตัวสูง แต่ว่าเขาก็ต้องระมัดระวังเรื่องการแสดงออกพอสมควร

เพราะการต่อสู้กับคนที่มีอาวุธและมีกฎหมายอยู่ในมือ รวมทั้งมีอำนาจในการข่มขู่หรือลิดรอนสิทธิ์ ต้องใช้วิธีที่แยบยล ใช้ความอดทนมากขึ้น

เด็กรุ่นใหม่เห็นและทราบดีว่ามีการจับคนเข้าคุกหรือมีกระบวนการให้เกิดความรุนแรงและนำไปสู่เงื่อนไขอะไรบางอย่าง ตนจึงเชื่อว่าลึกๆ แล้วทุกคนมีความคิดคุกรุ่นอยู่ในใจ แต่เด็กๆ ก็มองว่าช่วงเวลานี้จะต้องอดทนเข้าไว้

“เราอยู่ในวิกฤตมาจนรู้แล้วว่ามันคุ้มหรือไม่ในการแสดงออก เข้าใจดีว่าเราอยากเห็นประเทศเดินไปสู่หนทางที่มันเป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมกว่านี้

“แต่ว่าคนที่มีอำนาจตอนนี้ เขามีทั้งอำนาจ มีทั้งปืน มีหน้าที่จัดการอะไรกับเราก็ได้ ยังไงผมมองว่าสังคมเราคงยังไม่เดินไปถึงจุดเดียวกับฮ่องกงเร็วๆ นี้หรอก”