ปัญหาชายแดนใต้ : จากคำตอบโต้นายกรัฐมนตรีในสภา สู่เวทีอภิปรายสาธารณะ วาระประชาชน

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

มองท่าทีนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งแถลงนโยบาย กรณีอับดุลเลาะหมดสติ ปริศนาในค่ายทหาร

25 กรกฎาคม 2562 หลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายชายแดนใต้และตอบโต้คำถาม ส.ส.ฝ่ายค้านว่า นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติระหว่างถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหารไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย ถามคนที่ตั้งข้อสงสัยเรื่องเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวว่า “ดูหนังมากไปหรือเปล่า” (โปรดดู https://www.bbc.com/thai/thailand-49107566?ocid=socialflow_facebook&fbclid=IwAR1wYrHgSA1ikR52gPp03pdtE2o9JgoA0WRCvB2CMSEl51pYs5S2GgF3BMs)

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข่าวโลกโซเชียลพบว่า “สร้างความไม่พอใจกับชาวบ้าน นักวิชาการ และคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่น้อย

อนึ่ง Timeline (นำเสนอโดยเพจ The Pen) เหตุเกิดกับนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง หมดสติขณะถูกควบคุมตัวภายในหน่วยซักถาม ฉก.ทพ.43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เปิดเผยโดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ

เริ่มจากเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562 เวลา 16.45 น. ผู้เสียหายถูกควบคุมตัวโดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ได้ประสานกับผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา ณ บ้านเลขที่ 219/2 หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นำตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.สายบุรี

วันเดียวกัน เมื่อ 20 กรกฎาคม 2562 เวลา 19.30 น. ได้ส่งตัวไปยังหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 (ฉก.ทพ.43) ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ต่อมา 20 กรกฎาคม 2562 เวลา 22.00 น. มีอาการเครียด หลังจากทำการซักถามเบื้องต้น จึงให้เข้าพักในห้องควบคุมตัว โดยก่อนหน้านี้มีการตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารพบว่าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง

วันถัดไป 21 กรกฎาคม 2562 เวลา 03.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่านอนหมดสติในห้องน้ำภายในห้องควบคุมตัว จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนนำส่งโรงพยาบาลปัตตานี

ตามด้วยวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เวลา 15.00 น. โรงพยาบาลปัตตานีนำตัวนายอับดุลเลาะส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มอ.หาดใหญ่ เนื่องจากว่ามีอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมกว่า

วันต่อมา 24 กรกฎาคม 2562 เวลา 17.50 น. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มอ.หาดใหญ่ ออกหนังสือขอสื่อสารอาการผู้ป่วย นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ระบุผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ผลเอ็กซเรย์สมอง พบว่าสมองบวม มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ยังคงใส่เครื่องช่วยหายใจ มีสภาวะไตวายเฉียบพลัน สรุปผู้ป่วยยังอยู่ในภาวะวิกฤต จำเป็นต้องรับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตทางอายุรกรรม MICU

อีก 2 วันถัดไป 26 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่แจ้งให้ครอบครัวและญาตินายอับดุลเลาะ ทราบว่า วันนี้ครบกำหนด 7 วัน หมดอำนาจของการควบคุมตัวโดยกฎอัยการศึก นายอับดุลเลาะได้รับการปล่อยตัว

ข้อสังเกตตาม Timeline…

การแถลงข่าวของแพทย์ร่วมกับหน่วยความมั่นคงถึงอาการขั้นโคม่าของเหยื่อนั้น มิได้หมายความว่าช่วงอยู่ในค่ายท่ามกลางการควบคุมของทหาร (ศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธ) นั้น ทหารทำหรือไม่อย่างไร “การที่สมองบวมนั้นสามารถเกิดได้ เช่น ถ้าตอนสอบถามผู้ต้องหาเอาถุงคลุมหน้า นวดด้วยอุปกรณ์นุ่มๆ ชุบน้ำจะไม่เห็นร่องรอยการถูกทรมาน”

จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันตรงกันว่า “การขาดอากาศเพียงไม่กี่นาทีทำให้เกิดสภาวะ brain hypoxia ได้ และถ้ายิ่งนานก็จะนำไปสู่สภาวะ cerebral edema หรือสมองบวม ทำให้หมดสติ” หรือ “การทำให้ขาดอากาศหายใจอาจเกิดจากการใช้ถุงพลาสติก หรือการใช้น้ำหยดที่หน้าเหมือนจมน้ำ (Water boarding) ทั้งสองวิธีไม่มีบาดแผลใดๆ”

ดังนั้น คำตอบโต้ของนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว เสมือนกับการปกป้องผู้ปฏิบัติงานความมั่นคงในพื้นที่ ในขณะเดียวกันเป็นการพิพากษานายอับดุลเลาะ อีซอมูซอไปแล้ว ทั้งๆ ที่เขามิสามารถออกมาแก้ต่างได้เพราะยังอยู่ในห้อง ICU

ผลของการใช้กฎหมายพิเศษชายแดนใต้

เหตุการณ์ที่เกิดกับอับดุลเลาะดังกล่าวอันเนื่องมาจากรัฐใช้กฎหมายพิเศษชายแดนใต้เข้าควบคุมตัวในค่ายทหารอันนำไปสู่การร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นต่าง อีกทั้งออกมาตอบโต้ฝ่ายค้านโดยกล่าวว่า “แล้วเวลาเจ้าหน้าที่ถูกยิงตาย ถูกระเบิดตาย ไม่มีใครร้องเรียนให้เขาล่ะ ทำไมไม่มีคนร้องเรียนให้เขา เขาลาดตระเวนไปกับครู ไปกับเด็ก นักเรียน ไปดูพระ ดูวัด ถูกยิง ยิ่งเงียบ แต่พอถึงเวลาถูกจับมาอะไรมา บอกละเมิดสิทธิมนุษยชน”

เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายพิเศษในชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มพื้นที่ทุกอำเภอ รวมทั้งในเขตพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ได้มีประกาศยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทน

กฎหมายพิเศษเหล่านี้นั้นใช้มาตรการตรวจค้นและการควบคุม 2 กรณี คือใช้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ์ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น หรือกักบุคคลที่สงสัยว่าเป็นราชศัตรู หรือเป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติหรือคำสั่งของฝ่ายทหารไว้สอบถามได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขออำนาจศาล และไม่ต้องมีหมายศาลในการควบคุมตัว สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว แล้วแต่ทหารจะกำหนด และไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว

ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ใด ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัย แต่ต้องขออนุญาตศาลควบคุมตัวครั้งแรกไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันจับกุม ถ้าจำเป็นให้ขยายเวลา ควบคุมครั้งละไม่เกิน 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน

กล่าวคือ การจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัย จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยจะดำเนินการได้ต่อเมื่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้ง 3 ฝ่ายมีความเห็นตรงกัน เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นและเร่งด่วน สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว จะต้องเป็นสถานที่ที่มีการประกาศ และไม่ใช่สถานีตำรวจหรือเรือนจำ เช่น ศูนย์พิทักษ์สันติ หรือศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์

ส่วนการขอปล่อยตัวชั่วคราว (การประกันตัว) ไม่สามารถทำได้เช่นกัน จากข้ออ้างในกฎหมายดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ พบว่ามีผลกระทบของการใช้กฎหมายพิเศษมากมาย (โปรดดูรายงาน : เปิดบันทึก ศอ.บต. ความเห็นต่อ “กฎหมายพิเศษ” ที่ชายแดนใต้ ใน https://prachatai.com/journal/2011/01/32523)

ในทางวิชาการ จากผลการศึกษาวิจัย โดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 สรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เห็นว่า กฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการควบคุมและป้องปรามการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ

และประเมินว่า ประสบผลสำเร็จในการตรึงสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่

แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำศาสนา เอ็นจีโอและกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมตัว กลับเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ล้มเหลวในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน การบังคับใช้กฎหมายพิเศษยังส่งผลกระทบในด้านลบ คือ การใช้อำนาจเกินขอบเขต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยดังกล่าว พบว่า ผลกระทบแง่ลบที่เกิดจากการใช้กฎหมายพิเศษส่วนมาก เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน

อาทิ ปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่และการประสานงานที่ไม่สอดคล้อง ส่งผลต่อผู้ต้องสงสัย ในกรณีการถูกออกหมายจับและมีชื่อติดค้างอยู่ตลอด เนื่องจากหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีอายุความ หรือปัญหาเชิงเทคนิค

อย่างเช่น ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกตัวมาสอบถาม สอบสวน และถูกปิดล้อมตรวจค้นภายใต้กฎอัยการศึกโดยไม่มีหมายศาล แต่ชาวบ้านหลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้เข้าใจว่า เป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมองว่า กฎหมายพิเศษนี้มีผลกระทบโดยตรงกับความรู้สึกและจิตใจของประชาชน

โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไม่รู้และไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้กฎหมายพิเศษ จะเข้าใจผิดคิดว่ารัฐใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษมากเกินไป เป็นต้น

จากผลกระทบการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวตลอด 15 ปีมีแนวโน้มจะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านการเมืองมีปัญหาและจะกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศอย่างแน่นอน และจะถูกข้อครหาจากต่างประเทศว่าไม่เป็นประชาธิปไตย พร้อมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชน

จน 24 กรกฎาคม 2562 11 ส.ส.ชายแดนใต้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ออกแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษ

กล่าวคือ ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 พรรคการเมือง เช่น แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย, นายอับดุลบาซิม อาบู ส.ส.ปัตตานี พรรคภูมิใจไทย, นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ, นายวัชระ ยะวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส พรรค พปชร., นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมาตรการด้านความมั่นคง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในพื้นที่

โดยขอให้พิจารณายกเลิกการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยขอให้พิจารณานำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

แฟ้มภาพ

วาระประชาชนกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จชต.

จากผลสะเทือนที่เวทีรัฐสภานำไปสู่เวทีในพื้นที่ กล่าวคือ อาทิตย์ 28 กรกฎาคม 2562 เวลา 16.00-18.30 น. ณ ศูนย์ศิลปะ ปาตานี อาร์ทสเปซ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้มีตัวแทนหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ นักสิทธิมนุษยชน นักการเมืองในพื้นที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และตัวแทนสื่อ ได้มานั่งจับเข่าคุยกัน ร่วมหาแนวทางที่สามารถยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้นำไปสู่การทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จชต. อย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยมีความเห็นร่วมกัน “วาระประชาชน กับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จชต.” (ผู้เขียนร่วมเสวนาด้วย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้)

1. ความเป็นจริงไม่อยากให้มีการใช้กฎหมายพิเศษทั้งพุทธ-มุสลิม

กล่าวคือ ความกังวลของการใช้ไม่ใช้กฎหมายพิเศษมีทั้งสองฝ่าย แต่เห็นต่างกันระหว่างพุทธและมุสลิม

โดยที่คนพุทธรู้สึกไม่ปลอดภัยหากหน่วยงานความมั่นคงไม่มีกฎหมายพิเศษในการจัดการกับผู้ก่อความไม่สงบ

ในขณะที่มุสลิมมีความกังวลว่าหน่วยงานความมั่นคงจะใช้ช่องทางของกฎหมายนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดังข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ญาติพวกเขาโดนซ้อมทรมาน บางรายบาดเจ็บ บางรายพิการ และบางรายเสียชีวิต

แต่ทั้งสองเห็นร่วมกันว่า หากได้มาพูดคุยหาทางออกร่วมว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนปลอดภัยหากยกเลิกกฎหมายพิเศษ เพราะความเป็นจริงไม่อยากให้มีการใช้กฎหมายพิเศษทั้งพุทธ-มุสลิม

2. การพิจารณายกเลิกหรือต่อกฎหมายพิเศษนั้น ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาก่อน…ไม่ใช่การต่อกฎหมายทุกๆ สามเดือน ที่ผ่านมาหน่วยงานข้างบนเท่านั้นพิจารณา ที่สำคัญสามารถร่วมออกแบบตัวชี้วัดการยกเลิกหรือไม่อย่างไรเพื่อประชาชนเองได้มีส่วนร่วมแก้ปัญหาและประเมินด้วย

3. ประชาธิปไตยคือทางออกทางการเมืองโดยใช้แนวทางประชาธิปไตยผ่านทุกภาคส่วน ตั้งแต่รากหญ้าประชาชน ตลอดจนนักการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แม้แต่ ส.ว.ต้องลงมาฟังเสียงทุกภาคส่วนแล้วสะท้อนในสภา หรือยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีดังที่ 11 ส.ส.ชายแดนใต้ออกแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี ห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่

4. ข้อเสนอจากประชาไทยและนางสาวฐาปนีย์ เอียดศรีชัย จากช่อง 3 ขอให้สื่อทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมช่วยกันสื่อสารถึงเรื่องนี้ให้มากที่สุดเพื่อทุกภาคส่วนของคนไทยจะได้รู้สึกเผชิญปัญหาร่วมกันจนนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจในการแก้ปัญหา ไม่ใช่สะใจต่อเพื่อนร่วมชาติที่เห็นอีกฝั่งถูกกระทำดั่งเหตุการณ์ในโลกโซเชียลส่วนหนึ่งหลังคำตอบนายกฯ ประยุทธ์ต่อเรื่อง “นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ” โดยถูกตีตราว่าเป็นโจร (หากรัฐจะซ้อม จะทรมาน จะใช้กระบวนการนอกฎหมายย่อมทำได้)

ซึ่งนายอับดุลเลาะเป็นเพียงกรณีหนึ่งตัวอย่างที่ชายแดนใต้ตลอด 15 ปี คำว่าหลายรายถูกปรามาสว่าเป็น “โจร” ได้ด้วยเพียงถูกตั้งข้อสงสัยจาก “เจ้าหน้าที่” ที่ใช้อำนาจพิเศษ หลายรายเมื่อกลับเข้าสู่สังคมก็ถูกประณามบ้าง เสียอนาคตบ้าง ทั้งๆ ที่หลายคนก็ปรากฏว่าไม่มีความผิดใดๆ

ฝากนายกรัฐมนตรีลองดูข้อเสนอจาก ส.ส.ชายแดนใต้ก่อนหน้านี้อย่างมีสติรอบคอบ