วิกฤติศตวรรษที่21 | ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (9)

ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา

แผนริเริ่มแถบและทางของจีนเป็นโครงการใหญ่เกี่ยวข้องกับพื้นที่กว้างใหญ่ แต่เขตที่ถือเป็นองค์นำสำคัญก่อนที่อื่น ได้แก่ เอเชียใต้ (รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่นี้จีนมีโครงการขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่ ได้แก่

ก) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ถือว่าเป็นเรือธงของแผนแถบและทาง ด้วยงบฯ ลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และดำเนินการลุล่วงจนสามารถเก็บเกี่ยวผลได้แล้ว ปลายทางของระเบียงเศรษฐกิจนี้ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ของปากีสถาน ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลอาระเบียน มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และเอเชียใต้ จีนได้รับเป็นผู้บริหารท่าเรือนี้คาดหมายว่าจะกลายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียใต้

ข) ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย เมียนมา

ค) ระเบียงข้ามหิมาลัย (Trans-Himalaya Corridor) มีจุดเน้นที่ประเทศเนปาล

ง) ความร่วมมือจีน-บังกลาเทศ-ศรีลังกา-มัลดีฟส์ เน้นเส้นทางเดินเรือ มีจุดเน้นที่ศรีลังกาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในมหาสมุทรอินเดียอีกแห่งหนึ่ง (ดูบทความของ Antara Ghosal Singh นักวิจัยด้านความสัมพันธ์อินเดีย-จีน ชื่อ China”s Vision for the Belt and Road in South Asia ใน thediplomat.com 02/03/2017)

ระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าว มองจากจุดของอินเดียเห็นว่าเหมือนเป็นการถูกปิดล้อมทั้งทางทะเลและทางบก และขุนเขาหิมาลัย ยกเว้นระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา ที่เสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ แต่มีความคืบหน้าน้อย แม้มีการจัดประชุมหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้รับการกระตุ้นสำคัญจากการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำอินเดียและจีน (ปี 2018) มีเค้าว่าจะก้าวเดินไปอย่างมั่นคงได้ เนื่องจากสนองความต้องการจำเป็นของสองประเทศและของภูมิภาคนี้

แต่ระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวจำต้องผ่านเมียนมา ดังนั้น จึงจะกล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและเขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่าเป็นการปูพื้นฐานเล็กน้อย

เมียนมายึดมั่นในหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เคยมีบทบาทสูงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ มีชาวพม่าได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ โดดเด่นทางเศรษฐกิจไปจนถึงการกีฬา

เมื่อคณะทหารก่อรัฐประหารหลายครั้ง และสร้างระบอบปกครองแบบทหารเน้นความมั่นคงต่อเนื่องระหว่างปี 1962-2011 พม่าถูกโดดเดี่ยวโดย ตะวันตกทั้งทางเศรษฐกิจ การทหารและการทูต คบค้าอยู่กับประเทศจีนเป็นสำคัญ

ภายใต้ระบอบปกครองที่ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร ก่อผลกระทบที่สำคัญคือแรงงานไม่ได้รับการพัฒนา การศึกษา และการวิจัยพัฒนาถูกปล่อยปละละเลย

มีบางช่วงมหาวิทยาลัยถูกสั่งปิดเป็นเวลานาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีจำกัด

เมียนมากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

ความไม่พอใจปรากฏทั่วไปทั้งในหมู่ชนชาติส่วนน้อยและชาวพม่า เกิดสงครามแยกตัวเป็นอิสระของชนชาติส่วนน้อย และการลุกขึ้นสู้ของประชาชนเป็นระยะทั้งจากฝ่ายสงฆ์และฆราวาส

 

ประธานาธิบดีเต็งเส่ง (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2011-2016) เป็นนายพลใหญ่ของคณะทหาร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารในปี 2010 เขาลาออกจากการเป็นทหารรวมกับคณะนายทหารอีกจำนวนหนึ่ง ก่อตั้งพรรคการเมืองและชนะการเลือกตั้ง

เขาได้รับการเลือกตั้งจากรัฐสภาเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี นำการปฏิรูปและเปิดกว้างแบบสายฟ้าแลบ เจรจากับผู้นำต่างๆ ในอาเซียนเพื่อความเข้าใจกัน และเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม

ปี 2011 เอ่ยปากเชิญชาวพม่าที่ออกไปอยู่ต่างแดนกลับมาเพื่อช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า

ปี 2012 มีกฎหมายสนับสนุนการลงทุนที่ยอมรับกฎระเบียบของบริษัท ในปีเดียวกันนี้ สหรัฐเปิดสถานทูตของตนในพม่า

ปี 2013 เต็งเส่งเดินทางไปเยือนสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี

ในปี 2014 พม่าได้เป็นประธานกลุ่มอาเซียน จัดการประชุมสุดยอดที่เมืองเนปิดอว์นครหลวงใหม่ของเมียนมา (เมืองนี้บางแห่งเรียกเนปยีดอว์)

การปฏิรูปครั้งใหญ่ของเต็งเส่งโดยการยินยอมของคณะทหารนี้ น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยคือ

ก) ชนชั้นนำของคณะทหารหมดลูกเล่นในการแสดง แผนการต่างๆ ที่พึงประสงค์ก็ได้นำมาปฏิบัติหมดแล้ว เช่น การสนับสนุนการลงทุนก็เคยทำมาแล้ว ได้ผลเพียงตอนต้น แต่ไม่ยั่งยืน เพราะต่างชาติรังเกียจระบอบเผด็จการทหาร

ดังนั้น เมียนมาก็ยังล้าหลัง ประชาชนยังยากจน ขณะที่เห็นประเทศเพื่อนบ้านแม้แต่ 3 ประเทศอินโดจีนที่ย่อยยับจากสงครามก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และน่าจะได้สำนึกว่าที่คณะของตนรักษาอำนาจการปกครองได้ยาวนาน ไม่ใช่เพราะมีนโยบายที่ถูกต้อง แต่เป็นเพราะโชคช่วยที่ประเทศมีทรัพยากรพลังงานมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ เป็นสินค้าส่งออกหลัก และกำลังร่อยหรอลง

ข) แรงกดดันอย่างหนักทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้ สงครามกับชนชาติส่วนน้อยก็ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและอย่างไร

ค) แรงจูงใจและแบบอย่างการพัฒนาจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่ตนเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1997 และโอกาสการพัฒนาจากการร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียน (เป็นรูปร่างปี 2015) นอกจากนี้ ความสำเร็จในการพัฒนาและเปิดกว้างของจีน ที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและรักษาการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ไว้ได้ ก็น่าจะมีส่วนเป็นแบบอย่างด้วย

การเข้าใจการพัฒนาและการเปิดกว้างของเมียนมาสามารถทำได้โดยการศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศนี้ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นเขตที่มีกฎหมายทางธุรกิจการค้าต่างกับพื้นที่อื่นของประเทศ ตั้งอยู่บริเวณชายแดน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าการผลิตการลงทุนการจ้างงาน (รวมแรงงานต่างด้าว) การสร้างงาน และการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ

เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มักมีสิ่งอำนาจความสะดวกเหล่านี้คือท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือหรือด่านเสรีหรือเก็บภาษีน้อย เขตโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมข่ายการขนส่งและโลจิสติกและโครงสร้างพื้นฐาน อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นต้น ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่นิยมพัฒนาขึ้น ในประเทศไทยมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วใน 10 จังหวัดชายแดนครบทั้งสี่ภาค

ในเมียนมามีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่สามเขตด้วยกัน ซึ่งจะเห็นการแข่งขันระหว่างญี่ปุ่นและตะวันตกกับจีนเพื่อชิงบทบาทในเศรษฐกิจการค้าในเมียนมา กับทั้งได้เห็นบทบาทของประเทศในอาเซียนในการพัฒนาของเมียนมา โดยเฉพาะไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสามได้แก่

1) เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาใกล้นครย่างกุ้ง (ห่างไปเพียง 25 ก.ม.) จัดว่าเป็นทำเลทอง ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาลพม่าพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นฐานการผลิตใหม่รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์กลางขนส่ง มีนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ พื้นที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความคืบหน้าของโครงการยิ่งกว่าพื้นที่อื่น เปิดดำเนินการในปี 2015 บริหารงานโดย “กลุ่มพัฒนาติละวาญี่ปุ่น-เมียนมา” (MJTD)

มีบริษัทเข้ามาดำเนินการในพื้นที่จำนวนมาก กว่าครึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น ที่เหลือจากไทย เกาหลีใต้และไต้หวัน

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นกำลังยกระดับทางรถไฟย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ยาว 620 ก.ม. ลดเวลาเดินทางลงครึ่งหนึ่งเหลือ 7 ชั่วโมง จาก 15 ชั่วโมง ขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้มากขึ้น

นับว่าญี่ปุ่นได้ปักหลักทางเศรษฐกิจการค้าค่อนข้างมั่นในเมียนมา

2) เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีพื้นที่ใหญ่กว่าของติละวา ทางพม่าดูจะมีเจตนาให้พื้นที่นี้เป็นเขตการลงทุนของกลุ่มอาเซียน นำโดยไทย มีบริษัทเอกชนไทยเข้าร่วม แต่มีปัญหาในการดำเนินงานตั้งแต่ระยะแรก รัฐบาลพม่าปรับแผนใหม่นำญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วยในปี 2015 รวมเป็นสามฝ่าย ตามแผนการจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ทวายในเขตตะนาวศรีของพม่า (บริเวณนี้มีชาวไทยอาศัยอยู่ด้วย)

สร้างเส้นทางเชื่อมไทยผ่านจังหวัดกาญจนบุรีสู่กรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่ชายฝั่งทะเลเวียดนาม เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้อยู่ในแผนระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภาคลุ่มน้ำโขง

ดังนั้น จึงค่อยๆ ทำไปจนสำเร็จตามสถานการณ์

อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่า ไทยเคยเป็นประเทศหลักในการค้าการลงทุนในเมียนมาของกลุ่มอาเซียนและของภูมิภาค เมื่อเมียนมาเปิดกว้างขึ้น การแข่งขันสูงมาก มีชาติอื่นเริ่มเข้ามาแทนที่ เช่น สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์การเงินการลงทุนของอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีเวียดนามที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญเป็นการแข่งขันจากจีนที่เข้ามาปักหลักในเมียนมาอย่างรวดเร็ว ประเทศอุตสาหกรรมที่มาลงทุนในเมียนมาอื่นคือ ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

3) เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิว (Kyuakpyu) จากเมืองคุนหมิงนครหลวงมณฑลยูนนานผ่านเมืองมูเซชายแดนพม่า มาเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของพม่าอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ลงสู่เจ้าผิวซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่รัฐยะไข่ของพม่า

เมืองเจ้าผิวนี้มีความสำคัญพิเศษหลายประการสำหรับเมียนมาและจีน ได้แก่

ประการแรก เป็นเมืองท่าที่อินเดียใช้ติดต่อค้าขายกับเมียนมาเป็นเวลานาน

การเข้าถึงเมืองนี้เป็นการเปิดประตูค้ากับอินเดียไปในตัว

ประการต่อมา รัฐยะไข่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ เป็นที่ต้องการสำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งและการผลิตไฟฟ้า

จีนได้วางท่อส่งก๊าซและน้ำมันจากเจ้าผิวไปยังคุนหมิงมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ประการที่สาม ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวช่วยให้จีนมีพื้นที่ลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ประการสุดท้าย ที่รัฐยะไข่นี้มีชาวโรฮิงญาพำนักอาศัยอยู่มาก ประมาณว่าราว 1.1 ล้านคน ชาวโรฮิงญานี้ถือมุสลิม อพยพจากบังกลาเทศมาอยู่ในเมียนมานานแล้ว แต่ทางการเมียนมาถือว่าเป็นผู้ที่อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองแท้ของตน และเรียกชาวโรฮิงญาว่าชาวเบงกาลี

นับแต่ปี 2012 ได้เกิดการขัดแย้งระหว่างชาวพุทธที่เป็นพม่าและโรฮิงญาที่เป็นมุสลิม จนกระทั่งกองทัพเมียนมาใช้กำลังปราบปรามชาวโรฮิงญา โดยเห็นว่ากลุ่มตั้งกองกำลังเพื่อการปลดปล่อย

ทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 1.5 แสนคนต้องอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวให้สงบมั่นคงจึงหมายถึง ต้องแก้ไขความขัดแย้งนี้ลงในระดับหนึ่งด้วย

เพราะตะวันตกได้ถือเอากรณีนี้เป็นเงื่อนไขการลงทุนของตนและการแซงก์ชั่นต่อเมียนมา

โครงการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางโลจิสติกสำหรับจีนและพม่า ตลอดจนทั่วทั้งภูมิภาค เป็นท่าเรือน้ำลึก รองรับเรือขนาดใหญ่ เดินเครื่องสร้างท่าเรือน้ำลึกเดือนพฤศจิกายน 2018 ก่อสร้างโดยบริษัทซิติกกรุ๊ปของจีน

(มีข่าวว่ากลุ่มซีพีของไทยและบริษัทอิโตโซของญี่ปุ่นจะเข้าถือหุ้นในบริษัทซิติกลิมิเต็ดร้อยละ 20 มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท)

อนึ่ง จีนได้ลดขนาดโครงการลงจากหลายพันล้านดอลลาร์ เหลือเพียงกว่าพันล้านดอลลาร์ เพื่อให้รัฐบาลพม่ายอมรับได้

มิฉะนั้น จะกลายเป็นเหมือนให้จีนเช่าที่สร้างทางถนนและทางรถไฟให้จีนขนส่งสินค้า โดยที่เมียนมาไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก ขณะที่ต้องแบกรับหนี้ก้อนใหญ่

เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวจึงสามารถเชื่อมต่อกับบังกลาเทศและอินเดียโดยธรรมชาติ เป็นพื้นฐานในการสร้างระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา

โดยระเบียงเศรษฐกิจนี้ มีเส้นทางเริ่มต้นที่เมืองคุนหมิงประเทศจีน เข้าสู่พม่าผ่านเมืองมัณฑะเลย์ จากนั้นเข้าสู่บังกลาเทศ ผ่านเมืองธากา (เดิมเรียกดักกา) ซึ่งเป็นนครหลวง จากนั้นเข้าสู่อินเดีย สิ้นสุดที่เมืองโกลกาตา (ชื่อเดิมว่า กัลกัตตา) ซึ่งเป็นนครหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก

ระเบียงเศรษฐกิจนี้มีการเคลื่อนไหวคึกคักขึ้น หลังการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายโมดีและสีจิ้นผิง ถ้าสามารถดำเนินการไปได้สะดวกรวดเร็ว การรวมเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นภูมิภาคเดียวกันก็นับได้ว่าสำเร็จโดยพื้นฐาน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการจัดความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและอินเดีย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงอิหร่านและตุรกีกับสงครามการค้าและการแซงก์ชั่น