ธงทอง จันทรางศุ | ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง

ผมเคยบ่นพึมพำในที่นี้มาแล้วว่า ร้านหนังสือที่เราจะสามารถเดินซื้อหนังสือหนังหาได้ตามใจชอบมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ

นักเลงหนังสือต้องตั้งตารอที่จะมีงานสัปดาห์หนังสือปีละสองครั้ง

งานทั้งสองจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในเดือนมีนาคมและเดือนตุลาคมของทุกปี

มาถึงปีนี้ศูนย์ประชุมดังกล่าวก็ปิดซ่อมเสียอีก การจัดงานคราวหน้าต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ว่ากันว่าจะเป็นที่เมืองทองธานี

ยังไม่รู้เลยครับว่าจะเดินทางกันไปอย่างไร

นึกถึงเรื่องขุนช้างขุนแผนที่นางพิมเธอออกปากว่า “วันพรุ่งนี้นี่จะเป็นอย่างไรเล่า จะลำบากยิ่งกว่าเก่าหรือไรนั่น” ขึ้นมาทีเดียว

ระหว่างนี้ผมก็ค้นพบตัวเองว่า ในแต่ละสัปดาห์แต่ละวันผมสามารถซื้อหนังสือได้โดยไม่ต้องไปเดินที่ไหนเลย นั่งอยู่ในบ้านหรือนั่งอยู่ในรถขณะเดินทางก็ซื้อหนังสือได้ และก็ได้ประพฤติตนอย่างนี้มาประมาณปีเศษแล้ว

ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงการซื้อหนังสือ “ออนไลน์” เพียงแค่ผมเปิดหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ขึ้น ยังไม่ทันไรข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือเก่าหรือหนังสือใหม่ก็ปรากฏขึ้นมา

บางเจ้าบอกราคาเสร็จสรรพ บางรายก็ต้องให้ถามราคากันไปแล้วเขาก็ตอบมา

โดยเฉลี่ยแล้วผมตัดสินใจซื้อหนังสือแบบนี้ประมาณสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อหนังสือเล่มไหน ก็ใช้โทรศัพท์มือถืออีกนั่นแหละ โอนเงินไปให้ผู้ขาย โอนเงินแล้วก็ถ่ายภาพบันทึกหน้าจอที่มีรายการโอนเงิน ส่งเป็นข้อความไปให้ผู้ขาย ผ่านช่องทาง Facebook หรือ LINE ก็แล้วแต่ คนขายก็บอกว่าได้รับเงินแล้ว

เมื่อคนขายนำหนังสือเล่มที่ผมต้องการไปส่งทางไปรษณีย์ เขาก็ถ่ายรูปใบฝากส่งของไปรษณีย์มาให้ผมดู เพื่อเป็นหลักฐานว่าส่งหนังสือมาแล้วและอยู่ระหว่างการเดินทาง เผื่อว่ามีปัญหาอะไรจะได้ติดตามกันได้ว่าไปตกหล่นอยู่ที่ไหน อีกสักวันสองวันหนังสือก็มาถึงบ้าน

อ่านยังไม่ทันจบ ก็ซื้อเล่มใหม่อีกแล้ว วนกันไปอย่างนี้ทุกสัปดาห์

เห็นไหมครับว่าโลกออนไลน์นี้คนซื้อคนขายไม่ต้องพบหน้ากันอย่างแต่ก่อน และก็ได้รับความสะดวกสบายอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจเลยทีเดียว

การติดต่อกันทางออนไลน์เช่นว่านี้มีอุปกรณ์สำคัญคือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีโปรแกรมที่เรียกว่าแอพพลิเคชั่นจำนวนมากให้เราเลือกใช้บริการได้

โทรศัพท์มือถือมีความก้าวหน้ามากในช่วงเวลาสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านมา

ก้าวไกลเสียจนผมจินตนาการไม่ออกเลยทีเดียวว่าเราจะไปสุดทางกันที่ไหน

ท่านที่เป็นผู้ใหญ่หน่อยจำได้ไหมครับว่า ในเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองของบ้านเราเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2535 ครั้งนั้นมีการชุมนุมทางการเมืองและมีผู้คนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

เป็นครั้งแรกที่โทรศัพท์มือถือได้มีบทบาทสำคัญในการติดต่อนัดหมาย จนเรียกชื่อการชุมนุมครั้งนั้นเป็นฉายาว่า “ม็อบมือถือ”

วันนั้นยังไม่มีแอพพลิเคชั่นที่ทำให้เราสามารถติดต่อกันได้หลายช่องทางหลายวิธีเท่าทุกวันนี้

แต่การชุมนุมก็มีฤทธิ์มีเดชมากพอควรเลยทีเดียว

ถ้ายุคสมัยนั้นโทรศัพท์ทำได้สารพัดอย่างอย่างโทรศัพท์ทุกวันนี้ บางทีเราอาจเห็นประวัติศาสตร์หน้านั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นก็เป็นได้

การซื้อของออนไลน์ของคนไทยทุกวันนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางและครอบคลุมกิจกรรมหลายชนิดมากกว่าที่เราจะจินตนาการได้ มีอาชีพ สินค้าและบริการเกิดใหม่หลายอย่าง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนยุคปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้หาผู้ช่วยทำงานบ้านยากเย็นเต็มทีแล้ว ผู้ที่อดทนทำงานอยู่หลายคนก็เป็นคนต่างชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ความผูกพันและความอดทนที่จะทำงานต่อเนื่องยาวนานก็ไม่เหมือนคนสมัยก่อน

อาชีพช่วยทำความสะอาดในบ้านหรือตามคอนโดมิเนียมเขาคิดราคากันเป็นรายชั่วโมง เช่น ในอัตราชั่วโมงละ 250 บาท และต้องจ้างขั้นต่ำ 2 ชั่วโมง สามารถจองใช้บริการกันได้ออนไลน์

เมื่อผู้รับจ้างมาถึงบ้านแล้วเขาก็ทำความสะอาดเช็ดกะไดไชรูท่อ ล้างจาน หรือขัดห้องน้ำไปตามข้อตกลง

บริการแบบนี้คุณปู่คุณย่าของผมคงนึกไม่ออกว่าจะมีได้อย่างไร

แต่มาถึงวันนี้บริการแบบนี้ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกที

นี่ผมก็ต้องถ่ายภาพหน้าจอโทรศัพท์ที่มีบริการนี้เก็บไว้เป็นข้อมูล

สักวันหนึ่งเมื่อเข้าตาจนอาจจะต้องใช้บริการของเขาก็เป็นได้

และเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะเข้าตาจนแล้ว

บริการซื้อของออนไลน์อย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากและดูเหมือนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนนับหมื่นนับแสนคนไปแล้ว นั่นคือบริการสั่งซื้ออาหารผ่านระบบแอพพลิเคชั่น

เช่น บริการของ Grab Lineman หรือ Lalamove

ผมได้อ่านข้อเขียนจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันนี้เองที่บอกว่า จำนวนครั้งของการสั่งซื้ออาหารผ่านผู้ให้บริการรายหนึ่งเฉพาะสี่เดือนแรกของปีที่ผ่านมา มีจำนวน 4,000,000 ครั้ง และมากกว่าการสั่งซื้ออาหารตลอดทั้งปีของธุรกิจเจ้าเดียวกันปี 2561 เสียด้วยซ้ำ

แปลว่าธุรกิจกำลังเติบโตอย่างมหัศจรรย์

สองสามวันที่ผ่านมาผมได้คุยกันกับผู้คุ้นเคยคนหนึ่งซึ่งมีธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก เราคุยกันถึงเรื่องการขายอาหารกับคนที่เดินเข้ามานั่งกินนั่งซื้อที่ร้านของเขาโดยตรง เปรียบกับการซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นและมีคนมารับของไปส่งผู้ซื้อตามคำสั่ง

เชื่อไหมครับว่า ยอดรายได้หนึ่งวันสำหรับคนซื้อที่เดินเข้ามาในร้านอยู่ที่ 2,300 บาท ในขณะที่ยอดขายผ่านระบบแอพพลิเคชั่นเพียงแค่แอพพลิเคชั่นเดียวมียอดรวมสูงถึง 23,000 บาทในวันเดียวกัน

จำนวนเงินมากกว่าถึง 10 เท่าตัวเลยทีเดียว

การใช้ชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างยิ่ง

น้องที่คุ้นเคยของผมอีกคนหนึ่งมีรถยนต์เป็นของตนเอง แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ใช้รถยนต์นั้นเป็นพาหนะไปไหนมาไหนเสียแล้ว ยกเว้นแต่มีเหตุจำเป็นเหมาะสมจริงๆ ชีวิตประจำวันของเขาใช้ระบบเรียกรถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น ไม่ต้องห่วงที่จอดรถ ไม่ต้องสมองเครียดกับสภาพการจราจร ระหว่างที่นั่งอยู่ในรถก็ยังทำงานได้ ความสะดวกปลอดภัยก็อยู่ในเกณฑ์ที่วางใจได้สนิท

ผู้ที่มีอาชีพการงานเป็นประจำอยู่แล้วหลายท่าน สมัครใจที่จะหารายได้เสริมโดยการขับรถกับแอพพลิเคชั่นโน้นนี้ในเวลาที่เลิกงานแล้ว

รถที่ให้บริการลูกค้าก็คือรถของตัวเองนั่นแหละ

บริการรถรับจ้างอย่างนี้ทุกคนดูจะมีความสุข

แต่แน่นอนครับว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ เราคงได้ยินข่าวกันมาแล้วว่าคนที่มีความทุกข์กับเรื่องนี้คือพนักงานขับรถแท็กซี่แบบเก่า ซึ่งใช้วิธีขับตระเวนไปตามที่ต่างๆ เพื่อรับลูกค้า และเป็นที่บ่นพึมพำไม่พอใจของลูกค้าอยู่เสมอว่าแท็กซี่เหล่านี้บ่อยครั้งที่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารด้วยสาเหตุต่างๆ

ความไม่พอใจอย่างนี้เลยเถิดไปจนถึงวินมอเตอร์ไซค์ทั้งหลายที่มีคู่แข่งเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างในแอพพลิเคชั่นทั้งหลายด้วย วินใกล้กันกับบ้านผมมีป้ายติดประกาศไว้ชัดเจนทีเดียวว่า ซอยนี้ไม่ต้อนรับ Grab

ดูเหมือนรัฐบาลที่เข้ารับหน้าที่ใหม่ในช่วงนี้กำลังจะต้องตอบคำถามว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร จะรักพี่หรือรักน้องก็ต้องเลือกมาข้างหนึ่ง

ว่ากันไปทำไมมี การพบกับความเปลี่ยนแปลงหรือคลื่นลูกใหม่คือการเข้ามาของแอพพลิเคชั่นต่างๆ และวิถีชีวิตของผู้คนที่แตกต่างไปจากเดิม

การที่คนไม่เดินออกจากบ้านหรือที่ทำงานแล้วซื้อของกินของใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราต้องปรับตัวด้วยกันทุกฝ่าย คนที่เป็นผู้ซื้อนั้นปรับตัวง่ายครับ และดูเหมือนจะปรับตัวสำเร็จแล้วก่อนที่ผู้ขายอีกหลายรายจะทันรู้สึกตัวเสียด้วยซ้ำ เข้าตำราที่ว่า กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว

ผมเคยเรียนวิชาอะไรสักวิชาหนึ่งที่เขาบอกว่า สัตว์โลกที่รู้จักปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง จะสามารถอยู่รอดได้ ไดโนเสาร์ปรับตัวช้าก็สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ส่วนแมลงสาบนั้นปรับตัวเก่งเลยอยู่รอดมาได้จนถึงยุคปัจจุบัน

ขอเอาใจช่วยให้ทุกท่านสามารถปรับตัวได้ทันท่วงทีกับความเปลี่ยนแปลงและเอาชีวิตรอดได้ด้วยความปลอดภัยนะครับ

ผมแก่แล้วไม่ต้องปรับตัวมากก็ได้ แค่ซื้อหนังสือผ่านแอพพลิเคชั่นได้เองก็ถือว่าประสบความสำเร็จอยู่ในขั้นที่น่าพึงพอใจแล้ว ไม่ถึงกับต้องไปเป็นผู้ขายผู้แข่งอะไรกับใครเขาหรอก แบบนั้นมันจะมากเกินไป

ปรบมือให้ผมหน่อยสิครับ รีรออะไรอยู่เล่า