วิรัตน์ แสงทองคำ : ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ไทย ทำอะไรอยู่ตอนนี้?

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มเซ็นทรัล
มีความสำคัญไม่น้อย

ถ้อยแถลงต่อตลาดหุ้นไทย (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ในวันซึ่งผู้คนพุ่งกระแสสนใจทางการเมือง (อภิปรายนโยบายรัฐบาลใหม่) สะท้อนยุทธศาสตร์ใหม่ ธุรกิจใหญ่ไทย ว่าด้วยแผนการปรับตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่

สาระสำคัญมาจากกรณีบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท (26 กรกฎาคม 2562)

“อนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น… เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิกถอนหุ้นของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน… ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Central Retail) ตามหนังสือแจ้งจาก Central Retail ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 53.83 …เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจ…”

เรื่องราวข้างต้นเป็นไปตามกระบวนการนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ Central Retail เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

เอกสารข้างต้นตั้งใจนำเสนอขั้นตอนทางเทคนิค ในกระบวนการนำบริษัทจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

แต่สิ่งที่ผมสนใจเป็นอย่างมาก คือเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อมูลของ Central Retail ความยาวกว่า 60 หน้า

ถือเป็นครั้งแรกเลยทีเดียวก็ว่าได้ กลุ่มเซ็นทรัลนำเสนอข้อมูลกลุ่มธุรกิจซึ่งเป็นแกนกลางและตำนาน

 

แม้ว่าทุกๆ ปี กลุ่มเซ็นทรัลมีการแถลงประจำปี และมีเอกสารบางอย่างที่เคยกล่าวถึงและอ้างไว้ (Central Group Corporate Book 2018) ในข้อมูลทางการ (ผ่าน http://www.centralgroup.com) ก็มีไม่มาก นำเสนอภาพรวม (หัวข้อ “การดำเนินธุรกิจของบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล”) ไว้กว้างๆ ดังนี้

“ยอดขายรวมปี พ.ศ.2560–327,255 ล้านบาท การลงทุนปี 2560–437,053 ล้านบาท เครือข่ายห้างร้านมากกว่า 4,996 แห่ง/สาขา พื้นที่ขายสุทธิประมาณ 4,924,315 ตารางเมตร พนักงานกว่า 94,150 คน ฐานลูกค้า The 1 Card มียอดสมาชิกกว่า 13.5 ล้านคน”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลกลุ่มเซ็นทรัลเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างที่เคยเสนอไว้ปีก่อน แบ่งธุรกิจย่อยๆ ออกเกือบๆ 10 กลุ่ม ปัจจุบัน (อ้างจาก http://www.centralgroup.com เช่นกัน) เหลือ 6 กลุ่ม คงเป็นไปตามที่อ้างไว้ (โปรดพิจารณา “เหตุการณ์สำคัญ”) ที่ว่า “2560 เริ่มการปรับโครงสร้างธุรกิจ” หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และแบรนด์สินค้า (Retail and Brands) เข้าใจว่าเป็น Central Retail ด้วยคำอรรถาธิบายข้อมูลสอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นระบบ ละเอียดและมีความหมายเท่าครั้งนี้

ข้อมูล Central Retail น่าสนใจตั้งแต่นิยามเลยก็ว่าได้

“กลุ่ม Central Retail เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภท ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multiformat and Multi-category) ในประเทศไทย และมีการขยายธุรกิจไปต่างประเทศโดยเป็นผู้นำในประเทศอิตาลีและเป็นหนึ่งในผู้นำในประเทศเวียดนาม ธุรกิจของกลุ่ม Central Retail สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มแฟชั่น ซึ่งมุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (2) กลุ่มฮาร์ดไลน์ มุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าตกแต่งและปรับปรุงบ้าน และ (3) กลุ่มฟู้ด ซึ่งมุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่มักพบได้ทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีแบรนด์ค้าปลีกต่างๆ ซึ่งจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท…” ข้อมูลสำคัญอื่นๆ (“เหตุการณ์สำคัญ” และ “ข้อมูลจำเพาะ”) ได้ให้ภาพกลุ่มเซ็นทรัลชัดเจนมากขึ้น

จากภาพย่อยๆ ที่ว่าธุรกิจค้าปลีกที่มีความสำคัญมากขึ้นๆ ดังที่ผมเคยนำเสนอไว้ “โมเดลธุรกิจค้าสมัยใหม่ (Modern trade) โดยเฉพาะปลีกพัฒนาไปมากช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเมื่อช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการมาของเครือข่ายธุรกิจระดับโลก และเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างไม่สะดุด แม้ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ” (จากเรื่อง “สองทศวรรษสังคมธุรกิจไทย” มติชนสุดสัปดาห์ กรกฎาคม 2561)

จากนั้นมาถึงจุดพลิกผันเริ่มต้นในปี 2556 จากภาพเคลื่อนไหวกิจการในตลาดหุ้น ธุรกิจใหญ่ไทย เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในธุรกิจค้าปลีก

 

เปิดฉากด้วย ซีพี ออลล์ หนึ่งในกิจการเครือซีพี เจ้าของระบบแฟรนไชส์ 7-Eleven เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ (convenience store) จากช่วงทศวรรษแห่งการก้าวกระโดด (2545-2555) ก้าวข้ามไปสู่โมเดลค้าส่งด้วยการซื้อกิจการ Makro แห่งเนเธอร์แลนด์มูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

อีก 3 ปี (2559) ต่อมา เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ธุรกิจการค้าในโมเดลเดิม กำลังปรับตัวให้เข้ากับการค้ายุคสมัย ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซีของเจริญ สิริวัฒนภักดี ก้าวไปอีกขั้น ซื้อเครือข่าย BigC ในประเทศไทย จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส

กลายเป็นกรณีซื้อขายกิจการในธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงสุดที่สุดในระดับภูมิภาค

อันที่จริงในเวลานั้น กลุ่มเซ็นทรัลเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกัน แต่ทิศทางจะแตกต่างไปบ้าง โดยมุ่งขยายกิจการในต่างประเทศ

โดยเฉพาะกรณี “2554 เข้าซื้อกิจการรีนาเชนเต ซึ่งเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าหรูหราในประเทศอิตาลี และเป็นการเข้าสู่ตลาดยุโรปครั้งแรกของ กลุ่ม Central Retail …2558 เข้าร่วมลงทุนในกิจการเหงียนคิม และลานชี มาร์ทในประเทศเวียดนาม …และ 2559 เข้าซื้อกิจการบิ๊กซีในประเทศเวียดนาม” แต่เนื่องด้วยไม่ใช่กิจการในตลาดหุ้น ข้อมูลที่เปิดเผยทั้งหลาย จึงไม่ตื่นเต้นเท่าที่ควร

หากพิจารณาในภาพใหญ่ Central Retail มีรายได้ล่าสุด (อ้างจากข้อมูลจำเพาะ) ระดับ 2 แสนล้านบาท

ถือว่าเป็นธุรกิจใหญ่กว่าธนาคารและธุรกิจสื่อสาร

จากข้อมูลล่าสุด (ปี 2561) รายได้ธนาคารใหญ่ 3 แห่ง แต่ละแห่งยังมีรายได้ไม่ถึง 2 แสนล้านบาท (ธนาคารกรุงเทพ 154,200 ธนาคารไทยพาณิชย์ 168,000 ธนาคารกสิกรไทย 182,000 —ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ)

ซึ่งใกล้เคียงกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (170,000 ล้านบาท)

และทรู คอร์ปอเรชั่น (177,000 ล้านบาท) ภาพนั้นสะท้อนอิทธิพลธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยที่มากขึ้นๆ

ที่น่าสนใจมากกว่านั้น กลุ่มธุรกิจใหญ่ไทยเคลื่อนไหวในกระแสอย่างคึกคักเป็นพิเศษ ไม่ว่ากลุ่มซีพีลงทุนในธุรกิจใหญ่ในธุรกิจรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน กลุ่มทีซีซี และบุญรอดบริวเวอรี่ กำลังอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์กับโรงแรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญ ให้เชื่อมโยงโดยตรงกับตลาดหุ้นไทย

สิ่งที่น่าสนใจอีกตอนหนึ่ง ในข้อมูล Central Retail คือบทวิเคราะห์ซึ่งสนับสนุนแผนการใหญ่นั้น นำเสนออย่างเป็นระบบ ว่าด้วยธุรกิจ อุตสาหกรรม สู่ภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ คงต้องว่ากันต่อไป

 

เหตุการณ์สำคัญ

2490 ก่อตั้งร้านค้าในตึกแถวขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร

2493 เริ่มประกอบกิจการนำเข้าสินค้า โดยการก่อตั้งเซ็นทรัลเทรดดิ้ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น (Central Marketing Group หรือ CMG)

2499 เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาแรกในย่านวังบรูพา

2517 เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าสาขาแฟลกชิปสโตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Central Retail

2533 เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าเซน ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าไลฟ์สไตล์ และก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด

2535 เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการเปิดห้างสรรพสินค้าสาขาแรกในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร และเบิกทางการขยายธุรกิจสู่ต่างจังหวัด

2538 เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน

2539-2548 เปิดให้บริการร้านขายสินค้าเฉพาะทางและเริ่มให้บริการร้านค้าปลีกประเภทอื่นๆ เป็นแห่งแรก ได้แก่ ท็อปส์ (ในปี 2539) เพาเวอร์บาย (ในปี 2540) และซูเปอร์สปอร์ต (ในปี 2540)

2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลใช้ตราครุฑในกิจการ

2553-2556 เปิดให้บริการร้านขายสินค้าเฉพาะทางประเภทร้านเดี่ยว (Standalone) ขนาดใหญ่แห่งแรก ได้แก่ ไทวัสดุ (ในปี 2553) และบ้าน แอนด์ บียอนด์ (ในปี 2556) 2553 เปิดให้บริการโรบินสันไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ แห่งแรกในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่มุ่งเน้นการขยายธุรกิจและเจาะตลาดในต่างจังหวัด

2554 เข้าซื้อกิจการรีนาเชนเต ซึ่งเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าหรูหราในประเทศอิตาลี และเป็นการเข้าสู่ตลาดยุโรปครั้งแรกของกลุ่ม Central Retail

2555 เข้าร่วมลงทุนในกิจการแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทยในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture)

2556 เปิดตัวเว็บสโตร์แรกภายใต้ชื่อ Central.co.th สำหรับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

2558 เข้าร่วมลงทุนในกิจการเหงียนคิม และลานชีมาร์ทในประเทศเวียดนาม

2559 เข้าซื้อกิจการบิ๊กซีในประเทศเวียดนาม

2560 เปิดตัวการให้บริการช่วยเหลือในการเลือกซื้อสินค้าแบบดิจิตอลบนแพลตฟอร์ม Omni-channel เช่น “Rinascente ON DEMAND” และ “Chat & Shop”

2560 เริ่มการปรับโครงสร้างธุรกิจ

2561 เปิดตัวแบรนด์ค้าปลีก GO! สำหรับธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกจากการปรับภาพลักษณ์แบรนด์บิ๊กซีในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการขยายกิจการของกลุ่ม Central Retail

2562 เข้าซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดจากผู้ร่วมลงทุนในกิจการร่วมค้าเหงียนคิม ทำให้กิจการร่วมค้าเหงียนคิมมีสถานะเป็นบริษัทย่อย ที่กลุ่ม Central Retail ถือหุ้นทั้งหมด เข้าร่วมลงทุนในกิจการของ Grab ในประเทศไทย ร้อยละ 26.7