มนัส สัตยารักษ์ : เดินตามสิงคโปร์ ถ้า “ใช่” ก็น่าที่จะลองเดินตามเขาดู

แต่เดิมผมไม่ชอบและไม่ไว้ใจสิงคโปร์นัก อาจจะเพราะฝังใจเชื่อว่าสิงคโปร์ต่อต้านความคิดขุดคอคอดกระของไทย ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์ลดชั้นกลายเป็นเมืองท่าที่ไม่จำเป็น

ขณะเดียวกันพวกเขายังพยายามบ่อนทำลายการท่องเที่ยวของไทยโดยเน้นภาพความไม่เป็นระเบียบวินัยและความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทย

สื่อมวลชนสิงคโปร์ถนัดใส่สีตีไข่ในข่าวและภาพอาชญากรรม อุบัติเหตุและวินาศกรรม ให้ดูรุนแรงน่ากลัวมากขึ้นกว่าความเป็นจริง

แม้กระทั่งว่าจะเชียร์แหล่งท่องเที่ยวของไทย เขาก็จะสรุปด้วยการ “ขาย” ผลประโยชน์ของเขาเป็นเป้าหมายหลัก เป็นต้นว่า ประชาสัมพันธ์สถานที่น่าท่องเที่ยวของไทย แต่ตบท้ายว่า

“บินด้วยสิงคโปร์แอร์ไลน์มาพักที่สิงคโปร์แล้วเดินทางไปเมืองไทย จะสะดวกและปลอดภัยกว่า!”

อาจจะเป็นด้วยเลือด “ชาตินิยม” หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ทำให้ผมมองในแง่ร้ายเสมอมาว่าสิงคโปร์ “ชื้อ” นักการเมืองหรือข้าราชการและสื่อบางฉบับสำหรับภารกิจบ่อนทำลายการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะเลยทีเดียว

 

เมื่อพูดถึงประเทศสิงคโปร์เรานึกถึง “ลี กวน ยิว” ไปพร้อมกัน ด้วยว่าตลอดเวลา 31 ปีที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนประเทศจากเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรมา เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีความมั่งคั่งมั่นคงทางเศรษฐกิจ และประสบความสำเร็จในการวางรากฐานการศึกษาอย่างสูงสุด

นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยิว ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษผู้ทรงอิทธิพลและมีศักยภาพในทางการเมืองสูงสุดและเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ความเข้มแข็งเด็ดขาดทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำสุดของเอเชีย

ในด้านสังคม ลี กวน ยิว ได้จัดวางระเบียบสังคมหลายอย่าง พร้อมกันนั้นยังได้เสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้เป็นคนมีระเบียบวินัย รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง อนุรักษ์ธรรมชาติและเคารพกฎหมาย

เหตุการณ์จุดพลุในสนามฟุตบอลราชมังคลาฯ แบบเย้ยฟ้าท้าดินก่อนสิ้นปี กับการจัดระเบียบของ ลี กวน ยิว ดังความข้างต้นนี่แหละที่ทำให้ผมอยากเห็นไทยเดินตามสิงคโปร์

 

ผมมีโอกาสอยู่ใกล้ ลี กวน ยิว 3-4 วัน ครั้งที่ท่านเดินทางมาประเทศไทย แค่ได้อยู่ใกล้เพราะมีหน้าที่อารักขาเฉพาะการเดินทางเท่านั้น เมื่อคณะลงเรือออกท่องเจ้าพระยา ผมกับตำรวจกลุ่มหนึ่งต้องตามลงไปด้วย ได้เห็นมาดสง่างามตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษศิษย์เก่าเคมบริดจ์ ในขณะที่รัฐมนตรีของไทยบางท่านออกอาการโอ่อ่าจน “เว่อร์” ในบางครั้ง

ไม่แน่ใจว่ากำหนดการที่นอกเหนือจากการเจรจาพูดคุยงานเมืองหนนี้ ฝ่ายผู้มาเยือนหรือฝ่ายเจ้าภาพเป็นคนจัด จำได้ว่ามีที่เกี่ยวกับธรรมชาติและการท่องเที่ยวอยู่ด้วย เมื่อถึงที่พักโรงแรม Royal Clift พัทยาแล้ว วันรุ่งขึ้นมีรายการท่านผู้หญิง กวา ก๊อก ชู แยกไปดูกิจการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา ผมมีหน้าที่จัดรถนำอารักขาไปด้วย

เมื่อ 40 ปีก่อน สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ยังไม่เป็นที่ฮือฮาเช่นปัจจุบัน ผมค่อนข้างเสียดายที่เราไม่มีอะไรอวดเขามากนัก ผมเชื่อว่าสิงคโปร์สนใจมานานแล้ว จะเห็นได้ว่าเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในเรื่องธรรมชาติทั้งที่ไม่มีเนื้อที่ว่างบนเกาะสักเท่าไร สวนสัตว์และสวนพืชพันธุ์สวยงามของเขาแปลกตาและทันสมัยได้รับการยกย่องทั่วโลก

หวนนึกถึงความจำในโอกาสได้อยู่ใกล้ ลี กวน ยิว ก็เพราะเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกับขุนนางข้าราชการไทย และรู้สึกอึดอัดพอสมควร

“ค่านิยม” ที่แตกต่างกันเป็นอย่างตรงข้ามระหว่างสิงคโปร์กับไทยทำให้รู้สึกเหมือนกับเราเข้าไปมีพิธีการจุกจิกกับเขา ในขณะที่เขาต้องการปลดปล่อยตัวเอง…อย่างไรอย่างนั้น

ลี กวน ยิว -ซึ่งปกติเป็นคนโผงผาง พูดจาตรงไปตรงมา- ไม่ได้พูดขณะยังอยู่เมืองไทย แต่พอกลับไปวันรุ่งขึ้นก็ให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า “ประเทศไทยต้อนรับผมเหมือนผมเป็นนักโทษ!”

ถูกใจผม ซึ่งหงุดหงิดรัฐมนตรีมหาดไทย สมัคร สุนทรเวช ผู้รับผิดชอบการต้อนรับครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง (ฮา)

 

ผมเข้าใจสิงคโปร์ดีขึ้นถึงดีมากเมื่อได้ไปดูงานที่สิงคโปร์ ผู้ร่วมคณะดูงานท่านหนึ่งเป็น ดร.ปริญญาเอกจากกระทรวงยุติธรรม ท่านอธิบายให้ผมเข้าใจว่าทำไมสิงคโปร์จึงตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศเศรษฐกิจ และเขาประสบความสำเร็จตามเป้าอย่างสูงสุดมาได้อย่างไร ผมยังจำคำอธิบายได้…

…ลี กวน ยิว ตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเพราะไม่มีทางเลือก สิงคโปร์เป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่และไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ

…การบริหารการปกครองของ ลี กวน ยิว ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพต่อกฎหมาย และต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นอย่างเข้มงวด

ของแถมจากการดูงานที่สิงคโปร์ครั้งนั้นก็คือ เราได้เห็นในภาพยนตร์บันทึกการก่อสร้างและเปิดใช้รถไฟฟ้าใต้ดินความเร็วสูงของสิงคโปร์ ทุกขั้นตอนไม่มีพิธีการ ดูเหมือน ลี กวน ยิว กับเจ้าหน้าที่ไม่มีใครใส่เสื้อนอก อย่างมากก็แค่ผูกเน็กไทเท่านั้น ไม่มีพิธีการอะไรให้เยิ่นเย้อและสิ้นเปลือง

 

กรณีจุดพลุในสนามฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ “ซูซุกิ คัพ” เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2559 ทำให้ผมคิดถึงสิงคโปร์ และ ลี กวน ยิว เพราะพวกจุดพลุมีลักษณะเป็นแก๊งอย่าง “โฮลิแกน” ที่สร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ของการเชียร์กีฬา เป็นพวกที่ไม่แยแสต่อความเสียหายของสังคมและกฎหมาย เช่นเดียวกับพวกปาหินใส่รถ หรือแก๊งวัยรุ่นทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่สาธารณะ และ “เด็กแว้น” ของเรา

เมื่อสิงคโปร์ลงโทษ “โบย” ควบไปกับโทษจำและโทษปรับ ต่อ ไมเคิล ปีเตอร์ เฟย์ หัวหน้าแก๊งวัยรุ่นชาวอเมริกัน เมื่อปี 2537 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลก รัฐบาลสิงคโปร์แถลงว่า

“เรามีมาตรฐานและกติกาของการอยู่ร่วมกันที่สะท้อนให้เห็นได้จากกฎหมายของเราเอง และด้วยกฎหมายที่เข้มงวดกับ การทำร้ายต่อสังคม เช่นนี้แหละ เราจึงรักษาสิงคโปร์ให้อยู่ในระเบียบและปลอดภัยจากอาชญากรรมทั้งปวง”

ลองพิจารณาดูเถอะครับว่า เด็กแว้น พวกพ่นสีตามที่สาธารณะ แก๊งจุดพลุในสนามกีฬา ฯลฯ อันเป็นความผิดประเภทที่ได้ทำแล้วรู้สึกโก้เก๋ เหล่านี้ เป็นการทำร้ายต่อสังคมหรือไม่?

ถ้า “ใช่” ก็น่าที่จะลองเดินตามเขาดู