วงค์ ตาวัน | คืนความปกติให้องค์กรตำรวจ

วงค์ ตาวัน

การเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งในยุครัฐบาลประยุทธ์สมัย 2 ก็คือ การปรับเปลี่ยนผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แตกต่างไปจากยุคประยุทธ์ 1 ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงดูงานตำรวจเอง คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล

เท่ากับว่านายกฯ ดูทั้งกองทัพในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม และดูตำรวจในฐานะนายกฯ ด้วย

ส่วนบิ๊กป้อมนั้น คงมีปัญหาด้านสุขภาพ และคงไม่อยากปวดหัวกับงานตำรวจ เลยย้ายไปดูงานความมั่นคงด้านอื่นแทน

“เมื่อบิ๊กตู่คุมงานด้านตำรวจเอง จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ตำรวจกว่า 2 แสนนายสนใจใคร่รู้กันมาก”

แต่ส่วนใหญ่จะมองว่า ในด้านการบังคับบัญชาคงจะมีความเป็นเอกภาพสูงขึ้น

หมายถึงการเชื่อมต่อระหว่างนายกฯ กับ ผบ.ตร.นั้น น่าจะแนบแน่นไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญทีเดียว

เพราะถ้าหากแวดล้อมผู้กำกับดูแลงานตำรวจ มีผู้สั่งงานด้านตำรวจเข้ามาสอดแทรกมากมาย จะทำให้เกิดสภาพไม่รู้ใครมีอำนาจตัวจริง

“ระหว่างบิ๊กตู่กับหัวหน้าหน่วยงานตำรวจ คือ ผบ.ตร.นั้น น่าจะเป็นท่อต่อตรง ไม่มีรอยรั่วไม่มีรูรั่ว!”

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าจะให้ดีที่สุด ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายรัฐบาลไม่ควรเข้ามาควบคุมงานตำรวจมากเกินไป ควรปล่อยให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุด

“โดยนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่กำกับดูแลเฉพาะเรื่องเฉพาะจุด แล้วควรจะปล่อยให้ ผบ.ตร. เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารหน่วยงาน เป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจตัวจริง เป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจเต็มตัว”

ทั้งนี้ หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของการเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งยกฐานะจากกรมตำรวจขึ้นมาในปี 2541

จะพบว่าเจตนารมณ์ก็คือ การให้พ้นออกจากสังกัดกระทรวง เพื่อเป็นหน่วยราชการอิสระที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา

คล้ายกับหน่วยงานด้านยุติธรรมอื่นๆ เช่น ศาล อัยการ

แต่เอาเข้าจริงๆ เปลี่ยนจาก”กรม”มาเป็น”สำนักงานตำรวจ”ก็ยังคงอยู่ใต้อุ้งมือฝ่ายการเมืองโดยตลอด!?!

จากที่เคยมีฐานะเป็นหน่วยงานระดับ”กรม”อยู่ภายใต้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาในปี 2541 มีการปรับเปลี่ยนฐานะครั้งสำคัญ ยกระดับเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ้นจากอุ้งมือรัฐมนตรี เพื่อให้มีสถานะดูแลตัวเองได้เต็มกำลัง

สมกับเป็นหน่วยงานใหญ่โต มีกำลังพลกว่า 2 แสนนาย มีปืนในมือข้างหนึ่ง และกฎหมายในมืออีกข้างหนึ่ง

โดยหัวหน้าหน่วยงานก็ยกระดับจากอธิบดีกรมตำรวจ หรือ อ.ตร. ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. เพิ่มฐานะ ยกระดับ”ซี” เป็นเทียบเท่าระดับ”ปลัด”ด้วย

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นในยุค พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จึงทำให้ พล.ต.อ.ประชาเป็น อ.ตร.คนสุดท้าย และเป็น ผบ.ตร.คนแรก”

ขณะที่การบังคับบัญชานั้น ก็ให้ขึ้นตรงกับนายกฯ มีความอิสระในตัวเอง

ทั้งนี้ องค์กรที่ทำหน้าที่บริหารงานสำคัญภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. มีนายกฯ เป็นประธานโดยตำแหน่ง

ถัดมาคือคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. องค์กรสำคัญในการบริหารงานบุคคล นั่นคือดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับนายพลทั้งหมด ยกเว้นเก้าอี้เดียวคือ ผบ.ตร. ที่แต่งตั้งโดย ก.ต.ช.

“ความจริงในกฎหมายก็เขียนไว้ว่าทั้งประธาน ก.ต.ช. และประธาน ก.ตร. มีนายกฯ ทำหน้าที่โดยตำแหน่ง”

แต่ในทางปฏิบัติ หลังจากตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นต้นมา นายกฯ จะทำหน้าที่ประธาน ก.ต.ช.เท่านั้น เพราะประชุมน้อยกว่า และประชุมตั้งผู้มาเป็น ผบ.ตร.ตามวาระที่ว่างลงเท่านั้น

ส่วนตำแหน่งประธาน ก.ตร. ซึ่งจะต้องคลุกกับงานในวงการสีกากีมากกว่า ที่ผ่านๆ มานายกฯ มักมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ประธาน ก.ตร.แทน

“เลยกลายเป็นว่า มีฝ่ายการเมืองเข้ามาคุมงานตำรวจ 2 คน ทั้งนายกฯ และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง”

หนักกว่านั้น รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่มาเป็นประธาน ก.ตร. จะเข้ามาควบคุมดูแลงานตำรวจแบบลงรายละเอียด กลายเป็นผู้มีอำนาจในวงการตำรวจตัวจริง

ทำให้เก้าอี้ ผบ.ตร.ขาดความศักดิ์สิทธิ์ลงไป

แถมประธาน ก.ตร.เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายพลทั่วประเทศ ตั้งแต่รอง ผบ.ตร. ลงไปถึงระดับผู้บังคับการ จึงทำให้นักวิ่งในวงการสีกากีแห่กันเข้าหารองนายกฯ ที่เป็นประธาน ก.ตร.จนฝุ่นตลบ

“ภาพของรองนายกฯ ที่คุมตำรวจ จึงค่อนข้างใหญ่โตและมากบารมี!”

รองนายกฯ ที่ดู ก.ตร. จึงเป็นเหมือนคนกุมตำรวจในมือ ที่ชาวบ้านจะรู้จักกันดีมากกว่า

ในวงกว้างแทบไม่รู้เลยว่า นายกฯ ก็เกี่ยวข้องกับตำรวจในฐานะประธาน ก.ต.ช.

ในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ นั่นแหละ ที่ตกเป็นข่าวบ่อยในฐานะประธาน ก.ต.ช. เพราะเกิดปัญหาการประชุมแต่งตั้ง ผบ.ตร.ในช่วงปี 2552 ทำไม่สำเร็จ ล่มหลายหน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ตำแหน่งประธาน ก.ต.ช.จึงมาเป็นที่รู้จักคุ้นหูคุ้นตาในหมู่ชาวบ้านก็หนนั้น เพราะความล้มเหลวนั่นเอง!

ในยุคบิ๊กตู่มานั่งทั้งตำแหน่งประธาน ก.ต.ช. และประธาน ก.ตร. เช่นนี้ อย่างน้อยก็ทำให้ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาควบคุมงานบริหารบุคคลตำรวจลดลงไป เหลือเพียงคนเดียว ก็น่าจะดีส่วนหนึ่ง

อีกทั้งเป็นที่จับตากันว่า ความที่เป็นทั้งนายกฯ ซึ่งงานล้นมืออยู่แล้ว ทำหน้าที่ประธานทีม ครม.เศรษฐกิจด้วย เป็นรัฐมนตรีกลาโหมดูงานทหารด้วย เมื่อมาคุมตำรวจลำพังคนเดียว น่าจะทำให้ไม่เข้ามาดูงานตำรวจอย่างลงลึกมากนัก

“ผลดีประการนี้ก็คือ น่าจะทำให้ ผบ.ตร.ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานเต็มตัวมากขึ้น”

ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะถึงจะเปลี่ยนจากบิ๊กป้อมมาเป็นบิ๊กตู่คุมตำรวจเอง

“ที่ยังไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงคือ เก้าอี้ ผบ.ตร. ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ยังคงเหนียวแน่นในตำแหน่งนี้ได้ต่อไป!”

แถม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 กำลังจะเป็น ผบ.ตร.ครบ 4 ปีในเดือนตุลาคมนี้แล้ว ถือว่าเชี่ยวชำนาญไม่ธรรมดา สั่งสมบารมีได้ไม่น้อย

โอกาสจะอยู่ครบ 5 ปีถึง 30 กันยายน 2563 มีอยู่สูงมาก

“ถ้าได้รับการผ่องถ่ายอำนาจจากบิ๊กตู่มากขึ้น ก็ไม่น่ามีปัญหาติดขัดอะไร ด้วยมีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวบนเก้าอี้ ผบ.ตร.มาจะครบ 4 ปีแล้ว”

จึงเป็นเรื่องดีมากๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ใช้โอกาสนี้ ปล่อยวางให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยราชการด้านอำนวยความยุติธรรม ที่มีอิสระปลอดพ้นจากฝ่ายการเมือง

โดยนายกฯ ทำหน้าที่ดูแลกำกับนโยบาย หรือจะเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายก็เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ

“หากยอมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ระบบสายการบังคับบัญชาในองค์กรกลับคืนมาสู่สภาพปกติ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดูแลชีวิตและความปลอดภัยของชาวบ้านย่อมดีขึ้นไปด้วย!

ผบ.ตร.สั่งการได้เต็มที่ ผบ.ตร.สามารถให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาตามสายงานได้เต็มตัว

รอง ผบ.ตร.ควบคุมสั่งการและให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาลงไปตามลำดับชั้นได้จริง

“ผู้บัญชาการหน่วยต่างๆ ลงไปถึงผู้บังคับการหน่วย กระทั่งหัวหน้าโรงพัก มีอำนาจให้คุณให้โทษได้จริง ก็จะทำให้การบังคับบัญชาตามสายงานเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น”

ไม่ใช่เป็นดังที่เกิดสภาพผิดเพี้ยน ขนาดผู้กำกับหัวหน้าโรงพัก จะสั่งงานระดับสารวัตรให้ไปจับโจรก็แทบไม่ได้ เพราะสารวัตรรู้ดีว่า ผู้กำกับไม่สามารถแต่งตั้งให้สารวัตรได้เลื่อนชั้นตามผลงานได้

“ดังนั้น สารวัตรจึงไปทำงานใกล้ชิดคนที่ใหญ่โตและมีอำนาจจริงในการให้คุณให้โทษ ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนในหน่วยงานตำรวจด้วยซ้ำ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้ามากกว่า”

นี่คือปัญหาที่ทำให้องค์กรตำรวจขาดประสิทธิภาพมายาวนาน

จับตาดูว่าจะมีโอกาสได้กลับสู่ความเป็นปกติได้ในเร็วๆ นี้หรือไม่!!