ศิลปินผู้ถ่ายทอดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ของชีวิตในสังคมเมือง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินอีกคนที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะและวงการสร้างสรรค์รุ่นหลัง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper)

จิตรกรและศิลปินภาพพิมพ์แนวสัจนิยม (Realism) ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะอเมริกัน

ผลงานของเขามักถ่ายทอดภาพชีวิตทั่วๆ ไปของคนอเมริกัน

อย่างภาพปั๊มน้ำมัน, โรงแรม, ร้านค้า หรือทางรถไฟ ที่ดูเผินๆ ก็ปกติธรรมดา

แต่ด้วยการใช้สีสันแสงเงาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มันกลับถ่ายทอดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา แปลกแยก ที่แฝงอยู่ท่ามกลางความปกติธรรมดาของชีวิตในสังคมเมืองได้เป็นอย่างดี

เขาหลงใหลผลงานสถาปัตยกรรมในยุควิกตอเรียน ซึ่งเสื่อมความนิยมไปแล้วในยุคสมัยนั้น

เขาหลงใหลรูปทรง รูปแบบการประดับตกแต่ง แม้กระทั่งวิธีที่แสงเงาสาดกระทบไปยังมัน

เขามักกล่าวว่า สิ่งที่เขาโปรดปรานที่สุด ก็คือการได้วาดรูปแสงอาทิตย์สาดลงบนฝาผนังบ้านและอาคารเหล่านั้น

และสิ่งนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์ในผลงานของเขาตลอดมา

ไม่มีศิลปินคนไหนจับภาพความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของคนในเมืองสมัยใหม่ได้เหมือนฮอปเปอร์

ภาพวาดของผู้คนในเมืองของเขาถ่ายทอดเรื่องราวที่มากกว่าฉากชีวิตในทิวทัศน์เมือง หากแต่เปิดเผยมุมมองอันมืดหม่นแหว่งวิ่นในประสบการณ์ของมนุษย์

ผลงานศิลปะเหมือนจริงของเขาแสดงให้เห็นภาพชีวิตอันซบเซาของผู้คนในระหว่างช่วงสงครามโลก ด้วยการนำเสนอภาพอันนิ่งงัน ไร้การเคลื่อนไหว ไร้ซึ่งสัญญาณของความมีชีวิตและความกระฉับกระเฉง

Office at Night (1940),ภาพจากhttps://bit.ly/2GlUjb

และขับเน้นความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ด้วยการใช้แสงเงาช่วยเพิ่มความอึดอัดคับข้องของพื้นที่

เขาแสดงให้เห็นสภาพจิตใจภายในของตัวละครในภาพวาดของเขา และนำเสนอสภาวะการดำรงอยู่ของคนในเมืองใหญ่อันทันสมัย หรือวิถีชีวิตในชนบท ด้วยภาพที่ดูเหมือนจะเป็นการนำเสนอชีวิตประจำวันอันแสนธรรมดา

หากแต่เพิ่มความแปลกแยกให้ตัวละครและเรื่องราวในภาพ ด้วยการทิ้งเงื่อนงำที่ไร้คำตอบเอาไว้มากมาย

และบังคับให้ผู้ชมต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

องค์ประกอบเช่นนี้ในผลงานของเขานี่เอง ที่ส่งผลกระทบหลักต่อพัฒนาการของศิลปะในยุคโพสต์โมเดิร์น ที่ผู้ชมมีบทบาทอย่างมากในการทำความเข้าใจต่องานศิลปะ

ตัวละครในภาพวาดของฮอปเปอร์ มักจะถูกโดดเดี่ยวและตัดขาดจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง

ไม่ว่าจะเป็นในแบบตรงไปตรงมาอย่างการใช้กระจกหน้าต่าง หรือเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบในเชิงอุปมา ที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดในการมุ่งเน้นนำเสนอความสันโดษของชีวิตสมัยใหม่ ด้วยการใช้ความแข็งกระด้างของรายละเอียด และแสงเงาอันจัดจ้าน ที่สร้างความตึงเครียด

และดึงความสนใจของผู้ชมออกจากเรื่องราวในภาพ ให้สัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของตัวละครเหล่านั้นแทน

ผลงานของฮอปเปอร์เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างการนำเสนอเรื่องราวในชีวิตประจำวันของศิลปินสัจนิยม และการสำรวจอารมณ์ความรู้สึกภายในของมนุษย์ของศิลปินนามธรรม

ผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดของเขาคือ Nighthawks (1942) ภาพวาดสีน้ำมันที่แสดงภาพของร้านอาหารในยามกลางคืน ที่ประกอบไปด้วยลูกค้าสองสามคนที่นั่งอยู่ตรงเคาน์เตอร์ภายใต้แสงนีออนที่สาดส่องอยู่ในร้าน ท่ามกลางความมืดรอบข้างในยามราตรี

เขาวาดภาพนี้หลังจากที่สหรัฐเพิ่งถูกกองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาiNเบอร์ไม่นานนัก

อนึ่ง Nighthawks ในที่นี้ หมายถึง “เหยี่ยวราตรี” หรือคนกลางคืนผู้ไม่ยอมหลับนอน

Nighthawks (1942),ภาพจากhttps://bit.ly/2M9qQ8N

ตัวละครในภาพต่างคนต่างก็จมอยู่กับห้วงความคิดของตัวเอง แปลกแยก ไม่มีทีท่าว่าจะมีปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยกันเลย หรืออาจหมายถึงร้านอาหารตอนกลางคืน ซึ่งมาจากคำว่า Hawker หมายถึงรถเข็นขายอาหารแบบบ้านเรานั่นเอง

Nighthawks สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตคนเมืองอันว่างเปล่าหงอยเหงา ที่ปรากฏอยู่ในสังคมเมืองทุกแห่งหน

และสิ่งนี้เองได้กลายเป็นไอคอนที่คนหยิบยืมมาใช้อย่างแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันภาพนี้ถูกแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก (Art Institute of Chicago)

เอกลักษณ์อีกประการในงานของฮอปเปอร์ คือภาพวาดบ้านและอาคารที่ถูกขับเน้นให้โดดเด่นออกจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ด้วยการใช้แสงเงาจัดจ้านแบบละคร และการใช้มุมมองที่กระตุ้นความรู้สึก ซึ่งส่งแรงบันดาลใจอย่างมากต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์

House by the Railroad (1925) ,ภาพจากhttps://bit.ly/2LHVzdJ

ผลงานของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ ส่งแรงบันดาลใจอันนับไม่ถ้วนให้กับจิตรกร, ช่างภาพ, คนทำหนัง, นักออกแบบฉาก, นักเต้น, นักเขียน และนักดนตรี

จนมีชื่อสไตล์ที่เรียกว่า “Hopperesque” ซึ่งเป็นนิยามที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางของผลงานสร้างสรรค์ที่แสดงถึงอิทธิพลที่ได้รับจากฮอปเปอร์

ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่างมาร์ก รอธโก, จอร์จ ซีกัล (George Segaส), เอ็ด รัสชา (Ed Ruscha)

ไปจนถึงศิลปินกราฟฟิตี้สุดแสบอย่างแบงก์ซี ไปจนถึงศิลปินภาพถ่ายอย่างโรเบิร์ต อดัมส์ (Robert Adam), ไดแอน อาร์บัส (Diane Arbus), แฮร์รี่ คัลลาแฮน (Harry Callahan), วิลเลียม เอกเกิลสตัน (William Eggleston), วอล์กเกอร์ เอเวนส์ (Walker Evans), โรเบิร์ต แฟรงก์ (Robert Frank), ลี ฟรีดแลนเดอร์ (Lee Friedlander), และสตีเฟ่น ชอร์ (Stephen Shore)

และด้วยสไตล์การวาดภาพที่ใช้องค์ประกอบของภาพที่กว้าง แสงเงาจัดจ้านแบบโรงละคร และการวาดภาพที่เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ทำให้ผลงานของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ เป็นที่โปรดปรานและกลายเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากให้กับคนทำหนังหลายคน หลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นออร์สัน เวลส์ (Orson Welles), บิลลี่ ไวล์เดอร์ (Billy Wilder), วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders), เดวิด ลินช์ (David Lynch), แซม เมนเดส (Sam Mendes)

New York Restaurant (1922),ภาพจากhttps://bit.ly/1LsGndq

ภาพวาด House by the Railroad (1925) ของเขา ส่งแรงบันดาลใจให้ฉากบ้านและโรงแรมอันสุดสะพรึงในหนัง Psycho (1960) อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock)

รวมถึงฉากในหนัง Days of Heaven (1978) ของเทอร์เรนซ์ มาลิก (Terrence Malick) อีกด้วย

ผลงานของเขายังส่งแรงบันดาลใจให้วงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็นทอม เวตส์ (Tom Waits) ที่ตั้งชื่ออัลบั้มในปี 1975 ของเขาว่า Nighthawks at the Diner

หรือมาดอนน่า ที่ตั้งชื่อทัวร์คอนเสิร์ตของเธอตามชื่อภาพวาด Girlie Show (1941) ของเขา เป็นอาทิ

ถึงแม้ในช่วงปลายยุค 1940 และ 1950 ผลงานของเขาจะเสื่อมความนิยมจากการเฟื่องฟูของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบนามธรรมอย่าง Abstract Expressionism ในสหรัฐอเมริกา ที่ละทิ้งรูปแบบความเหมือนจริงและเรื่องราวในงานศิลปะลงอย่างสิ้นเชิง และสร้างสรรค์ผลงานขนาดใหญ่ที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในอันเป็นสากลของศิลปินแต่ละคน

Automat (1927),ภาพจากhttps://bit.ly/2Z8N3XY

ทำให้ผลงานศิลปะในรูปแบบเหมือนจริงของเขาไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนและวงการศิลปะ

แต่อย่างไรก็ดี หลังจากการเสียชีวิตของเขาในปี 1967 ผลงานของเขากลับมาได้รับการยกย่องและนำกลับมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกอีกครั้ง

รวมถึงถูกผลิตซ้ำ เลียนแบบ และต่อยอดอีกนับครั้งไม่ถ้วน

จนกลายเป็นแรงบันดาลใจและเชื้อไฟให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ในยุคหลังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูล หนังสือ EDWARD HOPPER สำนักพิมพ์ SKIRA เว็บไซต์ www.edwardhopper.net, https://bit.ly/1LsGndq