คนของโลก : สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 กษัตริย์ผู้เปิดรับความเปลี่ยนแปลง

สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก ผู้ที่ทรงฉลองครบรอบ 20 ปีการครองราชย์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น วางพระองค์เป็นคนทันสมัยและเปิดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

ทว่า ในขณะเดียวกันก็ยังคงอำนาจเบ็ดเสร็จในฐานะกษัตริย์ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือแห่งนี้เอาไว้

กษัตริย์แห่งโมร็อกโก พระชนมพรรษา 55 พรรษา ทรงนำเสนอพระองค์ผ่านภาพถ่ายการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ที่แสดงให้เห็นพระองค์ทรงฉลองพระองค์ในชุดตามประเพณีนิยม

ก่อนจะสลับไปเป็นชุดสูททันสมัยปรากฏพระองค์กับดาราดังในหลายๆ โอกาส

 

สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ประสูติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1963 พระโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซันที่ 2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมาย เคยฝึกงานกับ “ฌากส์ เดอลอร์ส” ที่ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมด้วย ก่อนจะทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1993

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ของสหรัฐ เคยรายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ผู้ทรงเชี่ยวชาญถึง 5 ภาษา ได้แก่ อาราบิก เบอร์เบอร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน นั้น ทรงมีชื่อเสียงในฐานะ “เพลย์บอย” และทรงชื่นชอบการขับรถด้วยความเร็วและท่องไนต์คลับยามค่ำคืน

สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ขึ้นครองราชย์หลังจากพระบิดาเสด็จสวรรคตในปี 1999 ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้เพียง 35 พรรษา

 

โมร็อกโกภายใต้การปกครองของพระองค์ เรียกได้ว่ามี “เสถียรภาพ” มาก แม้ว่าในภูมิภาคจะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ผลจาก “อาหรับสปริงส์” ที่ขยายวงกว้าง ผลงานที่พระองค์ทรงใช้โปรโมตเพื่อดึงดูดพันธมิตรทางการเมือง นักลงทุน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ยังคงทรงดำเนินนโยบายเข้มงวดในเรื่องของ “ความมั่นคง” เช่นเดียวกับพระบิดา โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ระเบิดในเมืองคาซาบลังก้า ในปี 2003 และเมืองมาร์ราเกช ในปี 2011

สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงตัดไฟจากกระแสการโค่นล้มรัฐบาลในภูมิภาคด้วยการ “ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ” พร้อมทั้งเสนอที่จะลดอำนาจของพระองค์ลง

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการลงประชามติในเดือนกรกฎาคม ปี 2011 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี และรัฐสภามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์ยังคงอำนาจส่วนใหญ่ในประเทศเอาไว้ในฐานะประมุข, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ตำแหน่งบริหารด้านศาสนาอิสลามในประเทศ รวมไปถึงทรงควบคุมภาคส่วนสำคัญๆ ของเศรษฐกิจประเทศเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ผลงานโดดเด่นของพระองค์คือการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดยักษ์ รวมไปถึงท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นอกจากนี้ พระองค์สามารถที่จะผ่าน “ร่างกฎหมายครอบครัวฉบับใหม่” ที่สนับสนุน “สิทธิของผู้หญิง” ให้มีมากขึ้นแม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษนิยมอิสลามในประเทศ รวมไปถึงเสียงค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงที่มองว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่ให้สิทธิผู้หญิงมากพอ

พระองค์ทรงเปิดกว้างในการนับถือศาสนาในโมร็อกโก ให้เสรีภาพในการทำพิธีกรรมทางศาสนาของชาวยิว รวมไปถึงชาวคริสต์นั้น ส่งผลให้ ทรงถูกเรียกในหมู่ชาติมุสลิมในแอฟริกาตะวันตกว่า “ผู้บัญชาการแห่งความศรัทธา”

 

กษัตริย์แห่งโมร็อกโก นอกจากจะทรงสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศแล้ว ยังทรงมองเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยการนำโมร็อกโกกลับเข้าร่วมกลุ่ม “สหภาพแอฟริกา” ในปี 2017 เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งโมร็อกโก ทรงเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสบ่อยครั้ง เนื่องจากราชวงศ์โมร็อกโกมีบ้านอยู่ที่นั่น รวมถึงทรงเดินทางไปรับการผ่าตัดโรคหัวใจเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งการห่างหายจากหน้าสื่อส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ รวมถึงการเลือกข้างทางการเมืองของพระองค์

สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงแหวกม่านประเพณี ด้วยการแต่งงานกับสามัญชน “ลัลลา ซัลมา” ในปี 2002 ทั้งคู่มีพระโอรส และพระธิดา ร่วมกันคือ มกุฎราชกุมารมูเลย์ เอล ฮัสซัน วัย 16 ปี และเจ้าหญิงลัลลา คาดิจา วัย 12 ปี

อย่างไรก็ตาม การหายหน้าไปจากหน้าสื่อของเจ้าหญิงซัลมา ก็ก่อให้เกิดระแสข่าวลือการหย่าร้างของทั้งสองพระองค์ขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา